×

‘นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ’ การเมืองภาคแรงงานกับความท้าทายที่ยังไม่ทั่วถึง

โดย THE STANDARD TEAM
03.07.2025
  • LOADING...
แรงงานไทยในกลุ่มโรงแรมและบริการรับค่าแรงขั้นต่ำใหม่ 400 บาท เริ่ม 1 กรกฎาคม 2568

นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหาเสียงแทบทุกครั้งในการเลือกตั้ง สะท้อนถึงความพยายามของพรรคการเมืองที่จะตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน 

 

แม้ในความเป็นจริงแล้ว การผลักดันนโยบายนี้ให้สำเร็จได้กลับทำได้เพียงบางรัฐบาลเท่านั้น

 

ประกาศค่าแรงขั้นต่ำปี 2568: ปรับเพิ่ม 400 บาท แต่ไม่ทั่วถึง

 

ล่าสุด คณะกรรมการค่าจ้างได้ประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 14) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไปโดยมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ในบางพื้นที่และบางกลุ่มอาชีพ ดังนี้:

 

  • กรุงเทพมหานครปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ครอบคลุมทุกอาชีพ
  • ต่างจังหวัดปรับค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวัน เฉพาะจังหวัดภูเก็ต, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • ทุกพื้นที่ ปรับค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวัน เฉพาะบางกลุ่มอาชีพ ได้แก่ โรงแรมตั้งแต่ระดับ 2-4 ดาวขึ้นไป และ สถานบริการตามกฎหมาย

 

ความสำเร็จบางส่วนของรัฐบาลแพทองธารกับคำสัญญาที่รอคอย

 

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 นี้ ถือเป็นความสำเร็จเชิงนโยบายบางส่วนของรัฐบาลแพทองธาร เนื่องจากพรรคเพื่อไทยเคยใช้ประเด็นการเพิ่มรายได้ให้ภาคแรงงานเป็นนโยบายหาเสียงหลัก โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันภายในปีแรกที่เข้ามาบริหารประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม นโยบายสำคัญอื่นๆ ที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้และยังไม่บรรลุผล

 

  • การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570
  • การปรับเงินเดือนเริ่มต้นของบัณฑิตจบใหม่และข้าราชการเป็น 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี 2570

 

ย้อนรอยค่าแรงขั้นต่ำ 1 ทศวรรษ จากจุดสูงสุดสู่ช่วงชะลอตัว

 

THE STANDARD พาย้อนดูพัฒนาการการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความผันผวนของนโยบายนี้ในแต่ละยุคสมัย ดังนี้

 

  • ปี 2558: 300 บาท (ทุกพื้นที่)
  • ปี 2559: 300 บาท (ทุกพื้นที่)
  • ปี 2560: 300-310 บาท
  • ปี 2561: 308-330 บาท
  • ปี 2562: 308-330 บาท
  • ปี 2563: 313-336 บาท
  • ปี 2564: 313-336 บาท
  • ปี 2565: 328-354 บาท
  • ปี 2566: 328-354 บาท
  • ปี 2567: 330-370 บาท
  • ปี 2568: 337-400 บาท 

 

อ้างอิง : กระทรวงแรงงาน

 

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งประวัติศาสตร์ที่สูงที่สุด เกิดขึ้นในปี 2554 ภายใต้รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมีการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ จากเดิมที่อยู่ในช่วง 159-221 บาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นวันละ 79-141 บาทภายในปีแรกของการบริหาร

 

แต่หลังจากเกิดการรัฐประหารในปี 2557 ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การปรับขึ้นค่าแรงกลับชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด 

 

ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มีการปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นเพียง 28-54 บาทเท่านั้น และไม่สามารถดำเนินนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ได้สำเร็จตามที่พรรคพลังประชารัฐเคยเสนอไว้ในปี 2562 คือ การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาทต่อวัน รวมถึงเงินเดือนปริญญาตรี 20,000 บาท และอาชีวะ 18,000 บาท

นอกจากต้องพึ่งพาการเมือง และสภาพเศรษฐกิจแล้ว อีกปัจจัยที่ทำให้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำผลักดันได้ยาก คือ เกมการเมืองของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งประกอบไปด้วย ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐ ต้องมีเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 เพื่อปรับตัวเลข แต่ที่ผ่านมาองค์ประชุมมักล่ม หรือเสียงไม่เพียงพอเสมอ

 

‘ดาบสองคม’ ผลกระทบเมื่อขึ้นค่าแรงเฉพาะพื้นที่

 

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบเฉพาะเจาะจงพื้นที่และกลุ่มอาชีพย่อมส่งผลทั้งดีและเสียต่อภาคส่วนต่างๆ

 

  ผลดี :  

 

  • แรงงานในพื้นที่เฉพาะและกิจการที่กำหนด มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
  • ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยในกลุ่มอาชีพโรงแรมและสถานบริการมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยลดช่องว่างทางรายได้ในกลุ่มนี้
  • ส่งเสริมศักดิ์ศรีของแรงงาน ทำให้แรงงานรู้สึกมีคุณค่าและได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมมากขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น

 

  ผลเสีย :  

 

  • ต้นทุนนายจ้างเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกิจการที่ใช้แรงงานจำนวนมากในจังหวัดและกลุ่มอาชีพที่กำหนด
  • ความเสี่ยงในการเลิกจ้างงานหรือลดการจ้างงาน หากกิจการไม่สามารถรองรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น หรือมีความสามารถในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทดแทนแรงงาน
  • สร้างความเหลื่อมล้ำใหม่ การขึ้นค่าแรงแบบไม่เท่าเทียมกันอาจสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่และกลุ่มอาชีพที่ได้รับการปรับค่าแรงกับที่ไม่ได้รับการปรับ

 

เสียงจากนักวิชาการ ขึ้นค่าแรง ‘ทั่วประเทศ’ เพื่อความเป็นธรรม

 

รศ. อนุสรณ์ ธรรมใจ นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์กับ Thai PBS โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เป็นอัตราเดียวทั่วประเทศเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน

 

“การให้มีระบบค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ เป็นสิ่งที่ดีกับผู้ใช้แรงงาน เพราะเนื่องจากว่าถ้าเราให้การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำแล้วแต่พื้นที่ บางพื้นที่ไม่มีตัวแทนลูกจ้างที่เข้มแข็ง…รัฐบาลไทยควรจะรับรองอนุมาตราองค์การแรงงานระหว่างประเทศ คือ จะทำให้องค์กรแรงงาน หลายองค์กรของลูกจ้างมีความเข้มแข็ง จะทำให้เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ กระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระดับสถานประกอบการดีขึ้นอย่างชัดเจน” รศ. อนุสรณ์ กล่าว

 

การปรับขึ้นค่าแรงในอัตราเดียวกันทั่วประเทศจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขาดตัวแทนลูกจ้าง ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงมักเป็นไปได้ยากและต้องผ่านการตัดสินใจจากนายจ้างเป็นหลัก หากรัฐบาลเข้ามาประกาศปรับขึ้นค่าแรงโดยตรง จะทำให้แรงงานมีโอกาสได้รับค่าจ้างสูงเพิ่มขึ้น

 

สัญญาที่ยังไม่สมบูรณ์?

 

แม้ว่านโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมักถูกนำมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งและทำได้จริงเพียงบางรัฐบาลเท่านั้น ในขณะที่ค่าครองชีพกลับแพงขึ้นทุกวัน

 

อย่างไรก็ตาม การปรับค่าแรงขั้นต่ำในปี 2568 แม้จะไม่ครอบคลุมทั่วพื้นที่ แต่ก็ถือเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลเริ่มเดินหน้าทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน แม้ยังไม่เต็มรูปแบบตามที่หลายฝ่ายคาดหวัง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising