×

ขุนคลังดัน ‘เราชนะ’ อัดเงิน 2.1 แสนล้าน หวังเพิ่มแรงบวกเศรษฐกิจ 0.5%

19.01.2021
  • LOADING...
ขุนคลังดัน ‘เราชนะ’ อัดเงิน 2.1 แสนล้าน หวังเพิ่มแรงบวกเศรษฐกิจ 0.5%

เมื่อมาตรการล็อกดาวน์เฉพาะจุดในประเทศไทยยังเดินหน้าต่อเนื่องเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ย่อมส่งผลกระทบต่อการค้า การท่องเที่ยว และประชาชนในหลายจังหวัด ส่งผลให้วันนี้ (19 มกราคม) คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการเราชนะที่จะให้เงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่นี้ และความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เป็นอย่างไร

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าโครงการเราชนะที่ให้เงินช่วยเหลือ 3,500 บาท นาน 2 เดือน (กุมภาพันธ์-มีนาคม) เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ คาดว่าจะส่งถึงกลุ่มเป้าหมายราว 31.1 ล้านคน เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 210,200 ล้านบาท และจะส่งผลด้านบวกราว 0.5% ของ GDP ซึ่งจะช่วยการหมุนเวียนในเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะกลุ่มฐานรากมากขึ้น

 

ทั้งนี้ คาดว่าวงเงินสิทธิ์จากเราชนะจะถึงมือผู้ได้รับสิทธิ์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยจะได้รับเงินครั้งละราว 1,000 บาทต่อสัปดาห์ ซึ่งทางกระทรวงการคลังเปิดให้ใช้เม็ดเงินได้ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ขณะเดียวกันยังขยายการใช้จ่ายเงินในหมวดการบริการและขนส่งมวลชน เช่น วินมอเตอร์ไซค์ ขสมก. รถไฟฟ้า ฯลฯ โดยวงเงินที่ได้รับจะไม่สามารถใช้ในรูปแบบเงินสดได้ แต่ระบบจะเพิ่มช่องกระเป๋าเงินในแอปพลิเคชันเป๋าตังให้ใช้สิทธิ์แยกจากวงเงินอื่นๆ 

 

โดยเราชนะจะมุ่งเน้นที่ผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่จะได้เข้าร่วมโครงการอัตโนมัติ ขณะที่ผู้เข้าร่วมโครงการที่อยู่ในมาตรการอื่นๆ ของภาครัฐ​ เช่น คนละครึ่ง ฯลฯ และได้ให้ความยินยอมการนำข้อมูลไปประมวลผล หากผ่านเกณฑ์จะมีข้อความแจ้งเตือนไปที่แอปพลิเคชันเป๋าตังเพื่อกดยืนยันสิทธิ์ ส่วนกลุ่มที่ไม่มีฐานข้อมูลกับรัฐสามารถลงทะเบียนเข้าโครงการได้ในวันที่ 29 มกราคม 2564 โดยผู้ที่ไม่เข้าเงื่อนไขเราชนะมี 7 กลุ่ม เช่น ผู้อยู่ในระบบประกันสังคม (มาตรา 33), ผู้มีรายได้พึงประเมินเกิน 3 แสนบาทขึ้นไป, ผู้ที่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 5 แสนบาท ฯลฯ

 

“โครงการเราชนะที่ใช้เม็ดเงินราว 210,200 ล้านบาท ถ้าถามว่าพอไหม ก็ (ช่วย) ไม่ทั้งหมด แต่จุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระในช่วงเวลานี้”

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เช่น คนละครึ่ง ที่จะเปิดให้ลงทะเบียนรอบใหม่ในวันที่ 20 มกราคม 2564 รวม 1.34 ล้านสิทธิ์ 

 

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการมาตรการอื่นๆ เช่น ในกรณีข้อเสนอแก้ไขเกณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่จะเพิ่มดอกเบี้ย 2% ยังไม่ได้ข้อสรุป และอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งจะต้องทำให้ครอบคลุมพอสมควร และต้องหารือกับรองนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันยังมีมาตรการที่กำลังหารือและยังไม่ได้ข้อสรุป ได้แก่ 

 

  • มาตรการการดูแลเอสเอ็มอีภาคท่องเที่ยว ส่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังดูอยู่ โดยอาจจะมีลักษณะการช่วยเหลือด้านเครดิตการันตีผ่านการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นคนค้ำประกัน  
  • ข้อเสนอการยกเลิกเครดิตบูโรเพื่อให้ธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น กำลังคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ ยังไม่ได้ข้อสรุป
  • ซอฟต์โลนสายการบิน ปัจจุบันให้ซอฟต์โลนสายการบิน ตอนนี้ให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแล ซึ่งรอดูรายละเอียดเพิ่มเติม โดยมองว่าวงเงินทั้งหมดที่ขอมาอาจจะไม่ได้ ซึ่งอาจปรับเงื่อนไขลงเพื่อใช้สำหรับการจ่ายเงินเดือนพนักงานและค่าใช้จ่ายประจำวัน  

 

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่าการแก้เกณฑ์ซอฟต์โลนทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ยังมีการพูดคุยกันอยู่ ซึ่งหากมีการแก้เกณฑ์ดอกเบี้ยและเงื่อนไขอื่นย่อมส่งผลดี เพราะจะครอบคลุมได้กว้างขึ้น 

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันสภาพคล่องในระบบยังเหลืออยู่ แต่การปล่อยสินเชื่อยังขึ้นอยู่กับธนาคารที่ส่วนใหญ่โฟกัสลูกค้าปัจจุบัน ขณะที่การปล่อยสินเชื่อใหม่ยังต้องดูปัจจัยการไม่มีข้อมูล ทำให้การปล่อยสินเชื่อยังเป็นไปตามเกณฑ์ปกติ  

 

“สถานการณ์ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่า (โควิด-19) จะเอาอยู่เมื่อไร แต่หวังว่าโควิด-19 รอบสองนี้จะเป็นรอบสุดท้าย ซึ่งเราคิดว่าถ้าเฟส 2 เอาอยู่แล้ว เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 จะกลับมาดีขึ้น แต่อนาคตยังไม่แน่นอน ทำให้เรื่องต่างๆ ต้องปรับไปเรื่อยๆ ทุกวัน แต่ยังมีความหวังจากรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยที่ช่วยกันต่อเนื่อง”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X