โซเชียลมีเดียทางเลือกแทนที่ Facebook และ Twitter กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมาแล้วหลายครั้ง ล่าสุดก็มีประเด็นนี้ขึ้นมาอีก หลังจาก Twitter เปิดแอ็กเคานต์ Twitter Thailand และมีการพูดถึงความร่วมมือกับภาครัฐของไทย ไม่รวมการปรับนโยบายความเป็นส่วนตัวใหม่ที่ Twitter จะแชร์ IP ให้กับพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ (หลักๆ คือเพื่อยิงโฆษณาโดยตรง) จนทำให้ผู้ใช้งานระแวงว่าอาจถูก Twitter ส่ง IP ไปให้กับรัฐบาล
ที่ผ่านมา Twitter เป็นแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวและการไม่แสดงตัวตน (ไม่ต้องยืนยันชื่อจริงเหมือน Facebook) ทำให้ท่าทีล่าสุดของ Twitter สร้างความกังวลให้กับผู้ใช้งานจำนวนมาก และเริ่มหาทางเลือกการใช้งานแพลตฟอร์มอื่นๆ กันแล้ว
ชื่อของ ‘Minds’ โซเชียลมีเดียที่เน้นจุดขายด้านความเป็นส่วนตัวและความโปร่งใสเรื่องข้อมูลจึงถูกแนะนำกันปากต่อปาก ที่น่าสนใจคือวิธีคิดในการสร้าง Minds ที่พยายามจะเป็นด้านกลับของ Facebook ทั้งในแง่ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและโมเดลธุรกิจ
แต่คำถามคือถ้าเราหนี Twitter เพราะการแชร์ข้อมูลให้ภาครัฐแล้ว Minds ปลอดภัยกว่าจริงหรือ?
Minds โซเชียลมีเดียที่เน้นความโปร่งใส เปิดแม้กระทั่งซอสโค้ด
Minds นิยามตัวเองว่าเป็นโซเชียลมีเดียคริปโตแบบไม่รวมศูนย์ (Decentralized) ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2011 โดย บิล ออตแมน ที่ตอนนี้เป็นซีอีโอร่วมกับเพื่อนอีก 3 คน ก่อนจะเริ่มให้บริการในปี 2015
ความไม่รวมศูนย์ของ Minds เป็นวิธีคิดด้านกลับของ Facebook หรือแม้แต่ Twitter เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นความไร้ตัวตนของผู้ใช้งาน เน้นความเป็นส่วนตัว ไม่มีการเซนเซอร์และมีใครมาคอยควบคุมดูแลเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม (ไม่ว่าจะรัฐหรือบริษัท) เป็นแพลตฟอร์มที่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ ข้อยกเว้นมีเพียงต้องไม่เป็นคอนเทนต์ผิดกฎหมายเท่านั้น (เช่น ยาเสพติด, ก่อการร้าย, ค้ามนุษย์)
เมื่อเน้นเสรีภาพและไม่ถูกควบคุมเนื้อหาโดยผู้มีอำนาจ คำถามที่ตามมาคือแล้วแบบนี้ใครจะโพสต์อะไรก็ได้เลยหรือ?
อันที่จริง Minds ยังคงมีระบบควบคุมเนื้อหาอยู่ เพียงแค่ผู้ควบคุมไม่ใช่ Minds แต่จะเป็นผู้ใช้งานนี่ล่ะที่ตรวจสอบกันเองด้วยระบบลูกขุน เมื่อคอนเทนต์ใดถูกรายงาน ระบบจะสุ่มผู้ใช้งาน Minds ขึ้นมา 12 คนที่ไม่เคยมีส่วนร่วมหรือติดตาม (Subscribe คล้ายการ Follow บน Twitter) เจ้าของโพสต์ที่ถูกรายงาน เพื่อโหวตตัดสินว่าโพสต์ดังกล่าวสมควรถูกลบหรือไม่อย่างไร
นอกจากแนวคิดเรื่องความไม่รวมศูนย์ในเชิงอำนาจและการจัดการคอนเทนต์แล้ว ซอฟต์แวร์เบื้องหลัง Minds ยังเป็นโอเพ่นซอส กล่าวคือเปิดซอสโค้ดให้สาธารณะเข้าไปดูได้ว่าแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีหลังบ้านทำงานอย่างไร และบริษัทนำข้อมูลผู้ใช้งานไปใช้อย่างไรได้ด้วย
โมเดลธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเงินดิจิทัล ไม่ใช่โฆษณาโดยอิงจากข้อมูลผู้ใช้งาน
นอกจากความไม่รวมศูนย์ สกุลเงินดิจิทัลหรือเงินคริปโตก็เป็นอีกหนึ่งจุดขายและตัวขับเคลื่อนธุรกิจของ Minds ที่ถูกเรียกตรงตัวว่า ‘Minds Token’ ซึ่งรันอยู่บนเครือข่ายบล็อกเชนที่ชื่อว่า Ethereum และใช้มาตรฐาน ERC20 ในการออกโทเคน
โทเคนจึงเป็นสกุลเงินหลักที่ใช้บนแพลตฟอร์ม ผู้ใช้งานสามารถได้โทเคนมาจากรางวัลผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เขียนโพสต์แล้วมีคนโหวตให้เยอะระดับหนึ่ง, เชิญชวนเพื่อนมาใช้ Minds, ไปจนถึงการค้นพบบั๊กหรือช่องโหว่ในซอฟต์แวร์ หรือจะซื้อเอาก็ได้ด้วยการใช้เงินจริงหรือใช้เงินคริปโตสกุล ETH
โทเคนที่ได้มาสามารถนำไปใช้ในการบูสต์หรือโฆษณาโพสต์นั้นให้คนอื่นที่ไม่ใช่ผู้ติดตามได้เห็น โดยกลไกการแสดงผลบูสต์ของ Minds จะไม่ใช้อัลกอริทึมในการหาเป้าหมายเพื่อแสดงผล (แบบที่ Facebook หรือ Twitter ทำ Target Ads) แต่จะแสดงผลแบบสุ่มแทน
นอกจากใช้บูสต์แล้ว โทเคนยังสามารถใช้จ่ายเป็นทิปให้กับผู้ใช้งานคนอื่นที่เราถูกใจ หรือแม้กระทั่งจ่ายคืนให้ Minds เพื่ออัปเกรดแอ็กเคานต์เป็นแบบ Plus / Pro (จ่ายเป็นเงินจริงก็ได้) เพื่อเพิ่มฟีเจอร์บางอย่าง เช่น ซ่อนโฆษณา (คอนเทนต์บูสต์), เปลี่ยนแอ็กเคานต์ตัวเองให้เป็นแบบ Paywall คนที่จะอ่านคอนเทนต์ได้จะต้องจ่ายโทเคนเพื่อเป็นสมาชิก (Subscribed) เป็นต้น
สรุปคือโมเดลธุรกิจของ Minds อาศัยการหาเงินจากการแลกเปลี่ยนเงินจริงและเงินคริปโตมาเป็น Minds Token ไม่รวมกรณีที่วันหนึ่ง Minds Token อาจมีมูลค่าขึ้นมาเมื่อถูกนำเข้าตลาดแลกเปลี่ยนเป็นเงินจริงหรือเงินคริปโตสกุลอื่นด้วย ไม่ใช่การเอาข้อมูลผู้ใช้งานไปใช้เพื่อประโยชน์ด้านการโฆษณาอย่างที่ Facebook หรือ Twitter ทำ
สรุปย้ายไป Minds ปลอดภัยกว่า Twitter?
ถ้ามองในแง่ที่ว่า Minds ยังไม่น่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาล รวมถึงเอาข้อมูลการใช้งานของเราไปรวบรวมเพื่อขายโฆษณา คำตอบก็อาจจะดูเหมือน Minds ‘ปลอดภัยกว่า’
แต่หากเข้าไปดูในนโยบายความเป็นส่วนตัว (Privacy Policy) แล้ว Minds ก็ระบุว่ามีการแบ่งปันข้อมูลให้กับพาร์ตเนอร์เท่าที่จำเป็น รวมถึงเปิดเผยข้อมูลให้กับภาครัฐด้วย กรณีที่ Minds จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้ใช้ทราบ ซึ่งโดยหลักการแล้วแทบไม่แตกต่างจากของ Twitter เลย
ขณะที่ Twitter เองเปิดให้บริการมานาน เจอปัญหาด้านการร้องเรียนจากทั้งผู้ใช้งานเรื่องความเป็นส่วนตัว และฝั่งของรัฐที่ต้องการข้อมูลอาชญากรจริงๆ ก็ไม่ใช่น้อย ทำให้ Twitter มีช่องทางให้หน่วยงานภาครัฐยื่นขอข้อมูล รวมถึงออกรายงาน Transparency Report ทุก 6 เดือนด้วยว่ารัฐบาลประเทศใดขอเข้าถึงข้อมูลบนแพลตฟอร์มบ้าง (Facebook ก็ทำคล้ายๆ กัน) ขอข้อมูลกี่แอ็กเคานต์ และ Twitter ตอบรับคำขอเป็นสัดส่วนเท่าไร (ไม่ใช่ว่ารัฐบาลขอแล้ว Twitter จะให้ทุกกรณี) ดังนั้นในแง่การให้ข้อมูลภาครัฐแล้ว Twitter น่าจะโปร่งใสและตรวจสอบได้มากกว่า
ในท้ายที่สุด Minds อาจจะยังคงเป็นได้แค่ ‘ทางเลือก’ ของโซเชียลมีเดีย เพราะครั้งนี้ต่อให้มีกระแสย้ายไปใช้งานเพราะไม่พอใจและกังวลเรื่องความร่วมมือกับรัฐบาลไทยแค่ไหน แต่ปัจจัยสำคัญของโซเชียลมีเดียคือ ‘ชุมชนคนใช้งาน’ ถ้าหากคนส่วนใหญ่ยังไม่ย้ายตามไป อะไรๆ ก็คงจะยังเหมือนเดิม
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum