วันนี้ (12 กรกฎาคม) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2564 เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคโควิดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นการระบาดที่เกิดจากไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) และมีแนวโน้มแพร่เชื้อไปต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีสถานประกอบการ โรงงาน ตลาดค้าส่ง
หากไม่มีมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่เข้มงวด มีประสิทธิภาพ คาดการณ์ว่าอาจพบผู้ติดเชื้อสูงถึง 10,000 รายต่อวัน หรือสะสมมากกว่า 100,000 รายใน 2 สัปดาห์ ส่งผลทำให้มีการเสียชีวิตเกิน 100 รายต่อวัน จำเป็นต้องใช้มาตรการยาแรง จะดำเนินการพร้อมกันในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เช่น ห้ามการรวมกลุ่มคนมากกว่า 5 คน, จำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด, ลดจำนวนขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัดระยะไกล, ปิดสถานที่เสี่ยง, ให้พนักงาน Work from Home ให้มากที่สุด เพื่อลดโอกาสสัมผัสโรค, ลดการเคลื่อนย้าย และลดกิจกรรมของบุคคลให้มากที่สุด
รวมถึงปรับแผนการฉีดวัคซีน ระดมฉีดกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคทั่วประเทศ ตั้งเป้าฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปในพื้นที่ระบาดรุนแรง เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ได้ 1 ล้านคนภายใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันมากกว่า 80%
อนุทินกล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบ 4 ประเด็นต่อการควบคุมโรคโควิด ดังนี้
- การฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster Dose) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า โดยห่างจากเข็ม 2 นาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันให้สูงและเร็วที่สุด เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า และธำรงระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบแล้วนานมากกว่า 3 เดือน จึงควรได้รับการกระตุ้นในเดือนกรกฎาคมได้ทันที อาจเป็นวัคซีน AstraZeneca หรือ Pfizer
- การให้ฉีดวัคซีนโควิดสลับ 2 ชนิด เข็ม 1 เป็นวัคซีน Sinovac และเข็ม 2 เป็น AstraZeneca โดยห่างจากเข็มแรกนาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ซึ่งจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสให้อยู่ในระดับที่สูงได้เร็วมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผู้รับวัคซีน
- แนวทางการใช้ Antigen Test Kit ในการตรวจหาเชื้อโควิด เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด โดยใช้ Antigen Test Kit ที่ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ปัจจุบันขึ้นทะเบียนแล้ว 24 ยี่ห้อ โดยอนุญาตให้ตรวจในสถานพยาบาลและหน่วยตรวจที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการตรวจ RT-PCR ที่มีมากกว่า 300 แห่ง ช่วยลดระยะเวลารอคอย และในระยะต่อไปจะอนุญาตให้ประชาชนตรวจเองได้ที่บ้าน โดยจะมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำกับการดำเนินงานตามแนวทางปฏิบัติ
- แนวทางการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักในชุมชน (Community Isolation)
สำหรับผู้ป่วยโควิดที่มีเงื่อนไขเหมาะสมหรือไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ รวมทั้งการแยกกักในชุมชนในกรณีการติดเชื้อโควิดในชุมชนเป็นจำนวนมาก โดยมีกระบวนการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจากสถานพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิด เพื่อความปลอดภัยและเป็นมาตรฐานในการดูแลรักษา เช่น มีเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ เครื่อง Oximeter วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด และยารักษาโรค โดยมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครนำเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป