×

สธ. เผยความพร้อมรับมือโควิด-19 แจงข้อเสนอลดเวลากักตัวเหลือ 10 วันอยู่ระหว่างศึกษา ก่อนเสนอ ศบค. พิจารณา

โดย THE STANDARD TEAM
07.10.2020
  • LOADING...
สธ. เผยความพร้อมรับมือโควิด-19 แจงข้อเสนอลดเวลากักตัวเหลือ 10 วันอยู่ระหว่างศึกษา ก่อนเสนอ ศบค. พิจารณา

วันนี้ (7 ตุลาคม) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารทุกกรมของกระทรวงฯ แถลงข่าวการเตรียมความพร้อมรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกถัดไปกล่าวว่า การระบาดระลอกแรกมีการทำแบบจำลองการระบาดหรือฉากทัศน์ 3 รูปแบบคือ

 

  1. ควบคุมไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้ระบาดสูงและรวดเร็วมากจนมีการติดเชื้อราว 16 ล้านคน 
  2. ชะลอได้กลางๆ จะทำให้มีผู้ป่วย 9.9 ล้านคน 
  3. สามารถควบคุมได้ จะทำให้มีผู้ป่วย 3 แสนคน 

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า แต่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทยมีเพียง 3,615 คน ถือว่าทำได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเรารู้จักโรคมากขึ้น มีองค์ความรู้ ทรัพยากร และประสบการณ์ในการรับมือ ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะประชาชนให้ความร่วมมือ ในการใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และสแกนไทยชนะ ทำให้ไม่มีคนติดเชื้อในประเทศมายาวนานพอสมควร อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจประเทศพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออก จึงต้องเริ่มแง้มประตูประเทศ และมีมาตรการต่างๆ รองรับ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าสามารถดูแลและควบคุมโรคโควิด-19 ได้

 

ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19 ในระยะถัดไปที่จะมีการเปิดประเทศ มีความแตกต่างจากการระบาดครั้งแรก คือจะไม่มีการระบาดวงกว้าง โดยสถานการณ์อาจเกิดขึ้นได้ 3 รูปแบบคือ

 

  1. ป้องกันโรคได้ดี มีผู้ติดเชื้อเป็นครั้งคราว 1-2 ราย ควบคุมไม่ให้แพร่กระจายได้ โดยประชาชนต้องสวมหน้ากากมากกว่าร้อยละ 85 เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ เฝ้าระวังอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ไม่ได้กลิ่นหรือรส ให้รีบไปตรวจรักษา 
  2. ควบคุมโรคได้เร็ว อาจติดเชื้อ 10-20 คนต่อวัน แต่ควบคุมโรคได้ในเวลาสั้น 3-4 สัปดาห์ ตรงนี้เกิดขึ้นได้หากประชาชนบางส่วนไม่สวมหน้ากาก ผู้ประกอบการละเลยมาตรการป้องกันโรค
  3. ควบคุมโรคได้ช้า คือมีคนติดเชื้อเป็นกลุ่ม 100 คนต่อวัน เกิดขึ้นได้หากประชาชนไม่ร่วมมือป้องกันโรค ผู้ประกอบการไม่จัดมาตรการป้องกันโรค และไม่ได้รับความร่วมมือในการติดตามผู้สัมผัสโรค

 

สำหรับข้อเสนอเรื่องของการลดระยะเวลากักตัว 14 วัน เหลือเพียง 10 วันนั้น อยู่ระหว่างการศึกษาประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยคาดว่าอีก 2 สัปดาห์จะเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19 ) หรือ ศบค. เพื่อพิจารณาต่อไป

 

ทางด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การควบคุมโรคโควิด-19 ต่อจากนี้จะเป็นการเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสุขภาพ ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ โดยมาตรการควบคุมโรคยังเน้นเรื่องการป้องกัน ควบคุมให้ได้เร็ว การดูแลรักษา และให้ข้อมูลสื่อสารประชาชน ขณะที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น กิจการเสี่ยงในประเทศทยอยเปิดแล้วโดยมีมาตรการควบคุม ส่วนกิจการต่างประเทศ เช่น การท่องเที่ยว ต้องค่อยๆ ผ่อนคลายอย่างระมัดระวัง 

 

โดยแผนการจัดการในระยะถัดไปคือ การจัดสถานกักกันเพื่อไม่ให้เชื้อเข้าสู่ประเทศ วางระบบเฝ้าระวังและตรวจจับในหลายระดับ หากมีสัญญาณต้องตรวจจับและควบคุมให้ไม่เกิดการระบาดรุนแรง โดยจะควบคุมโรคให้สงบภายใน 4 สัปดาห์ ขยายหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรค 3 เท่าจากที่มีอยู่ 1,000 ทีม เตรียมความพร้อมระบบบัญชาการเหตุการณ์ทุกระดับ เร่งรัดมาตรการที่ด่านควบคุมโรค พื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะที่ติดกับเมียนมาและมาเลเซีย และสร้างความร่วมมือของประชาชนในการป้องกันโรค

 

“สำหรับกลุ่มเป้าหมายการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ คือผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ อาการคล้ายหวัดใหญ่ทุกโรงพยาบาล ผู้ต้องขังแรกรับ แรงงานต่างด้าวพื้นที่ชายแดน กลุ่มพิเศษตามสถานการณ์ เช่น นักกีฬาฟุตบอลไทยลีก กรณีพบผู้ป่วยยืนยัน จะติดตามคนสัมผัสใกล้ชิด ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชนเพื่อเร่งควบคุมโรคต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising