×

พิพัฒน์ยืนยันไม่ได้แทรกแซงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท รัฐบาลไม่นิ่งเฉยขึ้นค่าแรง SMEs

โดย THE STANDARD TEAM
26.09.2024
  • LOADING...
ค่าแรงขั้นต่ำ

วันนี้ (26 กันยายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 27 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1) ที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เซีย จำปาทอง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ตั้งคำถามถึงความจริงใจในการขึ้นค่าแรง 400 บาทในวันที่ 1 ตุลาคม โดยมี พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้ตอบ

  

พิพัฒน์ชี้แจงว่า ตนเองมีความตั้งใจตามเจตนารมณ์มาตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี และไม่ได้มีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ตนเองยังมั่นใจและพร้อมที่จะเดินหน้านโยบายดังกล่าวต่อไป

 

พิพัฒน์ยังชี้แจงถึงกรณีที่ไม่สามารถประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดไตรภาคี) ชุดที่ 22 พิจารณาปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำได้นั้น ครั้งแรกคือเมื่อวันที่ 16 กันยายน ฝ่ายนายจ้างไม่เข้าประชุม เนื่องจากการจะประชุมไตรภาคีต้องประกอบด้วยฝ่ายนายจ้าง 5 คน ฝ่ายลูกจ้าง 5 คน และฝ่ายรัฐอีก 5 คน หากขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปก็ไม่สามารถเปิดประชุมและลงมติได้

 

ส่วนการประชุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 20 กันยายน พิพัฒน์ไม่ได้ปฏิเสธว่าเป็นเทคนิคทางการเมือง เนื่องจากในวันดังกล่าวฝ่ายนายจ้างมาครบ 5 คน ส่วนฝ่ายลูกจ้างขาดประชุม 2 คน และตัวแทนของธนาคารแห่งประเทศไทย 1 คน ขณะเดียวกันอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นตัวแทนของกระทรวงแรงงานก็ขาดประชุมด้วย หากมีการประชุมก็เชื่อว่าไม่สามารถโหวตได้ รวมถึงหากมีประชุมโดยขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะสร้างความเสียหายได้ แต่ขอยืนยันว่าตนเองไม่สามารถแทรกแซงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ได้

 

เซียถามต่อว่า รัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ว่าปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ถือว่าเป็นการแทรกแซงหรือไม่ นอกจากนี้ยังให้สัมภาษณ์ว่า จะปรับขึ้นค่าแรงเฉพาะผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป ทั้งนี้ในการปรับค่าแรงขั้นต่ำเมื่อเดือนเมษายนมีการปรับเฉพาะบางเขต โดยแต่ละเขตก็มีค่าแรงขั้นต่ำไม่เท่ากัน เป็นแนวคิดที่ไม่ได้สร้างความเสมอภาคให้แก่ประชาชนผู้ใช้แรงงาน มีค่าอาหาร ค่าครองชีพ ให้มีค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทให้ครบทุกพื้นที่

 

พิพัฒน์ชี้แจงว่า การให้สัมภาษณ์สื่อถือเป็นการให้นโยบายแก่ปลัดกระทรวงแรงงานในการที่จะนำเรื่องไปหารือในบอร์ดไตรภาคี หากตนเองแทรกแซงคงพูดก่อนการประชุมไปแล้ว สำหรับหลักเกณฑ์การขึ้นค่าแรงเฉพาะผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป โดยไม่คำนึงถึงผู้ประกอบการขนาดเล็กนั้น เนื่องจากตนเองทราบถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ

 

ส่วนผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีลูกจ้างจำนวนต่ำกว่า 200 คนนั้น ครองตลาดแรงงานถึง 90% แทบจะอยู่ไม่ได้ เนื่องจากการต่อสู้ทางการค้าที่รุนแรง กระทรวงการคลังและกระทรวงแรงงานจะหาแนวทางในการช่วยกู้สถานะทางการเงินให้มีความแข็งแรง เพื่อรองรับการปรับค่าแรงในครั้งต่อๆ ไป โดยมองว่าหากประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาทในเวลานี้ จะทำให้มีผู้ใช้แรงงานอีกหลายแสนชีวิตไม่มีงานทำ ซึ่งตนเองไม่พร้อมที่จะต้องรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ทุกคนที่อยู่ในภาคแรงงานนั้นทราบดีว่าจุดที่เหมาะสมที่สุดอยู่ในจุดใด แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะไม่มีนโยบายขึ้นค่าแรงสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กในปีนี้ โดยช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงปี 2568 จะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามข้อมูลที่อนุกรรมการไตรภาคีในแต่ละจังหวัดได้ส่งข้อมูลมา

 

เซียถามต่อว่า รัฐบาลมีแนวคิดที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ถึง 600 บาท ผ่านกลไกของการประชุมไตรภาคีในปี 2570 จึงอยากให้รัฐแจกแจงไทม์ไลน์การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ทราบได้หรือไม่ว่าแต่ละช่วงจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างไร

 

พิพัฒน์กล่าวว่า ณ วันนี้ ตนเองมีความมุ่งมั่นโดยก้าวแรกให้จบที่ 400 บาทเสียก่อน เมื่อสามารถประกาศค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทได้ ส่วนจะแจกแจงไทม์ไลน์ในการประกาศขึ้นค่าแรงอีกเมื่อไรนั้น หากตนเองจะชี้แจงไทม์ไลน์โดยไม่ดูสถานะของผู้ประกอบการหรือสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เมื่อประกาศออกไปก็เป็นเพียงลมปาก แต่หากจะทำให้สำเร็จอาจไม่ถึง 600 บาท แต่ขอให้มีความก้าวหน้าในการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่แรงงานทุกคนต้องอยู่ให้ได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X