×

จับตาแนวโน้มค่าแรงปี 2023 หลังวิกฤตเงินเฟ้อปี 2022 กัดกร่อน ‘ค่าจ้างที่แท้จริง’ แรงงานทั่วโลกติดลบครั้งแรกในรอบ 100 ปี

29.12.2022
  • LOADING...
ค่าแรงปี 2023

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • ค่าจ้างที่แท้จริงรายเดือนทั่วโลก ช่วงครึ่งแรกของปี 2022 ลดลง 0.9% นับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 100 ปี เนื่องจากวิกฤตเงินเฟ้อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
  • โดยภาวะเงินเฟ้อได้ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยมากกว่า เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยใช้รายได้ส่วนใหญ่ไปกับสินค้าและบริการที่จำเป็น ซึ่งมักมีราคาสูงขึ้นมากกว่าสินค้าที่ไม่จำเป็น
  • ILO แนะการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม และการเจรจาต่อรองสามารถช่วยให้แรงงานบรรลุการปรับค่าจ้างอย่างเพียงพอในช่วงวิกฤตได้
  • ขณะที่ผลการศึกษาคาด ค่าจ้างแรงงานในเอเชียจ่อสูงขึ้นปีหน้า เนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ

ปี 2022 นับเป็นปีที่ยากลำบากที่สุดของแรงงานทั่วโลก เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานทั่วโลกลดลงเป็นครั้งแรกในรอบศตวรรษ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความหวังว่าเงินเฟ้อจะผ่อนคลายลงในปี 2023 ทำให้แรงงานในเอเชียคาดการณ์ว่า ค่าจ้างที่แท้จริงจะเพิ่มขึ้น ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

 

โดยตามรายงาน ‘ค่าจ้างทั่วโลกปี 2022-2023: ผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อและโควิดต่อค่าจ้างและกำลังซื้อ’ ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่เปิดเผยเมื่อเดือนพฤศจิกายน ระบุว่า ค่าจ้างที่แท้จริงรายเดือนทั่วโลก หรือค่าจ้างที่หักลบผลกระทบของเงินเฟ้อเข้าไปแล้วในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 ลดลง 0.9% นับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 100 ปี นอกจากนี้ วิกฤตดังกล่าวยังทำให้กำลังซื้อของชนชั้นกลางลดลง และส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ‘อย่างหนัก’


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ด้าน Gilbert F. Houngbo ผู้อำนวยใหญ่ของ ILO ระบุว่า วิกฤตระดับโลกต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่นำไปสู่การลดลงของค่าจ้างที่แท้จริง และทำให้แรงงานหลายสิบล้านคนต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้น

 

“ความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ และความยากจนจะเพิ่มขึ้น หากทางการไม่รักษากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อยไว้” Houngbo กล่าว

 

ผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อมากกว่า

โดยรายงานแสดงให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยใช้รายได้ส่วนใหญ่ไปกับสินค้าและบริการที่จำเป็น ซึ่งมักมีราคาสูงขึ้นมากกว่าสินค้าที่ไม่จำเป็น

 

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อยังกัดกร่อนกำลังซื้อของผู้รับค่าแรงขั้นต่ำอีกด้วย โดยรายงานระบุว่า จากการประมาณการแสดงให้เห็นว่า แม้จะมีการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย แต่การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อได้กัดกร่อนค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงในหลายประเทศ

 

ILO แนะแนวทางรักษามาตรฐานการครองชีพของประชาชน

การวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องใช้มาตรการเชิงนโยบายที่ออกแบบมาอย่างดี เพื่อช่วยรักษากำลังซื้อและมาตรฐานการครองชีพของแรงงานและครอบครัว

 

โดย ‘การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม’ อาจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจาก 90% ของประเทศสมาชิก ILO มีระบบค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว นอกจากนี้ การเจรจาทางสังคมแบบไตรภาคีที่แข็งแกร่ง และการเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่ม (Collective Bargaining) ยังสามารถช่วยให้แรงงานบรรลุการปรับค่าจ้าง ‘อย่างเพียงพอ’ ในช่วงวิกฤตได้

 

โดย Rosalia Vazquez-Alvarez หนึ่งในผู้เขียนรายงานกล่าวว่า การสู้กับการลดลงของค่าจ้างที่แท้จริงสามารถช่วยรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูระดับการจ้างงานไปสู่ก่อนเกิดโรคระบาดได้ด้วย

 

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่สามารถบรรเทาผลกระทบของวิกฤตค่าครองชีพต่อครัวเรือนได้ ได้แก่ มาตรการที่กำหนดเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม เช่น มาตรการแจกเงินแก่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย เพื่อช่วยซื้อสินค้าที่จำเป็น หรือการลดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าจำเป็นเพื่อลดภาระให้แก่ครัวเรือน ขณะเดียวกันก็ช่วยลดอัตราเงินเฟ้อไปในตัวด้วย

 

ข่าวดี! ค่าแรงในเอเชียจ่อพุ่งในปี 2023

การศึกษาล่าสุดจาก Aon ผู้ให้บริการด้านการเงิน ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก คาดการณ์ว่า เงินเดือนของแรงงานในเอเชียอาจพุ่งสูงขึ้นในปี 2023 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ท่ามกลางปัญหาขาดแคลนแรงงาน

 

โดยผลการศึกษาพบว่า ตั้งแต่อินเดียไปจนถึงเวียดนาม มีนายจ้างจำนวนมากถูกบังคับให้เพิ่มค่าตอบแทน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะสูญเสียแรงงาน และความสามารถในการแข่งขัน

 

จากการสำรวจบริษัทกว่า 700 แห่งในอาเซียนพบว่า งบประมาณเงินเดือนพนักงาน (Salary Budget) หรือจำนวนเงินทั้งหมดที่บริษัทจัดสรรเพื่อจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน ในปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.9% ในเวียดนาม, 6.8% ในอินโดนีเซีย, 6% ในฟิลิปปินส์, 5.1% ในมาเลเซีย, 5.1% ในไทย และ 4.7% ในสิงคโปร์

 

สอดคล้องกับผลการสำรวจ โดยบริษัทที่ปรึกษา Mercer ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่พบสัญญาณการปรับขึ้นของค่าจ้างในปีหน้าทั่วทั้งตลาดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เช่น โดยบริษัทต่างๆ ที่ตอบแบบสำรวจคาดการณ์ว่า เงินเดือนโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.8% ในปี 2023 หลังจากเพิ่มขึ้นไปแล้ว 4.6% ในปี 2022

 

นอกจากนี้ Aon ยังคาดว่า การปรับขึ้นค่าจ้างจะเป็นไปตามการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2023 นับเป็นการเพิ่มความหวังว่า รายได้ที่แท้จริงของแรงงานในเอเชียจะเพิ่มขึ้น หลังจากเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นในปีนี้

 

สอดคล้องการสำรวจของ Mercer ยังแสดงให้เห็นว่า ค่าจ้างในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกน่าจะเพิ่มขึ้นแซงหน้าคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2023 ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย ญี่ปุ่น และจีน ตัวอย่างเช่น เงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานในอินเดียคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8.79% ในปีหน้า นับว่าสูงกว่าคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของอินเดียในปีหน้าที่ 5.1% 

 

จับตาแนวโน้มค่าแรงของแรงงานไทย

ตามข้อมูลจากรายงาน Salary Trends Survey จาก ECA International บริษัทที่ปรึกษาด้านแรงงาน พบว่า เงินเดือนที่แท้จริงของมนุษย์เงินเดือนในไทยถูกคาดการณ์ว่าจะลดลง 1.8% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าเงินเดือนที่แท้จริงของไทยน่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อน่าจะลดลง

 

ทั้งนี้ ตามการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อไทยปีหน้าน่าจะลดลงเหลือ 3% จากระดับราว 6.3% ในปีนี้ ใกล้เคียงกับคาดการณ์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยปีหน้าจะลดลงเหลือ 2.5-3.5% จากระดับราว 6.3-6.8% ในปีนี้

 

โดยตามรายงานภาวะสังคมไทย ประจำไตรมาสที่ 3 ของสภาพัฒน์ ระบุว่า ค่าจ้างแรงงานภาพรวมในไตรมาสที่ 3 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 15,213 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มสูงขึ้น 3.8% อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างที่แท้จริงในภาพรวมหดตัวถึง 3.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่า แม้ค่าจ้างจะสูงขึ้น แต่ไม่ทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายของแรงงานเพิ่มขึ้น

 

รายงานยังระบุอีกว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ภาคธุรกิจท่ีเก่ียวข้องกับการท่องเที่ยวมีความต้องการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของสมาคมโรงแรมไทยเดือนกันยายนพบว่า แม้ภาคการท่องเที่ยวจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานถึง 77% สะท้อนว่าปัญหาขาดแคลนแรงงานดังกล่าวอาจทำให้ค่าจ้างในภาคส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในปีหน้า ท่ามกลางคาดการณ์ของหลายฝ่ายที่ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยปีหน้าน่าจะทะลุ 20 ล้านคน (ไม่รวมนักท่องเที่ยวชาวจีน)

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising