×

สธ. จัด ‘เปิดประเทศปลอดภัย เศรษฐกิจไทยไปรอด’ เผยมีระบบเฝ้าระวังเข้มข้น ลดกักตัวเหลือ 10 วันอยู่ระหว่างพิจารณา

13.11.2020
  • LOADING...
สธ. จัด ‘เปิดประเทศปลอดภัย เศรษฐกิจไทยไปรอด’ เผยมีระบบเฝ้าระวังเข้มข้น ลดกักตัวเหลือ 10 วันอยู่ระหว่างพิจารณา

​วันนี้ (13 พฤศจิกายน) ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน Smart Living with COVID-19 เปิดประเทศปลอดภัย เศรษฐกิจไทยไปรอด โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนทุกแขนงรวม 70-80 คน เพื่อทำความเข้าใจเชิงลึกถึงนโยบายการเปิดประเทศอย่างไรให้คนไทยปลอดภัยและเศรษฐกิจไทยไปรอด

 

อนุทินกล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นในการล็อกดาวน์ ทำให้ส่งผลกระทบกับชีวิตประชนอย่างมาก ขณะนี้ประเทศไทยสามารถควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี รู้จักกับโรคนี้มากขึ้น รัฐบาลมีนโยบายให้คลายล็อกเปิดประเทศบนพื้นฐานความปลอดภัยของประชาชน กระทรวงสาธารณสุขจึงนำประสบการณ์และองค์ความรู้มาปรับเป็นมาตรการควบคุมโรคเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการทยอยเปิดประเทศ ทั้งด่านเฝ้าระวังคัดกรองและควบคุมโรค ทีมสอบสวนโรคนับพันทีมที่พร้อมลุยงานเร่งด่วน มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 1 ล้านคนในการเฝ้าระวัง สถานกักกันโรคทุกประเภทมีห้องรองรับมากกว่า 8 พันห้อง มีห้องปฏิบัติการในการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 จัดเตรียมยาฟาวิพิราเวียร์กว่า 500,000 เม็ด ห้องแยกโรคและเตียงเพื่อรองรับการรักษา รวมถึงมีความร่วมมือจากประชาชน

 

“เหล่านี้เป็นภาพรวมความพร้อมในวันที่ประเทศไทยจะต้องเดินหน้าสู้กลับโรคโควิด-19 ภายใต้แนวคิด Smart Living with COVID-19 คนไทยปลอดภัย เศรษฐกิจไทยไปรอด ขอยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขมีประสบการณ์ ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ ความพร้อม และมีแผนการในการรองรับการเปิดประเทศ ที่จะทยอยคลายล็อกหลังจากนี้” อนุทิน กล่าว

 

อนุทินเผยถึงการที่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจะลดวันการกักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) จาก 14 วันให้เหลือ 10 วัน ว่าแนวคิดนี้ เบื้องต้นที่ประชุม ศบค. ชุดเล็กเห็นชอบในหลักการ และอยู่ระหว่างการทำรายละเอียดเพื่อเสนอแนวทางปฏิบัติต่อที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ให้พิจารณาในสัปดาห์หน้า ส่วนตัวมั่นใจว่าการลดให้เหลือ 10 วันอยู่ในวิสัยที่สามารถควบคุมโรคได้และจะไม่แพร่เชื้อ แต่การตัดสินใจทั้งหมดจะต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของภาพรวม เพราะกระทรวงสาธารณสุขไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะพิจารณาเพียงฝ่ายเดียว แต่จะต้องนำทุกหน่วยงานเข้ามาบูรณาการทำงานร่วมกัน และต้องเคารพการพิจารณาของ ศบค. ชุดใหญ่ และนายกรัฐมนตรี ต้องเคารพการตัดสินใจของทุกๆ ฝ่าย เพราะทุกคนมีความกังวลไม่เท่ากัน 

 

