ปัจจุบัน ‘พลังงานสะอาด’ หรือ ‘พลังงานสีเขียว’ (Green Energy) กลายเป็นหนึ่งในเทรนด์สำคัญที่ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่หันมาผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) และอุตสาหกรรมพลังงาน ที่เปลี่ยนมาผลิตพลังงานทดแทนกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลม
นอกจากนี้ยังมีความต้องการพลังงานอีกหนึ่งประเภทที่กำลังปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ พลังงานจากแร่ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก (Critical Minerals) ซึ่งประกอบด้วยนิกเกิล ลิเธียม (ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของแบตเตอรี่สมาร์ทโฟน หรือรถยนต์ไฟฟ้า) และโคบอลต์ เพราะแร่เหล่านี้มีคุณสมบัติในการให้พลังงานที่มีคาร์บอนต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดจากรายงาน Mine 2022: A critical transition ของ PwC ที่ระบุว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่ได้เปลี่ยนจากการพึ่งพาถ่านหิน ทองคำ และเหล็กเป็นหลัก เพราะกระแสของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับองค์กรและรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Model) สู่การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน (Energy Transition) ครั้งใหญ่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สุพัฒนพงษ์ ชูไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางพลังงานสะอาด-รถ EV เผยต่างชาติสนใจลงทุนใน EEC แตะ 9 แสนล้าน
- ทรัสส์ประกาศเร่งแก้ไขวิกฤตพลังงาน เชื่อมั่นนำพาสหราชอาณาจักรก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ ได้
- สุพันธุ์แนะรัฐลดราคาพลังงานแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ลดค่าครองชีพระยะยาว ชี้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นการซ้ำเติมประชาชน
ทั้งนี้ องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) คาดการณ์ว่า ความต้องการแร่ธาตุจากเทคโนโลยีพลังงานสะอาดจะสูงเกิน 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 147 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2050 ซึ่งเทียบเท่ากับรายได้ของตลาดถ่านหินรวมในปัจจุบัน
ด้วยความต้องการที่เพิ่มขึ้นของพลังงานจากแร่ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องสามารถสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ที่ย่อมจะส่งผลต่อต้นทุน การพัฒนาเหมือง และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อเปลี่ยนสู่การใช้พลังงานสะอาดในระยะยาว
รายงานของ PwC ฉบับนี้ได้วิเคราะห์ผลประกอบการของบริษัทเหมืองแร่ที่ใหญ่ที่สุด 40 อันดับแรก (Top 40) ของโลก พบว่า ในปี 2021 รายได้รวมของผู้ประกอบการเติบโตแข็งแกร่งที่ 32% ขณะที่กำไรพุ่งสูงถึง 127% และมีมูลค่าตลาดรวมกันเพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อน อย่างไรก็ดี การที่ทั่วโลกจะบรรลุเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้ อุตสาหกรรมเหมืองจะยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้องเร่งลงทุนและขยายกำลังการผลิตอย่างมีนัยสำคัญในระยะข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่น การผลิตโซลาร์ฟาร์มสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ จะต้องใช้แร่ธาตุมากกว่าการสร้างโรงงานถ่านหินในขนาดเท่ากันถึง 3 เท่า หรือการสร้างฟาร์มกังหันลม จะต้องใช้ทรัพยากรแร่มากกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ามากถึง 13 เท่า ไม่รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่ต่อไปจำเป็นจะต้องมีขนาดใหญ่และมีกำลังไฟมากกว่าในปัจจุบัน เป็นต้น
หากเรามาพิจารณาถึงการปรับตัวของอุตสาหกรรมเหมืองแร่จะพบว่า วันนี้มีผู้ประกอบการหลายรายหันไปจับมือกับโรงงานผลิตอุปกรณ์ดั้งเดิม และผู้ใช้งานจริง เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจเดิมให้มีความทันสมัย และปรับสู่โมเดลการทำธุรกิจระหว่างผู้ค้าถึงลูกค้าหรือผู้บริโภค (Business to Consumer: B2C) เพื่อปิดช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานในการเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาดของอุตสาหกรรม เช่น บริษัทขุดเหมืองของออสเตรเลีย Lake Resources จับมือกับบริษัทรถยนต์ ฟอร์ด มอเตอร์ ในการส่งมอบแร่ลิเธียมจำนวน 25,000 เมตริกตันต่อปี จากโครงการ Kachi ในประเทศอาร์เจนตินา ขณะที่บริษัท Vale S.A. ของบราซิล ก็ได้ตกลงที่จะส่งมอบนิกเกิลให้กับ Northvolt AB บริษัทผู้พัฒนาแบตเตอรี่สวีเดน และผู้ผลิตที่เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีลิเธียมไอออนสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า เป็นต้น
ทั้งนี้ รายงานของ PwC ฉบับนี้ยังได้นำเสนอ 4 กลยุทธ์สำคัญในการปรับตัวของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ไว้ได้อย่างน่าสนใจ ดังต่อไปนี้
- ขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดพลังงานจากแร่ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการควรมองหาแหล่งทรัพยากรที่จำเป็นต่อกระบวนการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด โดยแสวงหาโอกาสในการจับมือกับพันธมิตร หรือนำเทคโนโลยีที่ปล่อยคาร์บอนต่ำมาใช้ในกระบวนการผลิต และมีส่วนร่วมในการพัฒนาโซลูชันโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น
- ใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งทางการเงินขององค์กร ผู้ประกอบการธุรกิจเหมืองแร่ที่มีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง พร้อมแหล่งเงินทุนและกระแสเงินสดที่เพียงพอ จะสามารถเผชิญกับความผันผวนของตลาดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะสั้นและความไม่แน่นอนอื่นๆ ได้ดีที่สุด แต่ไม่ว่าผู้ประกอบการจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก ก็ควรหมั่นแสวงหาโอกาสในการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจในระยะยาว
- ทบทวนกลยุทธ์ในการควบรวม โดยต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ การขยายเข้าสู่ตลาดใหม่ และกลยุทธ์ในระยะยาว รวมถึงต้องคำนึงถึงปัจจัยความไม่แน่นอนทั้งในระยะสั้นและระยะกลางด้วย เช่น ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงจากการเกิดขึ้นของคู่แข่งใหม่ๆ เป็นต้น
- ลงทุนด้าน ESG สร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับสังคมและชุมชนในการรักษาสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ (Licence to Operate) รวมถึงมองหาโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพในที่สุด
อ้างอิง:
- Mining the (clean energy) gap, Strategy+business
- Mine 2022: A critical transition, PwC