เมื่อวานนี้ (5 พฤษภาคม) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่รายละเอียดประกาศกระทรวงการคลัง ซึ่งลงนามโดย อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง กําหนดประเภทธุรกิจ ระยะเวลา และเงื่อนไขให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสม หรือเงินสมทบเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพในท้องที่ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจสาธารณภัย หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 อันส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ข้อ 1 ให้ลูกจ้างหรือนายจ้างที่ได้รับผลกระทบด้านฐานะการเงินจากสถานการณ์ การระบาดของโควิด-19 สามารถหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพได้เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่งวดนําส่งเงินปัจจุบัน จนถึงงวดนําส่งเงิน ของเดือนธันวาคม 2563 โดยฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างที่ไม่ได้นําส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบในช่วงนี้ ให้ถือว่าสถานภาพยังคงอยู่ และนับต่อเนื่องไปได้
ในกรณีนายจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพตามวรรคหนึ่ง หากลูกจ้างรายใดประสงค์จะส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพก็สามารถดําเนินการได้ โดยนายจ้างจะส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพให้แก่ลูกจ้างรายนั้นหรือไม่ก็ได้
ข้อ 2 การหยุดหรือเลื่อนการนําส่งเงินเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพเป็นการชั่วคราว จะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่สมาชิก โดยคะแนนเสียงที่ใช้เป็นมติที่ประชุมนั้นจะต้องเป็นไปตามที่กําหนดในข้อบังคับกองทุน หรือต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม
หากไม่ได้กําหนดในข้อบังคับกองทุน และในกรณีที่ไม่สามารถจัดประชุมใหญ่สมาชิกได้ ให้กรรมการในคณะกรรมการกองทุนสํารองเลี้ยงชีพให้ความเห็นชอบด้วยมติเอกฉันท์ให้หยุดหรือเลื่อนส่งเงินสะสม หรือเงินสมทบเป็นการชั่วคราว สําหรับกองทุนสํารองเลี้ยงชีพที่ประกอบด้วยนายจ้างหลายราย (Pooled Fund) ให้ใช้มติที่ประชุมของสมาชิกของนายจ้างรายนั้นๆ หรือมติคณะกรรมการกองทุนนายจ้างรายนั้นๆ เป็นเกณฑ์
ข้อ 3 ให้นายจ้างหรือคณะกรรมการกองทุนสํารองเลี้ยงชีพแจ้งการขอหยุดหรือเลื่อน การส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพต่อนายทะเบียนพร้อมเอกสาร ดังนี้
(1) หนังสือรับรองจากนายจ้างซึ่งรับรองว่ามีปัญหาในการดําเนินกิจการ อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 และมีปัญหาฐานะการเงินจริง โดยมีกรรมการผู้มีอํานาจลงนามผูกพันนายจ้างรายนั้นๆ เป็นผู้ลงลายมือชื่อ และ
(2) รายงานการประชุมใหญ่สมาชิก หรือรายงานการประชุมคณะกรรมการกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายงานว่า นายจ้างมีปัญหาในการดําเนินกิจการอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 และมีปัญหาฐานะการเงินจริง และมีมติที่ระบุรายละเอียดว่ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพจะให้มีการหยุดหรือเลื่อนส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบ เป็นการชั่วคราวถึงเมื่อใด (ไม่เกินงวดนําส่งเงินของเดือนธันวาคม 2563)
ข้อ 4 เมื่อลูกจ้างและนายจ้างจะส่งเงินสะสมและเงินสมทบตามข้อ 1 เข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพต่อไป ให้แจ้งนายทะเบียนทราบ
ข้อ 5 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป