หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (1 พฤศจิกายน) อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2565
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมาวันเดียวกันนี้ ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ฉบับใหม่ที่เพิ่งผ่านการประชุมในช่วงเช้าแล้ว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 (คลิกอ่านกฎกระทรวงฉบับเต็ม: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/…/2565/A/068/T_0001.PDF)
สำหรับเหตุผลของการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ ระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตผลิตสุรา เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสุรา รวมทั้งปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการขอใบอนุญาต และการออกใบอนุญาตผลิตสุราทั้งการผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้าและการผลิตสุราเพื่อการค้าให้เกิดความชัดเจน อันจะทำให้การบริหารการจัดเก็บภาษี และการควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานการผลิตสุราเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
สำหรับสาระสำคัญของกฎกระทรวง มีใจความสรุปได้ว่า
- ปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตผลิต ‘กรณีสุราแช่’ เช่น น้ำตาลเมา อุ เบียร์ ไวน์ สปาร์กลิงไวน์ และสุราแช่พี้นเมือง โดยยกเลิกการกำหนดจำนวนทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
แต่ทั้งนี้ ผู้ขออนุญาตผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ยังต้องเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51
ในส่วนของ ‘กรณีสุรากลั่น’ เช่น สุราขาว สามารถเพิ่มขนาดโรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นเป็นขนาดกลางที่ใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า หรือใช้คนงานน้อยกว่า 50 คนได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ โดยจะทำให้กำลังการผลิตและคุณภาพดีขึ้น
- ยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำของโรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์ จากที่กำหนดกำลังต้องไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตรต่อปี และไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี และกำหนดให้เป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน หรือใช้เครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ที่มีมาตรฐานตามที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศ
ให้คงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกำลังการผลิตขั้นต่ำตามเดิม ในส่วนโรงอุตสาหกรรมผลิตสุรากลั่น ชนิดสุราพิเศษ เช่น วิสกี้ บรั่นดี และยิน ไม่ต่ำกว่า 30,000 ลิตรต่อวัน และโรงอุตสาหกรรมผลิตสุรากลั่นชนิดอื่นๆ เช่น สุรากลั่นชนิดสุราขาว และองค์การสุรา ไม่ต่ำกว่า 90,000 ลิตรต่อวัน รวมทั้งให้เพิ่มเติมให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
ทั้งนี้ ยังเพิ่มเติมขั้นตอนและวิธีการในการขออนุญาต โดยให้สามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้
- เปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาที่มีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์และนิติบุคคลสามารถขอใบอนุญาตผลิตสุราที่มิใช่เพื่อขาย แลกเปลี่ยน หรือดำเนินการอื่นใดโดยได้รับประโยชน์ตอบแทน และต้องมีปริมาณการผลิตสุราไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี
อย่างไรก็ดี สถานที่ผลิตสุราต้องมีพื้นที่เพียงพอที่จะผลิตสุราโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย เหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น และมิใช่สถานที่ผลิตสุราของผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุรารายอื่น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของการบริโภคสุราและมิติของสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี แก้กฎกระทรวงเกี่ยวกับการผลิตสุราว่า มติดังกล่าวไม่เข้าใจจุดประสงค์ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุราก้าวหน้า การที่มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. …. ปลดล็อกการผลิตเพี่อการค้าและการผลิตเพื่อบริโภค ควบคู่กับการคุ้มครองสินค้าสุราให้ได้คุณภาพ มีมาตรฐาน และความปลอดภัยต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม แทนที่จะมีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ชัดเจนว่าเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ
“แม้ว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะบอกว่าไม่ได้ปาดหน้า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ของพรรคก้าวไกล และอ้างว่าทำมานาน 6 เดือนก่อนสุราก้าวหน้าก็ตาม” พิธากล่าว
พิธากล่าวต่อไปว่า ตนต้องขอยืนยันว่าหากจะอ้างเหตุผลเช่นนี้ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส. พรรคก้าวไกล ทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว และทางพรรคได้ยื่นร่างกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ยังไม่ถูกยุบ และก่อนหน้าที่จะยื่นก็มีการเรียกกรมสรรพสามิตในกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเท่าพิภพเป็น กมธ. อยู่หลายครั้ง แต่ก็มีแต่คำสัญญาว่าจะแก้ไข แล้วเงียบหายไป จึงต้องใช้ช่องทางในเชิงนิติบัญญัติเพื่อแก้ปัญหา
“ชัดเจนว่าการมีมติ ครม. ก่อนการลงมติ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ออกมาเพียง 1 วัน เป็นการจงใจเพื่อให้ ส.ส. รัฐบาลอภิปรายเป็นเหตุผลกับสภาว่า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว เพราะกฎกระทรวงออกมาแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้ว พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ยังคงจำเป็นในการประกันหลักเสมอภาคในการแข่งขันทางธุรกิจของประชาชน เนื่องจากเป็นกฎหมายลำดับชั้นสูงกว่าที่แก้ยากกว่ากฎกระทรวง ซึ่งผมเองก็ได้เตรียมตอบทุกข้อสงสัยในสภาอยู่แล้ว” พิธากล่าว