×

‘คลัง’ แจงสถานะ ‘กรุงไทย’ แม้ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่ยังเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ นโยบายไม่เปลี่ยนแปลง

09.11.2020
  • LOADING...
‘คลัง’ แจงสถานะ ‘กรุงไทย’ แม้ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่ยังเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ นโยบายไม่เปลี่ยนแปลง

สถานะของ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ในเวลานี้ถือว่าหลุดพ้นคำว่า ‘รัฐวิสาหกิจ’ อย่างเป็นทางการไปแล้ว หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ KTB ไม่มีสถานะเป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ จึงทำให้ KTB หลุดพ้นจากสถานะดังกล่าวไปด้วยโดยปริยาย

 

อย่างไรก็ตาม แม้ KTB จะไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ยังมีสถานะเป็น ‘ธนาคารพาณิชย์’ ของ ‘ภาครัฐ’ ดังนั้นจึงยังมีพันธกิจสำคัญที่ต้องดูแลสาธารณชนตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

 

ประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) หนึ่งในหน่วยงานของกระทรวงการคลังบอกกับ THE STANDARD WEALTH ว่า แม้ KTB ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจแล้ว แต่ยังคงมีสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ดังนั้นภาครัฐจะยังใช้ KTB เป็นเครื่องมือเพื่อทำนโยบายดูแลประชาชนทั่วไปเหมือนเดิมตามปกติ ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง

 

ส่วนสิ่งที่เปลี่ยนคือ พนักงานของ KTB จะไม่อยู่ภายใต้กฎหมาย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ดังนั้นหากพนักงานมีการกระทำผิดเกิดขึ้นย่อมไม่ใช่ความผิดภายใต้ พ.ร.บ. รัฐวิสาหกิจแล้ว 

 

นอกจากนี้หนี้ของ KTB ก็จะถูกดึงออกจากหนี้สาธารณะด้วย แต่ประเด็นนี้ไม่ได้มีนัยสำคัญอะไร เพราะปัจจุบันหนี้สินของ KTB หรือแม้แต่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐแห่งอื่นๆ มีน้อยมาก การดึงหนี้ของ KTB ออกจากหนี้สาธารณะจึงไม่ได้ทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อ GDP เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

“จริงๆ แล้วในมุมกฎหมายของ สคร. ทางกรุงไทยไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว และก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สคร. ด้วย เพราะกฎหมายของ สคร. นับเฉพาะที่กระทรวงการคลังถือหุ้น ซึ่งกรุงไทยมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ FIDF”

 

ประภาศกล่าวว่า สาเหตุที่ตีความกันว่า KTB ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว เพราะเดิมเคยตีความกันว่า FIDF ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ KTB และเป็นหนึ่งในหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 

 

อย่างไรก็ตาม หลังจาก ธปท. แก้ไขกฎหมายในส่วนของ พ.ร.บ. ธปท. ใหม่พร้อมกับเขียนไว้ชัดเจนว่า ธปท. ไม่ใช่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จึงทำให้ FIDF ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของ ธปท. จึงไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย ดังนั้นเท่ากับว่า KTB ก็ไม่ใช่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้วยเช่นกัน เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่คือ FIDF ไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว

 

“ในทางกฎหมาย กรุงไทยอาจไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ก็ถือหุ้นโดยหน่วยงานของภาครัฐ เพราะ FIDF แม้ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจเช่นกัน แต่ยังถือเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้ ธปท. ซึ่งก็ยังเป็นของรัฐ เวลาจะทำนโยบายอะไรก็ต้องคุยกันอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องการรับนโยบายจากภาครัฐจึงไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ภาครัฐยังคงแอ็กทีฟผ่านผู้ถือหุ้นได้อยู่”

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X