วันนี้ (21 มิถุนายน) อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า เนื่องจากในวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันสนับสนุน ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทย และในปีนี้ถือเป็นวาระพิเศษ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง ‘ปัญหาการใช้คำไทย’ ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถึงปัจจุบันครบ 60 ปี
โดยหน่วยงานในสังกัด วธ. ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ สำนักงานปลัด วธ. โดยกองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมกำหนดจัดกิจกรรมการประกวดสื่อสร้างสรรค์ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 หัวข้อ ‘รักนะจ๊ะ ภาษาไทย’ ในรูปแบบคลิปวิดีโอเพลงแรป เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้ผลิตสื่อสร้างสรรค์ มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และถ่ายทอดความงดงามของภาษาไทย ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติผ่านสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนาด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสนับสนุนการผลิตและเผยแพร่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ทั้งนี้ วธ. ขอเชิญชวนเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี ส่งผลงานในนามบุคคล หรือทีม และหากเป็นทีม ทีมต้องมีสมาชิกไม่เกิน 3 คน โดยส่งผลงานได้จำนวน 1 ผลงานต่อ 1 ท่าน หรือ 1 ทีมเท่านั้น ซึ่งจะต้องจัดทำเนื้อร้อง แนวเพลงแรปที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อ ‘รักนะจ๊ะ ภาษาไทย’ และสื่อให้เห็นถึงคุณค่า ความสำคัญของภาษาไทย รวมถึงการส่งเสริม อนุรักษ์ สืบสานและถ่ายทอดภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอัน ล้ำค่าของชาติ โดยสร้างทำนองและดนตรีตามความเหมาะสม แต่ต้องไม่ละเมิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา จากนั้นถ่ายทำคลิปวิดีโอ (Music Video) ความยาวไม่น้อยกว่า 2 นาที และไม่เกิน 3 นาที รวมไตเติล โดยไม่จำกัดวิธีการนำเสนอและวิธีการถ่ายทำ สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไข การเข้าร่วมกิจกรรม เช่น ผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมดจะต้องไม่มีลักษณะลบหลู่ ดูหมิ่น หมิ่นประมาทต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่สร้างความแตกแยก รวมถึงต้องไม่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง และผลงานที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมดจะต้องผลิตขึ้นใหม่ และไม่เคยเผยแพร่ ส่งประกวด หรือได้รับรางวัลใดๆ มาก่อน
อย่างไรก็ตาม วิธีการตัดสินในกิจกรรมดังกล่าวจะมีคณะกรรมการตัดสินการประกวดจะพิจารณาคัดเลือกคลิปวิดีโอให้ได้รับรางวัล โดยแบ่งเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศ อันดับหนึ่ง จำนวน 1 รางวัล เงินรางวัล 30,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศ อันดับสอง จำนวน 1 รางวัล เงินรางวัล 20,000 บาท และรางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท ซึ่งทุกคนที่ได้รับรางวัลจะได้รับโล่รางวัลและเกียรติบัตรจากกระทรวงวัฒนธรรมด้วย
ทั้งนี้ สามารถส่งไฟล์ผลงานคลิปวิดีโอและใบสมัครการประกวดทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected] ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เวลา 16.30 น. โดยสามารถดูรายละเอียดการจัดกิจกรรมดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ www.m-culture.go.th/surveillance และ Facebook Fanpage กองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ 1765 สายด่วนวัฒนธรรม