อนุทินยังย้ำด้วยว่า เราต้องหาจุดลงตัวระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ ถ้าหากมีการผ่อนคลายหรือลดจำนวนวัน สิ่งสำคัญคือการดูแลรักษาตัวเองอย่างเคร่งครัด ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อไม่ให้เชื้อโควิด-19 สามารถแพร่กระจายต่อไปยังผู้อื่นได้ และลดโอกาสการเกิดซูเปอร์สเปรดเดอร์ (Super Spreader) ทั้งนี้ส่วนตัวมีความห่วงใยกับผู้ที่ไปร่วมการชุมนุมทางการเมืองตามสถานที่ต่างๆ อยากจะขอความร่วมมือให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัย แม้จะไม่สามารถเว้นระยะห่างกันได้ และขอให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขก็จะนำเจลไปแจกทุกครั้ง

 

​ด้าน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า โรคโควิด-19 นี้ยังไม่มีจุดสิ้นสุด ประเทศไทยจำเป็นต้องมองหาแนวทางการอยู่ร่วมกับโรคนี้ ซึ่งการเปิดประเทศเป็นทางเลือกทางรอดหนึ่ง แต่ต้องเปิดประเทศแบบคนไทยปลอดภัย เศรษฐกิจไทยไปรอด จึงต้องเตรียมความพร้อมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสื่อมวลชนและอินฟลูเอนเซอร์ ที่จะนำองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์และมาตรการความพร้อมในการเปิดประเทศไปเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างถูกต้องต่อไป จึงเป็นที่มาของการจัดงานในวันนี้

 

ส่วน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบในการเฝ้าระวังควบคุมโรค หากพบการติดเชื้อจะต้องรายงานภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการสอบสวนโรคอย่างรวดเร็ว โดยดำเนินการผ่าน 3P for Safety คือ 1. Port Safety ด่านควบคุมโรคปลอดภัย มีระบบเฝ้าระวังคัดกรองและควบคุมโรค 2. Policy for National Quarantine Safety จัดทำนโยบายควบคุมโรคระดับชาติ มีระบบกักกันโรคและสถานกักกันโรคที่ได้มาตรฐาน และ 3. Public Health Emergency Operation Center (PHEOC) Safety มีศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินที่เป็นระบบ ทั้งการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคเชิงรุก การจัดทีมสอบสวนโรคและรายงานภายใน 3 ชั่วโมงกว่า 3,000 ทีมทั่วประเทศ และมีระบบสื่อสารความเสี่ยงตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังมีการเฝ้าระวังและตรวจทางห้องปฏิบัติการในกลุ่มที่มีอาการเข้าเกณฑ์ ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ และอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ผู้ต้องขังแรกรับ แรงงานต่างด้าว ฯลฯ

 

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอการลดวันกักตัวผู้เดินทางจากประเทศที่มีความเสี่ยงโรคโควิด-19 ต่ำหรือใกล้เคียงกับประเทศไทย จาก 14 วันเหลือ 10 วัน อยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยของประชาชน เนื่องจากมีข้อมูลประกอบการพิจารณาคือ ผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดตรวจพบเชื้อภายใน 10 วัน การพบเชื้อหลัง 10 วันส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ มีโอกาสแพร่เชื้อต่ำ เช่น กรณีดีเจร้านอาหารหรือหญิงชาวฝรั่งเศส ซึ่งไม่พบผู้สัมผัสติดเชื้อเพิ่ม ขณะที่ข้อมูลล่าสุดพบว่า ระยะการกักตัว 10 วันและ 14 วันมีความเสี่ยงไม่ต่างกัน และเมื่อออกจากที่กักกันโรคจะใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ได้แก่ การสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล การจัดระบบระบายอากาศ และมีระบบติดตามตัวทุกคน เพื่อรายงานอาการป่วย

 

ขณะที่ ​นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล ขณะนี้มีเตียงกว่า 20,000 เตียงทั่วประเทศ การรับผู้ป่วยจะพิจารณาจากคนไข้ที่มีอาการหนักที่อยู่ในห้องไอซียู ทั้งนี้จากการระบาดรอบแรกคนไข้นอนไอซียูเฉลี่ยประมาณ 17 วัน ดังนั้นการเตรียมพร้อมครั้งนี้ในกรุงเทพมหานครสามารถรองรับได้ 230-400 คน ทั่วประเทศรองรับได้ 1,000-1,740 คน ขณะที่ยาและเวชภัณฑ์นั้น จากข้อมูลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 มียาฟาวิพิราเวียร์ 628,304 เม็ด สำหรับผู้ป่วย 8,900 ราย ยาเรมเดซิเวียร์ 795 ขวด สำหรับผู้ป่วย 126 ราย หน้ากาก N95 คงเหลือ 2,782,082 ชิ้น ชุด PPE คงเหลือ 1,959,980 ชิ้น มี 40 โรงงานกำลังการผลิต 6 หมื่นชุดต่อวัน และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ คงเหลือ 50,922,050 ชิ้น มี 60 โรงงาน กำลังการผลิต 4,700,000 ชิ้นต่อวัน ทั้งนี้กรมการแพทย์ได้มีการเตรียมการแพทย์วิถีใหม่ เพื่อพร้อมให้บริการทางการแพทย์กับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ได้แม้จะมีโควิด-19 ระบาดใหม่ก็ตาม

 

ด้าน นพ.​ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีศักยภาพตรวจเชื้อเฉพาะกรุงเทพมหานครได้ถึงวันละ 10,000 ตัวอย่าง ต่างจังหวัดตรวจได้วันละ 10,000 ตัวอย่าง ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการที่ตรวจได้ 238 แห่งทั่วประเทศ ที่ผ่านมามีการสุ่มตรวจเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนประมาณ 100,000 ราย พบผลบวก 1 ราย ถือว่ามีศักยภาพเพียงพอหากมีผู้สงสัยติดเชื้อและต้องตรวจเชื้อเพื่อยืนยันผล

 

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมเปิดประเทศ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้เตรียมพร้อมสถานกักกันโรคที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine: ASQ) ที่ต้องผ่านมาตรฐาน 6 ด้าน ปัจจุบันมี 107 แห่ง มีผู้กักตัวสะสม 35,362 คน อยู่ระหว่างการกักตัว 6,201 คน กลับบ้านแล้ว 29,161 คน สร้างรายได้ให้ประเทศประมาณ 1,200 ล้านบาท 2. สถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine: AHQ) รองรับผู้ป่วยโรคอื่นที่เดินทางเข้ามารับการรักษา ปัจจุบันมี 173 แห่ง มีผู้ป่วยและผู้ติดตามเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลแล้วจำนวน 2,367 ราย รักษาเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 1,072 ราย กำลังรักษาอยู่ จำนวน 1,295 ราย สร้างรายได้เข้าประเทศแล้ว จำนวน 1,272,827,982 บาท และ 3. อสม. ในการดำเนินการตำบลวิถีใหม่ โดยสำรวจสุขภาพใจและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวแก่ประชาชนให้มีสุขอนามัย มีวินัย และความร่วมมือในการใส่หน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างในชุมชน

 

​ส่วน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะทยอยเปิดประเทศ แต่ประชาชนยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ซึ่งกรมอนามัยได้ดำเนินการใน 2 มาตรการหลักคือ 

 

  1. ยกระดับมาตรฐานของสถานประกอบการทั้ง 10 สถานที่ มุ่งเน้นมาตรการ 3 ระดับคือ ระดับสถานที่ ระดับบุคคล และระดับชุมชน 

 

  1. มีการสื่อสารสร้างความรอบรู้และความตระหนักใน 5 ประเด็นหลัก เพื่อสร้างเกราะป้องกัน 5 ด่านคือ ล้างมือ สวมหน้ากาก โดยตั้งเป้าหมายให้ทั่วประเทศสวมหน้ากากอนามัยได้ร้อยละ 80 รักษาระยะห่าง 1-2 เมตร ทำความสะอาดพื้นผิว และจัดระบบระบายอากาศภายในอาคาร 

 

นอกจากนี้ยังเน้นย้ำให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะก่อนเข้ารับบริการในสถานที่ต่างๆ และขอให้สถานประกอบการ  ผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของแต่ละสถานที่อย่างเคร่งครัด

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X