วันนี้ (17 กุมภาพันธ์) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะ แถลงความคืบหน้าสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่าวันนี้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ 3 ฝ่ายได้รายงานยืนยันว่าพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 1 ราย เป็นนักท่องเที่ยวจีน เพศหญิง อายุ 68 ปี ซึ่งเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดของผู้ป่วยยืนยันรายที่ 22 และอยู่ระหว่างการติดตามเฝ้าระวังมาตั้งแต่แรกอย่างต่อเนื่อง เมื่อพบว่ามีไข้หรือไอจึงรับเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษา (เป็นผู้ป่วยรายที่ 4 ในครอบครัวเดียวกัน) นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 35 ของประเทศไทย
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายการเฝ้าระวังเพื่อให้สามารถค้นพบผู้ป่วยได้มากขึ้นใน 3 กลุ่ม ดังนี้
1. ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้ และผู้ป่วยที่เป็นผู้ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวที่มาจากพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19
2. เพิ่มการคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและในโรงพยาบาล หากเป็นผู้เดินทางจากประเทศจีน ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และประเทศที่มีรายงานการระบาด รวมถึงระบาดในชุมชน
3. ในส่วนของโรงพยาบาล ให้เพิ่มการเฝ้าระวังเป็นพิเศษกรณีที่ผู้ป่วยมีประวัติเดินทางกลับมาจากประเทศที่มีรายงานพบการแพร่เชื้อในชุมชนภายในประเทศนั้นๆ (Local Transmission)
เช้าวันนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ใช้เครื่องบินส่วนตัวบินไปที่อำเภอแม่สอด แต่เนื่องจากทัศนวิสัยไม่ดีจึงได้บินกลับ และได้วิดีโอคอลกับทีมงานของกระทรวงสาธารณสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และทีมของจังหวัดตาก ทำความเข้าใจมาตรการการป้องกันการควบคุมโรคที่แม่สอดเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนทุกหน่วยงานในการร่วมมือมาตรการป้องกันควบคุมโรค
สำหรับกรณีเรือสำราญเวสเตอร์ดัมเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง กระทรวงสาธารณสุขจึงมีมาตรการ 2 ส่วน
1. กรณีคนไทยกลับบ้าน มีการดูแลติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่องจนครบ 14 วันตามมาตรฐานป้องกันควบคุมโรค หากจะเดินทางต่อจะมีการคัดกรองก่อนขึ้นเครื่อง หากมีไข้จะไม่อนุญาตให้ขึ้นเครื่องและส่งเข้ารักษาตามระบบ
2. คนต่างชาติจะไม่อนุญาตให้เข้าประเทศทั้งการต่อเครื่องและเปลี่ยนเครื่อง โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประสานงานกับสายการบิน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หากจำเป็นจะเดินทางเข้าประเทศไทยต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคของไทยอย่างเคร่งครัด เช่น สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ พร้อมแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ ตรวจคัดกรองก่อนขึ้นเครื่อง และหากตรวจพบเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง เช่น ไข้ ไอ จะถูกส่งเข้าระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคของประเทศไทยทันที ทั้งนี้การป้องกันควบคุมโรคกรณีคนบนเรือเวสเตอร์ดัมที่จะมาประเทศไทยเกิดขึ้นภายหลังมีการยืนยันว่ามีคนบนเรือติดเชื้อ COVID-19 แล้ว 1 ราย
ในด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เพิ่มศักยภาพและพัฒนาการตรวจด้วยชุดน้ำยาสำเร็จรูปแบบเรียลไทม์ RT-PCR รู้ผลเร็ว มีความแม่นยำสูง ในระยะต่อไปจะขยายไปยังโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปให้ตรวจวินิจฉัยเชื้อได้ นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงรับประเมินชุดน้ำยาสำเร็จรูปแบบเรียลไทม์ RT-PCR เพื่อขึ้นบัญชีชุดน้ำยาที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เป็นข้อมูลช่วยให้โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป รวมทั้งภาคเอกชน เลือกซื้อชุดน้ำยาสำหรับตรวจวินิจฉัยเชื้อ COVID-19 ที่มีความแม่นยำ สร้างความมั่นใจให้ประชาชน
โดยในวันนี้ได้ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดถึงข้อสั่งการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ดังนี้
1. รณรงค์ให้ประชาชนหมั่นล้างมือ ใช้หน้ากากผ้า ทำความสะอาดจุดสัมผัสที่อาจเป็นจุดแพร่เชื้อโรค โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรถสาธารณะและผู้ให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติ
2. จังหวัดที่มีท่าเทียบเรือ สนามบิน และช่องทางเข้าออกที่มีการเดินทางจากต่างประเทศ ให้ตั้งด่านควบคุมโรค คัดกรองผู้โดยสารและผู้ที่ผ่านช่องทางเข้าออกทุกราย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, เชียงใหม่, เชียงราย, ชลบุรี, กระบี่ และภูเก็ต บูรณาการบุคลากรในจังหวัด เขตสุขภาพ รวมถึงเขตสุขภาพใกล้เคียง ร่วมกับกรมควบคุมโรค
3. จัดหาเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ชุดปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้พร้อมใช้งาน
4. เตรียมทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรค ติดตามผู้สัมผัส รักษาพยาบาล ห้องแยกโรคชนิดต่างๆ และหอผู้ป่วยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ
5. ใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด ขับเคลื่อนและสื่อสารแนวทางการคัดกรอง การรักษาพยาบาลให้สถานพยาบาลเอกชนในจังหวัด
6. ดำเนินงานตามข้อสั่งการอย่างเคร่งครัด และรายงานผลการดำเนินงาน
ส่วนที่ฐานทัพเรือสัตหีบ คนไทยกลับบ้านที่อาคารรับรองสัตหีบจำนวน 137 คน ทุกคนไม่มีไข้และไม่มีผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ส่วนผู้ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชลบุรี 1 คน อาการปกติ ไม่มีไข้ ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างการเตรียมการก่อนที่จะอนุญาตให้กลับบ้านในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์