×

‘เกณฑ์ทหารแล้วใครจะดูแลยาย’ โฆษกกลาโหมยืนยัน ดูแลทุกคนตามความจำเป็นเท่าเทียมกัน

โดย THE STANDARD TEAM
19.04.2018
  • LOADING...

แม้จะผ่านฤดูกาลเกณฑ์ทหาร 2561 ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา แต่การตรวจเลือกทหารกองประจำการปีนี้ก็ยังมีเรื่องให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างต่อเนื่อง เมื่อปรากฏคลิปวิดีโอทหารเกณฑ์รายหนึ่งที่จับได้ใบแดง พร้อมร่ำไห้คร่ำครวญว่า ‘ยายผมจะอยู่อย่างไร’ จนกลายเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์

 

จากกรณีดังกล่าว พันเอก วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ ‘กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย’ ระบุว่า สำหรับกรณีทหารใหม่ที่แสดงความกังวลที่ตนเองต้องเข้ารับราชการเป็นหทารกองประจำการนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเฉพาะในช่วงแรกเท่านั้น เพราะยังไม่มีข้อมูลเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ในหน่วยทหาร แต่ยืนยันว่าทหารยุคปัจจุบันในทุกหน่วยมีการดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาในทุกมิติอยู่แล้ว โดยเฉพาะการให้ความใส่ใจต่อชีวิตความเป็นอยู่นอกรั้วทหาร และให้ความสำคัญกับทหารทุกคนเหมือนเป็นญาติพี่น้องและคนในครอบครัวในทำนอง ‘ญาติเขาก็เหมือนญาติเรา’ ซึ่งที่ผ่านมาทางหน่วยจะมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม และทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

 

“เชื่อว่าเมื่อทางหน่วยได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยแล้ว สุดท้ายอาจไม่ถึงกับต้องเสียภารกิจในทางใดทางหนึ่งไป ไม่ว่าจะภาระทางราชการ หรือภาระทางครอบครัวที่จะมีเพื่อนทหารและผู้บังคับบัญชาไปร่วมกันดูแล หรือบางกรณี ทางหน่วยสามารถพิจารณาเสนอขอใช้ระเบียบการขอลาดูแลบุพการีได้ ถ้าจำเป็นจริงๆ”

 

นอกจากนี้เพจ ‘กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย’ ยังโพสต์ภาพครอบครัวของทหารเกณฑ์คนดังกล่าว หลังเจ้าหน้าที่ทหาร สัสดี ลงพื้นที่พูดคุยกับครอบครัวเพื่อหาทางช่วยเหลือต่อไป ซึ่งใต้โพสต์ดังกล่าวมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยหลายรายตั้งคำถามว่ากองทัพจะเข้าไปดูแลทหารเกณฑ์ที่ได้รับความเดือดร้อนทั่วถึงได้อย่างไร

 

“มีคนเดือดร้อนอีกหลายครอบครัว จริงๆ ก็คือทุกคนที่จับได้ใบแดงเดือดร้อนหมด จะไปเยี่ยมสร้างภาพกันได้ครบไหมคะ”

 

“ถ้าไม่มีข่าว ไม่มีสื่อโซเชียลสนใจ จะลงพื้นที่ไปดูเขาไหมครับ ผมเชื่อว่าไม่ได้มีครอบครัวเขาครอบครัวเดียวที่มีปัญหาเพราะต้องไปเป็นทหารโดยไม่สมัครใจ ควรพิจารณาและคิดได้แล้วนะครับ”

 

จากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว THE STANDARD สอบถามไปยัง พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ที่ให้ความเห็นว่า สำหรับกรณีดังกล่าวต้องดูตามความเดือดร้อนและความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละกรณี เท่าที่ผ่านมาเชื่อว่ากองทัพได้ใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมตามมาตรฐานที่มีอยู่ ยืนยันว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่หากใครมีความเดือดร้อนจำเป็นจริงๆ ก็สามารถยกเว้นเป็นกรณีพิเศษได้

 

“ทหารเราดูแลกันถึงครอบครัว เราไม่ได้ใช้งานเขาอย่างเดียว เขาเดือดร้อนถึงครอบครัว อะไรที่ช่วยเหลือเขาได้ เราก็เข้าไปช่วย ในระหว่างการฝึกซึ่งจริงๆ แล้วลาไม่ได้ แต่กรณีที่เดือดร้อนจริงๆ พ่อแม่เจ็บป่วย เราก็ต้องปล่อยให้เขาลา โดยเอาครูฝึกไปด้วยเพื่อเข้าไปดูว่าจะช่วยเหลือพ่อแม่เขาอย่างไร อะไรที่กองทัพสามารถช่วยเหลือเขาได้ เราก็ดูแล หรือบางรายพ่อแม่เจ็บป่วย เราก็พาพ่อแม่ไปโรงพยาบาลทหารในพื้นที่ใกล้เคียงในฐานะที่เขารับราชการทหาร แบบนี้ก็ทำได้ แม้กระทั่งเอาเงินไปช่วยเหลือเขาก็มี เรี่ยไรบริจาคกันเพื่อเอาเงินไปช่วยเหลือ อย่างนี้เราก็ทำ

 

“ไม่ต้องไปพูดถึงภาพใหญ่ของกระทรวงกลาโหมหรอก เพราะในการปกครองบังคับบัญชาทุกระดับหน่วย ตั้งแต่ระดับหมู่ กองร้อย กองพัน เขาก็มีผู้บังคับบัญชาตามระดับชั้นอยู่แล้ว ซึ่งเขาจะต้องดูแลคนเหล่านี้อยู่แล้ว ฉะนั้นการตัดสินใจไม่จำเป็นต้องมาจากเบื้องบน การตัดสินใจอยู่ที่ผู้บังคับหน่วยระดับล่างเลย เขาตัดสินใจได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ผิดกฎระเบียบ เพราะกฎระเบียบภายในมันมี และมีข้อยกเว้นตามความเหมาะสม ก็ต้องพิจารณาในแต่ละรายไป”

 

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงกลาโหมยังเปิดเผยว่าในแต่ละปีจะมีกรณีลักษณะนี้ไม่มากนัก พร้อมวอนขอให้มองการเกณฑ์ทหารในแง่ดีบ้าง เพราะการเป็นทหารถือเป็นเรื่องที่มีประโยชน์กับประเทศชาติ

 

“ถ้ามองในแง่ดี มันก็เป็นเรื่องที่ดีที่เราดูแลซึ่งกันและกัน ทหารเองก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นการหมุนเวียนกำลังพลหรือคนหนุ่มเข้ามาทำหน้าที่รับใช้ประเทศชาติ เข้ามาช่วยเหลือประชาชน ช่วยพัฒนาประเทศตามกำลังความสามารถของคนวัยหนุ่ม หลายบ้าน หลายครอบครัวขอบคุณกองทัพมาเยอะแยะ ซึ่งเราก็ไม่ได้เปิดเผย เขาขอบคุณที่ช่วยดูแลลูกเขา หลายคนมีความรับผิดชอบในตัวเอง มีความกล้า มีความเป็นผู้นำ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ได้ประโยชน์จากกองทัพ

 

“ฉะนั้นใน 2 ปี ผมเชื่อว่าจิตสำนึกของเขามีความเสียสละเพื่อส่วนรวม มีอุดมการณ์ มีความรักชาติแน่นอน วันนี้มุมมองที่หลากหลายเราก็เคารพ ไม่มีใครผิดหรอก แต่ก็อยากให้เปลี่ยนมามองมุมที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองบ้าง”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X