×

Minari (2020) สวรรค์บ้านไร่ เมื่อคนเกาหลีฝัน (หวาน) แบบอเมริกันชน

02.04.2021
  • LOADING...
Minari

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • Minari สร้างจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้กำกับ อี ไอแซค จอง ผู้ซึ่งเหมือนกับหนูน้อยในเรื่อง ครอบครัวของเขาย้ายถิ่นฐานจากเมืองใหญ่ไปเมืองที่เล็กมากๆ ของมลรัฐอาร์คันซอเพื่อทำการเกษตร และในขณะที่เนื้อหาส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เปรียบเสมือนบทบันทึกการเติบโต ท่ามกลางวิถีของการทำไร่ไถนาในช่วงทศวรรษ 1980
  • Minari บอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวชาวเกาหลี ซึ่งประกอบไปด้วยพ่อ แม่ ลูกสาว และลูกชายตัวน้อยที่หอบหิ้วกันไปตั้งรกรากถิ่นฐานในเมือง ‘หลังเขา’ ของมลรัฐอาร์คันซอ ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา แต่ในแง่ของสปิริตหรือจิตวิญญาณ ภาพยนตร์กลับตอกย้ำสิ่งที่ใครๆ พูดตรงกันว่ามันบอกเล่าเรื่องราวที่เรียกได้ว่าเป็นความฝันและความมุ่งหวังในแบบฉบับของคนอเมริกัน หรือที่เรียกว่า American Dream ในแง่ที่เป็นดินแดนแห่งโอกาสและเสรีภาพสำหรับทุกคนที่อุทิศตนและทุ่มเท ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเพียงคนตัวเล็กตัวน้อย สีผิวหรือเชื้อชาติอะไร

 

Minari

 

ก่อนอื่นเลยคงต้องเคลียร์ประเด็นสัญชาติของภาพยนตร์เรื่อง Minari ผลงานกำกับของ อี ไอแซค จอง ว่าจริงๆ แล้วถือพาสปอร์ตของประเทศอะไร

        

ดูผิวเผินก็เหมือนกับภาพยนตร์ของจองจะเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์จากเกาหลีใต้ ทั้งจากชื่อภาพยนตร์ ผู้กำกับ นักแสดง ภาษาที่ตัวละครสื่อสาร ไปจนถึงเนื้อหาที่ดูเหมือนโปรโมตรากเหง้าและคุณค่าทางวัฒนธรรมจากเมืองโสม และก็เป็นอย่างที่ใครๆ รับรู้รับทราบ ภาพยนตร์เรื่อง Minari ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงและชนะรางวัลลูกโลกทองคำปีล่าสุดในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า นี่เป็นรางวัลที่มอบให้กับผลงานที่เดินทางมาจากนอกสหรัฐอเมริกา

 

ข้อเท็จจริงก็คือ Minari เป็นภาพยนตร์อเมริกันทั้งในแง่ของทุนสร้าง (A24 และ Plan B) และทีมงานจำนวนไม่น้อยที่เกี่ยวข้อง นั่นรวมถึงตัวผู้กำกับซึ่งเป็นคนอเมริกันเชื้อสายเกาหลี หรือจริงๆ แล้วจะนับรวม สตีเฟน ยอน (The Walking Dead, Okja, Burning) ตัวเอกของเรื่องด้วยก็ได้ ผู้ซึ่งเกิดในกรุงโซล แต่หลังจากนั้นครอบครัวของเขาก็อพยพไปลงหลักปักฐานในรัฐมิชิแกน ว่าไปแล้วเหตุผลที่นำพาให้ Minari ไปโผล่ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศของการประกวดรางวัลลูกโลกทองคำ ก็เป็นกรณีเดียวกับภาพยนตร์เมื่อปีกลายเรื่อง The Farewell (ที่ตัวละครพูดภาษาจีนเป็นหลัก ทั้งๆ ที่เป็นภาพยนตร์อเมริกัน) และนั่นก็คือกฎเกณฑ์ที่คร่ำครึโบราณของสถาบันซึ่งสมควรต้องสังคายนาได้แล้ว     

 

และในขณะที่ตามเนื้อผ้า ภาพยนตร์เรื่อง Minari บอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวชาวเกาหลี ซึ่งประกอบไปด้วยพ่อ แม่ ลูกสาว และลูกชายตัวน้อยที่หอบหิ้วกันไปตั้งรกรากถิ่นฐานในเมือง ‘หลังเขา’ ของมลรัฐอาร์คันซอ ทางตอนใต้ของประเทศ แต่ในแง่ของสปิริตหรือจิตวิญญาณ กลับตอกย้ำสิ่งที่ใครๆ พูดตรงกันว่า มันบอกเล่าเรื่องราวที่เรียกได้ว่าเป็นความฝันและความมุ่งหวังในแบบฉบับของคนอเมริกัน หรือที่เรียกว่า American Dream ในแง่ที่อเมริกาเป็นดินแดนแห่งโอกาสและเสรีภาพสำหรับทุกคนที่อุทิศตนและทุ่มเท ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเพียงคนตัวเล็กตัวน้อย สีผิวหรือเชื้อชาติอะไร

 

Minari Minari

 

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ หากยกเว้นชนพื้นเมืองอันได้แก่ชาวอินเดียนแดงซึ่งอยู่มาก่อนใครเพื่อนและถือเป็นเจ้าของพื้นที่ตัวจริง คนอเมริกันร้อยทั้งร้อยล้วนเป็นคนอพยพหรือลูกหลานของคนอพยพด้วยกันทั้งสิ้น และเรื่องราวของครอบครัวของ จาค็อบ ยี (สตีเฟน ยอน) ซึ่งเป็นชาวเกาหลีที่โยกย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิดเมืองนอนมาอยู่อเมริกา ก็นับเป็นเรื่องเล่าล่าสุดที่ใครๆ มองว่ามันช่วยส่องสะท้อนให้เห็นว่า มายาคติที่ว่าด้วยความฝันในแบบอเมริกันชนยังคงใช้การได้

 

แต่พูดอย่างแฟร์ๆ ภาพยนตร์ของ อี ไอแซค จอง ก็ไม่ได้หลงละเมอเพ้อพกและมองสรรพสิ่งรอบด้านด้วยสายตาตื้นเขินหรือโลกสวยแบบนั้น และในความเป็นภาพยนตร์ดราม่าที่ว่าด้วยการดิ้นรนกระเสือกกระสนเพื่อก่อร่างสร้างตัวของครอบครัวเล็กๆ ปมขัดแย้งของภาพยนตร์ไม่ได้โจ่งแจ้งหรือมีลักษณะในทางกายภาพที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมเหมือนภาพยนตร์นี้ (เช่น การต้องรับมือกับภัยธรรมชาติ หรือการปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นไปรอบด้าน) หรือว่ากันตามจริงแล้ว ความยุ่งยากดำรงอยู่ตั้งแต่ก่อนที่ภาพยนตร์จะเริ่มต้นในรูปของความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างคนเป็นพ่อแม่ มันผูกโยงอยู่กับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม ค่านิยม วัฒนธรรม และเป็นเรื่องของระยะเวลาว่าช้าหรือเร็วเท่านั้นที่เป็นชนวนของความบาดหมาง ระหองระแหงทั้งหลายระหว่างตัวละครหลักของเรื่องจะปะทุขึ้นมา

 

เผื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติม ภาพยนตร์เรื่อง Minari สร้างจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้กำกับผู้ซึ่งเหมือนกับหนูน้อยในเรื่อง ครอบครัวของเขาย้ายถิ่นฐานจากเมืองใหญ่ไปเมืองที่เล็กมากๆ ของมลรัฐอาร์คันซอเพื่อทำการเกษตร และในขณะที่เนื้อหาส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เปรียบเสมือนบทบันทึกการเติบโต ท่ามกลางวิถีของการทำไร่ไถนาในช่วงทศวรรษ 1980 เนื้อหาอีกส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุผลที่นำพาให้ครอบครัวเล็กๆ นี้ต้องพเนจรมาไกลแสนไกลถึงเพียงนี้

 

Minari Minari

 

ความใฝ่ฝัน (แบบอเมริกันชน) ของจาค็อบได้แก่การมีที่ดินทำกินสักผืนสำหรับปลูกพืชผักสวนครัวเกาหลีเพื่อส่งขายให้คนเกาหลีในอเมริกาด้วยกัน เนื่องเพราะ “คนเกาหลีอพยพมาอยู่อเมริกาปีละสามหมื่นคน พวกเขาคงต้องคิดถึงอาหารประจำชาติบ้างล่ะ” ยิ่งไปกว่านั้น เขาจะได้เลิกนั่งหลังขดหลังแข็งเป็นลูกจ้างคัดแยกเพศลูกไก่ของโรงงานฟักไข่ ซึ่งเป็นทักษะที่เขาถนัดจัดเจนและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเป็นกอบเป็นกำ แต่เจ้าตัวไม่ได้อินกับมันแม้แต่นิดเดียว

 

แต่ก็นั่นแหละ ใครที่ได้เห็นสีหน้าบอกบุญไม่รับของโมนิกา (ฮันเยริ) คู่ชีวิตของเขาตั้งแต่ช็อตแรก ก็คงสรุปได้ทันทีว่าเธอไม่เห็นด้วยกับการที่ครอบครัวต้องย้ายมาอยู่ ณ ดินแดนที่ห่างไกลความเจริญขนาดนี้ (และยังไม่ต้องเอ่ยถึงสภาพของตัวบ้าน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเทรลเลอร์หรือรถพ่วงที่เหมือนกับถูกทิ้งร้าง ไม่มีแม้แต่บันไดสำหรับปีนขึ้น) และหนึ่งในเหตุผลสำคัญเกี่ยวข้องกับเดวิด (อลัน คิม) ลูกชายวัยเจ็ดขวบที่มีอาการลิ้นหัวใจรั่ว เธอกังวลว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ทุกอย่างอาจจะไม่ทันการณ์ นั่นกลายเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่โมนิกาจะรู้สึกว่าความฝันของจาค็อบเป็นเรื่องเห็นแก่ตัว และเหตุการณ์ที่ติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือฉากที่ตัวละครแผดเสียงใส่กันอย่างไม่บันยะบันยังต่อหน้าลูกๆ รวมถึงผู้ชมเป็นครั้งแรก

 

กระนั้นก็ตาม รายละเอียดที่ยึดกุมความรู้สึกและเกี่ยวข้องกับฉากข้างต้นก็คือเหตุการณ์ที่แอนน์ (โนเอล โช) พี่สาววัยราวๆ สิบขวบ และเดวิด ช่วยกันพับเครื่องบินกระดาษซึ่งเขียนข้อความร้องขอให้ทั้งสองเลิกทะเลาะกัน และพยายามปาไปให้พ่อแม่เห็น แม้ว่าจนแล้วจนรอดมันจะไม่ได้ผล แต่ลึกๆ แล้วผู้ชมตระหนักได้ว่านอกจากเด็กๆ ไม่ได้เพิกเฉย ทั้งสองยังหาหนทางประคับประคองความอยู่รอดของครอบครัวในแบบของตัวเอง หรืออีกฉากหนึ่งในช่วงหลังจากนั้นที่สองพี่น้องปรึกษากันอย่างเงียบๆ ว่า ถ้าหากพ่อแม่แยกทางกัน พวกเขาจะเลือกไปอยู่กับใคร ก็เป็นโมเมนต์ที่บอกโดยอ้อมว่าเด็กๆ ดูจะมีวุฒิภาวะเกินตัว

Minari Minari

 

ข้อที่ชวนให้ครุ่นคิดจริงๆ จังๆ ก็คือ อะไรเป็นต้นสายปลายเหตุของความหัวดื้อหัวรั้นของจาค็อบ ซึ่งจริงๆ แล้วคนทำภาพยนตร์ก็ไม่ได้ปิดบังอำพราง และมันเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องชายเป็นใหญ่ ซึ่งแทรกซึมอยู่ในอณูความนึกคิดของตัวละคร (และก็อย่างที่รู้กันว่านี่เป็นเรื่องที่สังคมเกาหลีไม่เป็นสองรองใคร) ทำนองว่าคนเป็นพ่อต้องเป็นทั้งหัวหน้า ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และข้อสำคัญต้องเป็นแบบอย่างที่น่าภาคภูมิใจของลูกๆ ทว่ายิ่งเวลาผ่านพ้นไป คุณค่าของความเป็นเพศชายของจาค็อบก็เทียบเคียงได้กับความไม่ค่อยจะมีประโยชน์ของลูกไก่ตัวผู้ ซึ่งเจ้าตัวในฐานะผู้เชี่ยวชาญเคยอธิบายให้ลูกชายฟังช่วงต้นเรื่อง ทำนองว่านอกจากรสชาติไม่อร่อยแล้ว ยังออกไข่ไม่ได้ และนั่นเป็นเหตุผลที่โรงงานฟักไข่ต้องกำจัดทิ้ง

 

หนึ่งในฉากที่คนทำภาพยนตร์ถ่ายทอดให้เห็นความไม่เวิร์กของจาค็อบได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็คือตอนที่เขาแบกกล่องบรรจุพืชผักผลไม้ขนาดเบ้อเริ่มเข้าไปในห้องที่หมอกำลังทำการอัลตร้าซาวด์การเต้นของหัวใจของลูกชาย เหตุผลไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากไปกว่าเขาไม่อยากให้สินค้าตัวอย่างเหล่านั้นตากแดดร้อนอยู่ในรถ และเขาหาที่จอดในร่มไม่ได้ มันบอกโดยอ้อมว่าเขาแทบจะล้มเหลวในการจัดการโน่นนี่นั่นด้วยประการทั้งปวง และยิ่งเวลาผ่านพ้นไป ความพยายามจะสร้างเนื้อสร้างตัวก็กลายเป็นความหมกมุ่นลุ่มหลงในระดับที่เขาพร้อมจะแลกด้วยความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว และมันส่งผลให้เขายิ่งทำตัวแปลกแยกจากเมียและลูกๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

