×

ผู้ประกอบการโรงงานเฮ ปลดล็อกใบ ร.ง.4 ไม่ต้องขอใหม่ ไม่ต้องต่ออายุ ย้ำคุณภาพเข้มเหมือนเดิม

13.05.2019
  • LOADING...
โรงงานอุตสาหกรรม

ทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า พระราชบัญญัติโรงงานฉบับใหม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศ หรือในวันที่ 27 ตุลาคม 2562 นี้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมไทยทั้งการลงทุนและการจ้างงาน

 

กฎหมายดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มากกว่า 1.4 แสนรายทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SMEs ราว 7 หมื่นราย ที่ไม่ต้องขอใบอนุญาตใบประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ขณะที่ผู้ประกอบการทั่วไปก็ไม่ต้องต่ออายุใบ ร.ง.4 อีกต่อไป จากเดิมต้องต่ออายุทุก 5 ปี ซึ่ง กรอ. มั่นใจว่ากฎหมายใหม่จะไม่มีข้อเสีย และจะทำให้การประกอบกิจการได้รับความสะดวกและมีความคล่องตัวขึ้น การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายนี้จะไม่ทำให้การกำกับดูแลผ่อนคลายลงแต่อย่างใด ขณะที่ประชาชนก็ยังได้รับความคุ้มครองจากการกำกับดูแลที่จะทำให้โรงงานไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือความไม่ปลอดภัยใดๆ เช่นเดิม

 

สาระสำคัญอื่นๆ ที่น่าสนใจของกฎหมายดังกล่าว ได้แก่ การแก้ไขขอบเขตการเป็น ‘โรงงาน’ จากเดิมต้องมีเครื่องจักร 5 แรงม้า หรือคนงาน 7 คน มาเป็น 50 แรงม้า หรือคนงาน 50 คน พร้อมทั้งมีกำหนดให้มีผู้ตรวจสอบเอกชนที่มาตรวจสอบโรงงานหรือเครื่องจักรแทนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ โดยผู้ตรวจสอบเอกชนนั้นจะต้องได้รับใบอนุญาตตรวจสอบรับรองจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อน หากผู้ตรวจสอบเอกชนจัดทำรายงานเท็จก็จะมีโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย

 

แม้การผ่อนคลายกฎหมายดังกล่าวจะถือเป็นข่าวดีของผู้ประกอบการที่จากนี้จะทำธุรกิจได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องเจอกับปัญหาซ้ำซากจากกระบวนการขอใบ ร.ง.4 แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีบางส่วนที่กังวลเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อม การคุมเข้มของภาครัฐที่อนุญาตให้ใช้องค์กรภาคเอกชนเข้ามาตรวจสอบแทน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการกับคนในชุมชนได้ ซึ่งเป็นต้นทุนที่ยังมองไม่เห็น และยังประเมินได้ยากว่าเรื่องดังกล่าวได้คุ้มเสียจริงหรือไม่

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X