×

สธ. จัดทำสื่อความรู้เข้าถึงคนพิการทุกประเภท พร้อมเปิดสายด่วน 1668 ปรึกษาปัญหาโควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
16.04.2020
  • LOADING...

วันนี้ (16 เมษายน) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยคนพิการในสถานการณ์โควิด-19 ที่มีจำนวน 2.02 ล้านคน เป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ ด้านสายตาและด้านการได้ยิน จะมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารความรู้ที่เกี่ยวกับโรค ตลอดจนการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับการป้องกันและการรักษา คนพิการติดเตียง คนพิการเด็กหรือสูงอายุ มีอุปสรรคในการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้ป้องกันโรคยากกว่าคนอื่นๆ ในสังคม     

 

ทางกรมการแพทย์จึงได้ร่วมกับวิทยาลัยราชสุดา จัดทำและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลการดูแล ป้องกัน รักษาโควิด-19 ให้เข้าถึงคนพิการทุกประเภทและผู้ดูแล เช่น จัดทำตัวอักษรวิ่ง, ภาษามือสำหรับคนพิการทางการได้ยิน จัดทำสื่ออักษรและเสียงสำหรับคนพิการทางการมองเห็น พร้อมเปิดช่องทางให้คำปรึกษาการดูแลคนพิการทางหมายเลขโทรศัพท์ 0 2591 4242 ต่อ 6734 6728-9 หรือสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 

 

อีกทั้งยังมีเครือข่าย อสม. และเจ้าหน้าที่บุคลากรสาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพออกเยี่ยมบ้าน ซึ่งจะส่งต่อข้อมูลมายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้พิการที่ได้รับผลกระทบ และสามารถขอความช่วยเหลือร้องทุกข์ได้ที่สายด่วนศูนย์ประชาบดี โทร. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง 

 

นอกจากนี้ได้ติดตามเฝ้าระวังและสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติตัว โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ คนพิการสูงอายุ คนพิการสภาพติดเตียง เด็กพิการ และคนพิการที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น ที่อาจมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่นหากติดเชื้อโควิด-19 ขอแนะนำให้คนพิการและผู้ดูแลล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ให้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะและก่อนรับประทานอาหาร เลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้า สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนหนาแน่น รักษาสุขภาพด้วยการกินร้อน ใช้ช้อนส่วนตัว ล้างมือ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และดูแลรับผิดชอบต่อสังคม ในกรณีที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง ต้องแยกและสังเกตอาการไม่น้อยกว่า 14 วัน

 

อย่างไรก็ตาม นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานพยาบาล แม้ขณะนี้ยังไม่พบรายงานคนพิการติดเชื้อโควิด-19 สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟู ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติในสถานพยาบาลทั่วประเทศ ได้แก่ การคัดกรองประเมินความเสี่ยงก่อนเข้ารับบริการ พิจารณาเลื่อนบริการและปรับรูปแบบบริการในกลุ่มมีความเสี่ยงสูง ปรับเพิ่มระบบบริการสำหรับคนพิการโดยจัดบริการการดูแลฟื้นฟูตามประเภทและระดับความพิการ ได้แก่ ให้บริการเลื่อนนัดทางโทรศัพท์ การให้คำแนะนำ/บริการทางการแพทย์ผ่านระบบทางไกล (Telemedicine) การจัดส่งยาทางไปรษณีย์ รวมทั้งจัดบริการช่องทางลงทะเบียนที่สะดวกสำหรับคนพิการ เพื่อรับเงินบรรเทาความเดือดร้อนจากรัฐบาลและมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X