×

คลัง-ธปท.-สภาพัฒน์ รับเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า ชี้ปัญหาจากโครงสร้าง-รายได้หด-หวังเอกชนลงทุน

12.11.2020
  • LOADING...
คลัง-ธปท.-สภาพัฒน์ รับเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า ชี้ปัญหาจากโครงสร้าง-รายได้หด-หวังเอกชนลงทุน

เมื่อรัฐบาลยอมรับอย่างชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ซึ่งสถานการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยยิ่งอ่อนแอ เมื่อเจอแรงกระแทกจากวิกฤต จึงส่งผลให้ไทยทรุดลงอย่างชัดเจน 

 

ไหนจะปัญหาเชิงโครงสร้างดั้งเดิมที่ไม่ได้รับการแก้ไขในหลายปีที่ผ่าน ทั้งรายได้แรงงานไม่สูง โครงสร้างการส่งออก ขาดการเพิ่มมูลค่าในสินค้า ฯลฯ

 

จากปัญหาทั้งหมดนี้หน่วยงานที่เป็นเหมือนสมองของประเทศทั้ง กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ จะมีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในวันที่อาจจะไม่เติบโตเหมือนเดิมอย่างไร 

 

ธปท. ชี้เศรษฐกิจไทยทรุดจากพื้นฐานทั้งโครงสร้างประเทศ-หนี้สูง-ขาดการลงทุน

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ส่วนหนึ่งเพราะผลกระทบในภาคการท่องเที่ยว ที่แม้จะมีส่วนต่อ GDP 11-12% ซึ่งกระทบการจ้างงานกว่า 20% ของการจ้างงานทั้งประเทศ ซึ่งถือว่าแตกต่างจากวิกฤตครั้งอื่นๆ 

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น ปี 2540 ผลกระทบเกิดขึ้นจากสถาบันการเงิน หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (ปี 2551) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกหดตัว 15% เมื่อดูโครงสร้างเศรษฐกิจไทยขณะนั้นจะเห็นว่า กว่า 50% ของการส่งออกไทย ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี แต่มีการจ้างงานเพียง 4% เท่านั้น จึงไม่เห็นผลกระทบในวงกว้างอย่างวิกฤตในครั้งนี้

 

ทั้งนี้ หลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ พบว่า อัตราการว่างงานแม้จะอยู่ที่ 7-8 แสนราย แต่ไม่ได้สะท้อนสถานการณ์จริง ต้องไปดูที่รายได้ของคนที่หายไป ซึ่งตัวเลขคนทำงานน้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พบว่ามีถึง 2 ล้านคน ดังนั้นปัญหาหลักของวิกฤตนี้ในการแก้ไขเรื่องหนี้และอื่นๆ ต้องแก้ไขที่รายได้ด้วย ขณะเดียวกันพบว่าต้นตอของหลายปัญหาที่เจอมาจากไทยขาดการลงทุน 

 

โดยช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงมาก (ราว 80%) ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 จนปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 84% อย่างไรก็ตามมองว่า เสถียรภาพของไทยในวิกฤตครั้งนี้ดีกว่าวิกฤตครั้งอื่นๆ เพราะทุนสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้ต่างประเทศน้อย แต่วิกฤตนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า

 

แต่จุดสำคัญของตอนนี้คือการแก้ปัญหาต้องถูกจุด ไม่สร้างปัญหาในส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม และต้องดูภาพรวมให้ดี ออกมาตรการอย่างถูกต้อง ไม่เอาถูกใจ ทั้งมาตรการการคลัง มาตรการการเงินที่การดูแลลูกหนี้ต้องสร้างสมดุลในหลายด้าน



ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

คลังชี้ช่วงโควิด-19 ใช้งบช่วยเหลือเต็มที่ เตรียมกู้ชดเชยขาดดุล-ปรับโครงสร้างภาษีฯ


ด้าน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในช่วง 3-4 เดือนที่ไทยต้องหยุดชะงักไปเพราะโควิด-19 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบไปทั่วประเทศ และตอนนี้จากตัวเลขต่างๆ ก็เห็นว่าทิศทางปรับตัวดีขึ้น เช่น กำลังซื้อเกษตรกรก็น่าจะดีขึ้นจากราคายางที่ดี ราคาข้าว และอื่นๆ ที่ต้องรอดูว่าจะปรับตัวดีขึ้นหรือไม่ 

 

ช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลเร่งออกมาตรการเยียวยา ช่วยเหลือ กระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน และมุ่งเน้นการเพิ่มกำลังซื้อทั้งในประชาชนรายเล็ก หาบเร่ แผงลอย รวมถึงการลงเงินไปในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงมาตรการรัฐร่วมจ่าย (Co-pay) ต่างๆ เช่น คนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มใช้งบประมาณปี 2564 แล้ว และจะพยายามใช้จ่ายเงินให้ตรงจุดยิ่งขึ้น โดยปีหน้าผู้ที่เสียภาษี ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในปีนี้ต้องไปเสียภาษีในปี 2564 ดังนั้นทางกระทรวงการคลังมีการเตรียมการไว้ และจะปรับปรุงโครงสร้างภาษีเพื่อให้ตอบสนองอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างสมดุลขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ 

 

“เราต้องปรับโครงสร้างภาษีเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรม ในหลักการคือ (คลังฯ) ต้องมีรายได้เพิ่ม ไม่ได้แปลว่าจะขึ้นภาษี แต่ต้องปรับให้มีสมดุลมากขึ้น ตอนนี้เริ่มทำแผนแล้ว”

 

นอกจากนี้ เพื่อเตรียมการใช้เงินในสถานการณ์ต่างๆ กระทรวงการคลังเตรียมความพร้อมในการกู้ชดเชยขาดดุลกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ เหมือนกับปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา 

 

สภาพัฒน์ย้ำเศรษฐกิจไทยผ่านสุดต่ำสุดในไตรมาส 2/63 แล้ว แต่จะฟื้นตัวแบบ ‘ช้าๆ’

 

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า จากข้อมูลที่ติดตามคาดว่าจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยในปีนี้คือ ไตรมาส 2/63 ซึ่งติดลบ 12.2% ใกล้เคียงกับปี 2540 โดยตัวเลขดัชนีต่างๆ หลังจากนั้นแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยหดตัวน้อยลง (แต่ยังอยู่ในแดนลบ) หรือเท่ากับเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ 

 

ทั้งนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2563 หากไม่มีปัจจัยอื่นมากระทบ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะทยอยดีขึ้น ทั้งภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และอื่นๆ โดยยังมีกลุ่มผู้เปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และต้องติดตามว่าจะมีมาตรการใดออกมาช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น กลุ่มคนขับรถตู้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่หดตัว อาจจะยังไม่มีรายได้เหมือนเดิม 

 

อย่างไรก็ตามช่วงต้นปีหน้า ต้องจับตาสถานการณ์การเลือกตั้งในสหรัฐฯ ที่อาจจะส่งผลต่อไทยในปี 2564 ในบางเรื่องที่อาจปรับเปลี่ยนจากนโยบายของสหรัฐฯ ที่ปรับตามการเปลี่ยนแปลงของประธานาธิบดี

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

3 หน่วยงานหวังเอกชนลงทุน ฉุดไทยจากปากเหว

 

ดนุชา พิชยนันท์ กล่าวว่า ปีหน้าเมื่อต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจในประเทศ ภาคเอกชนจะสามารถช่วยได้มากผ่านการลงทุนด้านต่างๆ เช่น การลงทุนด้านแรงงาน ฟาซิลิตี้ต่างๆ การลงทุนรับกับกระแสดิจิทัล แต่มองว่ายังต้องเป็นการลงทุนที่คำนึงถึงความเสี่ยงด้านต่างๆ ขณะที่บริษัทไทยที่มีเครือข่ายในต่างประเทศ อาจพูดคุยเพื่อให้บริษัทเหล่านั้นเข้ามาลงทุนในไทยได้ 

 

ฝั่งผู้ว่าฯ ธปท. เศรษฐพุฒิ เล่าว่า อีกหนึ่งความหวังของเศรษฐกิจไทย คืออยากเห็นเอกชนลงทุน เพราะไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ระดับการลงทุนรัฐและเอกชน ต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 ที่เราเคยลงทุนเกินตัว แต่เวลาผ่านไปหลายปีก็ยังไม่เห็นการกลับเข้ามาลงทุน ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาพ่วงอื่นๆ ที่ว่า ทำไมรายได้ของคนไม่โตก็เพราะคนไม่ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพสิ่งต่างๆ ดังนั้นต้นตอของหลายปัญหาที่เจอ ก็เพราะไทยขาดการลงทุน 

 

ทั้งนี้ แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤต แต่ยังมีการลงทุนในภาคธุรกิจที่เป็นจุดแข็งของไทยได้ เช่น ภาคการท่องเที่ยว แต่ต้องเป็นการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลก

สุดท้ายนี้มุมมองการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้ง 3 หน่วยงานมีความคล้ายคลึงกัน โดยอาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “ถ้าเราไม่ลงทุนในช่วงเศรษฐกิจขาลง เมื่อเศรษฐกิจฟื้นกลับมา ก็อาจจะไม่ทันแล้ว”

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising