วันนี้ (13 เมษายน) นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยความคืบหน้าการบริหารจัดการเตียงรองรับการรักษาโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลว่ารัฐบาลได้ทุ่มสรรพกำลังในการต่อสู้กับโควิด-19 ด้านการรักษาพยาบาล ทำให้วันนี้เริ่มเห็นตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งความร่วมมือของทุกภาคส่วนในภารกิจด้านการรักษาและดูแลผู้ป่วย การวางแผนบริหารจัดการโรงพยาบาลและ Hospitel ทำให้ผู้ป่วยรักษาหายแล้วถึง 1,288 ราย คิดเป็น 50% สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จร่วมกันในการเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ในครั้งนี้
โดยข้อมูล ณ วันที่ 13 เมษายน 2563 ได้บูรณาการความร่วมมือจัดสรรเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ขณะนี้มีเตียงรองรับผู้ป่วยรวม 2,701 เตียง ดังนี้
- เตียงในหอผู้ป่วย จำนวน 1,978 เตียง อยู่ในภาครัฐ 930 เตียง (โรงเรียนแพทย์ เหล่าทัพ ตำรวจ กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข) และภาคเอกชนอีก 1,048 เตียง
- เตียงรองรับผู้ป่วยวิกฤต (ไอซียู) จำนวน 120 เตียง เป็นของรัฐ 65 เตียง เอกชน 55 เตียง
ทั้งนี้คาดว่าปลายเดือนเมษายนจะขยายเพิ่มเป็น 187 เตียง และ 292 เตียงในเดือนพฤษภาคม
- Hospitel จำนวน 603 เตียง รองรับผู้ป่วยรอจำหน่ายที่มีอาการดีขึ้น เป็นโรงแรม 2 แห่ง และหอพักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 แห่ง
สำหรับเครื่องช่วยหายใจ ได้จัดเตรียมชนิดขีดความสามารถสูงสุดที่ประมวลผลการเปลี่ยนแปลงผู้ป่วยวิกฤตได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ สนับสนุนการทำงานของแพทย์เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ปอดติดเชื้ออย่างรุนแรง มีเพียงพออย่างน้อย 2 เท่าของเตียงไอซียูที่กำลังจัดเตรียมไว้ 400 เตียงทั่วประเทศ และมีแผนจัดหาเครื่องช่วยหายใจเพิ่มเติมอีกประมาณ 100 เครื่อง มั่นใจว่ามีทั้งเตียงและเครื่องช่วยหายใจรองรับเพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ต่อสถานการณ์ขณะนี้
ทั้งนี้ประเทศไทยมีเตียงไอซียูรวมทั้งหมดประมาณ 6,000 เตียง และมีเครื่องช่วยหายใจที่สามารถใช้ในห้องไอซียูประมาณ 10,000 เครื่อง แบ่งเป็นชนิดมีศักยภาพสูงสุด ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของแพทย์ ใช้งานในระดับวิกฤตสูงสุด 4,000 เครื่อง และกลุ่มขีดความสามารถสูง มีความซับซ้อนขึ้น มีระบบการวัดผลมากขึ้น แสดงผลใช้งานหลากหลายอีกประมาณ 6,000 เครื่อง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) และรัฐบาลสหรัฐอเมริกายินยอมให้เปิดเผยข้อมูลของเครื่องช่วยหายใจรุ่น PB560 ของบริษัท Puritan Bennett – Covidien (ขีดความสามารถระหว่างกลุ่มที่ 2 และ 3 ใช้ในไอซียูได้) โดยให้ถอดแบบและนำไปผลิตโดยไม่มีค่าลิขสิทธิ์ ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังร่วมมือกันทำงานชิ้นสำคัญชิ้นนี้อยู่ คาดว่าในอีก 1 ปีข้างหน้าจะสามารถใช้งานได้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์