วันนี้ (9 มกราคม) เกิดเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง หลังเว็บไซต์วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ( วปอ.) ประกาศรายชื่อผู้ที่มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ในหลักสูตรผู้บริหารยุคใหม่ในอนาคต วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ.บอ. หรือที่เรียกว่า หลักสูตร ‘มินิ วปอ.’ ซึ่งปรากฏชื่อของ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นหนึ่งในรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ รอเข้ารับการสัมภาษณ์ในวันที่ 24 มกราคมนี้
การวิพากษ์วิจารณ์ส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตไปที่ชื่อของแพทองธาร ว่าจะได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าศึกษาหรือไม่นั้น สื่อมวลชนได้มีการตรวจสอบไปยังแหล่งข่าวภายใน วปอ. ได้รับการยืนยันว่าหลักสูตรดังกล่าวไม่ได้เปิดขึ้นมาเพื่อรองรับแพทองธารตามที่มีการตั้งข้อสังเกต เพราะการจัดทำหลักสูตรเพื่อเปิดรับบุคคลเข้ารับการศึกษาต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ และผ่านการพิจารณาจากสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (สปท.) ก่อนเข้าสู่ความเห็นชอบจากสภา วปอ. ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ทุกอย่างทำตามระเบียบ และผ่านการพิจารณามาร่วม 3 ปี ตั้งแต่ยุคที่ พล.อ. พรพิพัฒน์ เบญญศรี อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) แต่ยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องของหลักสูตรและข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ แต่มาเดินหน้าต่อในยุคที่ พล.อ. ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนปัจจุบัน
สำหรับการเปิดรับสมัครเข้าหลักสูตรมินิ วปอ. จะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มงาน กลุ่มการทหาร กลุ่มตำรวจ กลุ่มข้าราชการพลเรือน กลุ่มนักธุรกิจ และกลุ่มการเมือง จะให้ผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติทั้งหมด 492 คน เข้ามาสอบสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 200 คน จากนั้นจะประกาศรายชื่อ และเปิดภาคการศึกษาในเดือนเมษายน ระยะเวลาของการศึกษาทั้งหมด 6 เดือน ในส่วนข้าราชการจะมีการอุดหนุนงบประมาณให้ ส่วนภาคเอกชนจะต้องจ่ายเงินในการเข้ารับการศึกษาเอง
ขณะที่ ‘วปอ.บอ. 67’ จะถือเป็นรุ่นที่ 1 หรือรุ่นแรก ผู้เข้ารับการศึกษาต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ ได้แก่ อายุตั้งแต่ 35-42 ปีในภาคราชการ มีทั้งข้าราชประจำ และข้าราชการการเมือง ส่วนข้าราชการทหาร-ตำรวจ ทหารต้องมีชั้นยศ พ.อ. – พ.อ. (พิเศษ) หรือเทียบเท่า ตำรวจต้องมีชั้นยศ พ.ต.อ. – พ.ต.อ. (พิเศษ) หรือเทียบเท่า และต้องจบหลักสูตรเสนาธิการทหารของโรงเรียนเสนาธิการทหารเหล่าทัพ เป็นต้น
ส่วนภาคเอกชนต้องเป็นนักธุรกิจ เป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ของหน่วยงาน ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการโรงงาน หรือผู้จัดการภูมิภาค หรือเทียบเท่าบุคคลทั่วไปคือ บุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมายมีชื่อเสียงในด้านความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเผยแพร่เรื่องราวต่างๆ บนโซเชียลมีเดียมีผู้ติดตามและเป็นที่รู้จักจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเจเนอเรชัน Y, Z และ Alpha สร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ดีต่อสังคม เช่น นักแสดงในวงการบันเทิง นักเขียนในวงการหนังสือ นักจัดรายการ โปรแกรมเมอร์ในวงการไอที ที่ปรึกษาในวิชาชีพต่างๆ เช่น ที่ปรึกษากฎหมายแรงงาน โดยมีประสบการณ์หรือทำงานเกี่ยวข้องกับความมั่นคงระดับชาติอย่างน้อย 3 ปี เป็นต้น
เมื่อกางดูรายชื่อพบว่ามีการสมัครเข้าอบรมหลักสูตร วปอ.บอ. รุ่นที่ 1 จำนวนมาก แต่สามารถสอบเข้าสู่รอบสอบสัมภาษณ์ได้ทั้งสิ้น 492 คน โดยมีทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน นักการเมือง และนักธุรกิจ เช่น ชัยชนะ เดชเดโช สส.ประชาธิปัตย์, รัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกรัฐบาล, คณาพจน์ โจมฤทธิ์ หรือ เอิง ทีมงานนายกฯ
นอกจากนั้นยังมีลูกหลานคนดังและทายาทนักการเมืองหลายคน เช่น พชร นริพทะพันธุ์, ศิรินันท์ ศิริพาณิชย์, ภัทรพงศ์ ภัทรประสิทธิ์, อาทิตย์ หวังศุภกิจโกศล, ศศิยาพัชร์ เลาหพงศ์ชนะ, พิมพ์ศิริ จีนะวิจารณะ, พสุ ลิปตพัลลภ, ณัฐธิดา เทพสุทิน, สงกรานต์ เตชะณรงค์, รวิศ สอดส่อง, พัฒนา พร้อมพัฒน์, ปิยะชาติ อิศรภักดี เป็นต้น