 

ตัวละครอีกคนที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ก็คือคุณยาย (ยุนยอจอง) ผู้ซึ่งหนูน้อยเดวิดบอกว่าเธอทำตัวไม่เหมือนคุณยายในการรับรู้ของเขาแต่อย่างใด แถมยังมีกลิ่น ‘แบบเกาหลี’ และในขณะที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างยายหลานเป็นห้วงเวลาที่ตลกขบขัน และน่าจะเรียกเสียงหัวเราะได้อย่างพร้อมเพรียง บทบาทที่สำคัญกว่านั้นของตัวละครนี้เกี่ยวข้องกับการสื่อสะท้อนถึงแก่นแกนของเรื่องที่พูดถึงรากเหง้า และไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เธอมีส่วนช่วยยึดโยงให้ทั้งหมดกลับคืนสู่วงโคจรเดียวกัน

Minari

เรื่องหนึ่งที่น่าสงสัยและไม่มีทางที่ใครจะรู้ได้ก็คือ สมมติว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไปอยู่ในมือของคนทำภาพยนตร์ฝีมือธรรมดาสามัญ ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เป็นไปได้ว่ามันคงจะกลายเป็นเมโลดราม่าที่ตั้งหน้าตั้งตาบิลด์อารมณ์อย่างโหมกระพือ เพราะเงื่อนไขเอื้ออำนวย แต่ข้อเท็จจริงก็คือ Minari เป็นผลงานที่พูดได้เต็มปากว่าคนทำภาพยนตร์ทั้งตกผลึกทางความคิดและเต็มเปี่ยมไปด้วยวุฒิภาวะ เพราะนอกจากมันไม่ได้มุ่งเน้นการบีบเค้นและกระตุ้นเร้าอย่างคร่ำครวญ กลวิธีในการบอกเล่ายังมีลักษณะละไว้ในฐานที่เข้าใจ หรือปล่อยให้ผู้ชมปะติดปะต่อเนื้อหาเอาเอง อีกทั้งสิ่งที่เรียกว่า ‘ชีวทัศน์’ ของ อี ไอแซค จอง ก็ยังแฝงไว้ด้วยความนุ่มนวลและอ่อนโยน เขาปฏิบัติกับตัวละครมากหน้าหลายตาอย่างทะนุถนอมและฟูมฟัก ไม่มีคาแรกเตอร์ไหนเป็นสีขาวหรือดำ คนดีหรือเลว แม้แต่ตัวตลกที่น่าสมเพช พวกเขาก็ล้วนแล้วได้รับการถ่ายทอดในมิติของความเป็นมนุษย์ มีเลือดเนื้อและชีวิต

 

อีกสององค์ประกอบที่ช่วยตกแต่งและขับเน้นให้ภาพยนตร์ดูงดงามราวกับบทกวีคืองานกำกับภาพ (ลาชแลน มิลน์) และดนตรีประกอบ (เอมิล มอสเซอรี) หลายครั้ง ทั้งภาพและเสียงหยิบยื่นความรู้สึกเหมือนเราเดินเล่นในสวนเอเดนของพระเจ้า หรืออีกนัยหนึ่ง อยู่ในอ้อมกอดของความมหัศจรรย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่าธรรมชาติอย่างน่าเลื่อมใสศรัทธา

 

โดยปริยาย นั่นอาจเป็นคำที่ใช้จำกัดความคุณค่าผลงานของ อี ไอแซค จอง ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดสิ่งละอันพันละน้อยได้ราบรื่น เป็นธรรมชาติ อีกทั้งบรรดาตัวละครที่โลดแล่นเบื้องหน้าก็ดูประหนึ่งเป็นญาติสนิทมิตรสหายที่เราเกี่ยวข้องผูกพัน ซึ่งว่าไปแล้ว นั่นเป็นสัมผัสที่พิเศษมากๆ และไม่ไช่สิ่งที่พบได้ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

MINARI (2020)

กำกับ-อี ไอแซค จอง ผู้แสดง-สตีเฟน ยอน, ฮันเยริ, โนเอล โช, อลัน คิม, ยุนยอจอง

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising