กรมสรรพากรเผย การเก็บภาษีส่วนเพิ่มกลุ่มบริษัทข้ามชาติขั้นต่ำ 15% กระทบบริษัท MNEs 1,100 กลุ่มบริษัท แต่จะช่วยเพิ่มการจัดเก็บภาษีของสรรพากรได้ปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท
วันนี้ (17 มกราคม) ภาณุวัฒน์ เหลืองวิไล รองอธิบดีและโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 (Top-Up Tax) จากกลุ่มบริษัทข้ามชาติ (Multinational Enterprises: MNEs) ให้เสียภาษีขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) ในอัตรา 15% จะมีผลกระทบต่อ 1,100 กลุ่มบริษัท โดยแบ่งเป็น บริษัทนิติบุคคลข้ามชาติ (Multinational Enterprises: MNEs) สัญชาติไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ 100 กลุ่มบริษัท และบริษัทนิติบุคคลข้ามชาติจากต่างประเทศที่ลงทุนในประเทศไทย 1,000 กลุ่มบริษัท
ทั้งนี้ พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 ดังกล่าวกำหนดให้กลุ่ม MNEs ขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย (ไม่ว่ากลุ่ม MNEs ของไทยที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือกลุ่ม MNEs ของต่างประเทศที่ลงทุนในประเทศไทย) ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร อย่างน้อย 2 ใน 4 รอบระยะเวลาบัญชี ก่อนหน้ารอบระยะเวลาบัญชีที่พิจารณาหน้าที่การเสียภาษีส่วนเพิ่ม ต้องเสียภาษีในอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate) ในอัตรา 15% โดยมีผลใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
โฆษกกรมสรรพากรยังคาดว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีได้ปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท แต่คาดว่าจะมีรายได้เข้ามาครั้งแรกประมาณเดือนมิถุนายน 2570 เนื่องจากหลังจากรอบระยะเวลาบัญชีปี 2568 จะมีเวลาดำเนินการได้อีก 18 เดือน
ทั้งนี้ ภายใต้พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 แบ่งวิธีการจัดเก็บ Top-Up Tax ออกเป็น 3 วิธี ได้แก่
- กฎการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มภายในประเทศ (Qualified Domestic Minimum Top-Up Tax: QDMTT) โดยวิธีจัดเก็บนี้จะจัดเก็บบริษัทลูกของ MNEs ต่างชาติที่ตั้งอยู่ในไทย บริษัทลูกของ MNEs สัญชาติไทยที่ตั้งอยู่ในไทย และบริษัทแม่ของ MNEs ไทย
- กฎการรวมเงินได้ (Income Inclusion Rule: IIR) โดยวิธีจัดเก็บนี้จะกระทบบริษัทแม่ลำดับสูงสุด (Ultimate Parent Entity: UPE) ของ MNEs สัญชาติไทย หากประเทศที่บริษัทลูกตั้งอยู่ไม่มีการจัดเก็บ QDMTT
- กฎการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มคงเหลือ (Under-Taxed Payments Rule: UTPR) โดยวิธีจัดเก็บนี้จะกระทบบริษัทลูกของ MNEs ต่างชาติที่ตั้งอยู่ในไทย หากประเทศที่บริษัทในเครือตั้งอยู่ไม่มีการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม
ดังนั้นจากวิธีการจัดเก็บ Top-Up Tax ทั้ง 3 วิธีสะท้อนว่า ยิ่งไทยมีกฎหมายดังกล่าวเร็ว ก็ยิ่งสามารถรักษาประโยชน์แห่งชาติได้มาก เนื่องจากหากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม ก็จะสูญเสียรายได้ภาษีส่วนเพิ่มที่ควรจัดเก็บได้ไป
ภาพ: charnsitr / Shutterstock