×

รัฐประหารซ้อน-มิน อ่อง หล่าย ลาออก? มองฉากทัศน์การเมืองเมียนมา ในวันที่เผด็จการทหาร (อาจ) พ่ายแพ้

01.02.2024
  • LOADING...
Min Aung Hlaing

สงครามระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์กับกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมายังคงตึงเครียดต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ที่การสู้รบปะทุขึ้นในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉาน ภายใต้ปฏิบัติการ 1027 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นฝ่ายกองกำลังชาติพันธุ์ที่สามารถรุกคืบชิงความได้เปรียบ และบุกยึดเมืองต่างๆ ไปได้แล้วถึง 35 เมือง จนทำให้หลายฝ่ายจับตามองว่ากองทัพเมียนมา หรือทัตมาดอว์ (Tatmadaw) จะเสียหลักพ่ายแพ้ในสงครามนี้หรือไม่

 

และนี่คือมุมมองบางส่วนจากนักวิเคราะห์ ที่ฉายให้เห็นฉากทัศน์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น หากรัฐบาลทหารเมียนมาเกิดแพ้ขึ้นมาจริงๆ อะไรจะเกิดขึ้น กระแสความไม่พอใจจากภายในกองทัพจะปะทุจนถึงขั้นเกิดรัฐประหารซ้อนเลยไหม และคำถามสำคัญคือ ผู้นำอย่างพลเอกอาวุโส ‘มิน อ่อง หล่าย’ ตลอดจนรัฐบาลของเขา จะต้องปล่อยมือจากอำนาจหรือไม่?

 

ภาพรวมสงครามเมียนมา

 

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) หรือรัฐบาลเงาเมียนมา เผยข้อมูลล่าสุดว่า พื้นที่กว่า 60% ของประเทศ ตอนนี้ตกอยู่ในการครอบครองของกองกำลังชาติพันธุ์แล้ว 

 

สงคราม ณ ตอนนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมียนมาที่กองทัพเผชิญกับการโจมตีพร้อมๆ กันจากกองกำลังชาติพันธุ์ ใน 12 รัฐ จาก 14 รัฐและภูมิภาคของเมียนมา ซึ่งมีการใช้ยุทธวิธีในการรบต่างๆ ตั้งแต่การทำสงครามทั่วไป ไปจนถึงยุทธวิธีแบบกองโจร และมีการปฏิบัติการทั้งแบบเปิดเผยและแบบลับๆ 

 

อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญคือพื้นที่ใจกลางอำนาจ (Burman Heartland) เช่น กรุงเนปิดอว์ มัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง ยังอยู่ในการควบคุมของกองทัพ และยังไม่มีท่าทีว่ากองกำลังชาติพันธุ์จะรุกคืบเข้าสู่พื้นที่เหล่านี้ โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการที่จีนเข้ามามีบทบาทช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าการทำข้อตกลงหยุดยิงจะยังไม่เกิดขึ้นจริง

 

ความเป็นไปได้ที่รัฐบาลทหารจะพ่ายแพ้

 

จนถึงวันนี้ (1 กุมภาพันธ์) กองทัพเมียนมาเองก็ยังไม่ถึงขั้น ‘สิ้นไร้ไม้ตอก’ โดยยังรักษาพื้นที่สำคัญไว้ได้ และยังได้รับการสนับสนุนอาวุธจากรัสเซีย ทำให้เชื่อว่าโอกาสที่สถานการณ์จะไปถึงจุดที่เรียกว่าพ่ายแพ้นั้นยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

 

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองภาพรวมสงครามเมียนมาที่เป็นอยู่ตอนนี้ ยังไม่น่าจะไปถึงขั้นกองทัพเมียนมาพ่ายแพ้ โดยเป็นไปในลักษณะตั้งยันกันอยู่ 

 

กองกำลังชาติพันธุ์นั้นมีโมเมนตัมที่ได้เปรียบจริง แต่ก็ยังไม่สามารถตีจนทหารเมียนมาแตกพ่ายได้ในหลายสมรภูมิสำคัญ เช่น ที่เมืองสี่แสง ทางตอนใต้ของรัฐฉาน กองกำลังปะโอ และกองกำลังชาติพันธุ์กะเหรี่ยง KNPP ก็ยังไม่สามารถพิชิตทหารเมียนมาได้อย่างเบ็ดเสร็จ ขณะที่เมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญก็ยังอยู่ในการควบคุมของกองทัพ

 

ทั้งนี้ แม้กองทัพเมียนมาจะตกเป็นรอง แต่ก็ยังไม่พ่ายในเกมสงครามแบบ ‘ทั้งกระดาน’ โดย รศ.ดร.ดุลยภาค มองว่า เมียนมา ณ ตอนนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นรัฐ ‘กึ่งล้มเหลว (Semi-Failed State)’ คือแต่ละฝ่ายยังคงสู้รบกันอยู่ ในขณะที่ระบบบริการสาธารณะของภาครัฐในหลายพื้นที่ก็เริ่มง่อนแง่นหรือไร้ประสิทธิภาพที่จะดำเนินการ

 

รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวว่า ทิศทางหลังจากนี้ “น่าจะเป็นการที่รัฐบาลทหารต้องพยายามเจรจาต่อรองกับกองกำลังชาติพันธุ์ในลักษณะที่ไม่เสียเปรียบมาก” แต่การจะทำอย่างนั้นได้หรือไม่ ก็ต้องใช้เวลาทอดยาวออกไป เพื่อพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบ อย่างน้อยก็ในบางสมรภูมิ

 

โอกาสรัฐประหารซ้อน-มิน อ่อง หล่าย ลาออก? 

 

ภาพรวมสถานการณ์ที่เสียเปรียบทำให้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่บริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาครบ 3 ปี นับตั้งแต่นำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ถูกมองว่าไร้ความสามารถ และก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง

 

โดยช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางการเมียนมาได้จับกุมพระอาชิน อาเรียวันทา (Ashin Ariawuntha) หรือ ป๊อก โก ตอว์ (Pauk Ko Taw) พระภิกษุชาตินิยมที่สนับสนุนรัฐบาลทหาร หลังจากที่เขาและประชาชนกลุ่มเล็กๆ ร่วมการชุมนุมเรียกร้องให้ มิน อ่อง หล่าย ลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้อันน่าอัปยศอดสูในหลายสมรภูมิ และส่งต่ออำนาจให้กับรองพลเอกอาวุโส โซ วิน (Vice Senior General Soe Win) รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบกเมียนมา 

 

ขณะที่ โม เฮน (Moe Hein) ผู้ดำเนินการแพลตฟอร์มข่าวสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ Thuriya Nay Wun และมักจะปรากฏตัวทางโทรทัศน์ของรัฐอยู่บ่อยครั้ง เริ่มตั้งคำถามต่อผู้นำระดับสูงของกองทัพ ภายหลังเมืองเล่าก์กาย เมืองหลักของเขตปกครองตนเองโกก้างในรัฐฉาน ถูกกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง บุกยึดครองได้เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม

 

ทั้งนี้ คลิปวิดีโอและความเห็นของประชาชนผู้สนับสนุนรัฐบาลทหารที่โพสต์บนโซเชียลมีเดียแสดงความไม่พอใจต่อการทำหน้าที่ผู้นำของ มิน อ่อง หล่าย และบอกว่าเขานั้นไร้ความสามารถ เห็นแก่ตัว และขาดความกล้า และกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้ทำให้กองทัพตกอยู่ในสภาวะแห่งความอับอายและสิ้นหวัง

 

นอกจากนี้ การสู้รบพร้อมกันในหลายพื้นที่ทำให้ตอนนี้กองทัพเมียนมาต้องพยายามเกณฑ์กำลังพล มีการบังคับเกณฑ์ทหารเกิดขึ้นในหลายเมือง ซึ่งส่งผลให้ความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อ มิน อ่อง หล่าย ยิ่งเพิ่มมากขึ้น

 

หนึ่งในคำถามที่หลายฝ่ายสงสัยคือ โอกาสในการเกิดรัฐประหารซ้อนขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีของกองทัพเมียนมา

 

Reuters เผยความเห็นนักการทูตในอาเซียนรายหนึ่งซึ่งชี้ว่า “มีความคับข้องใจของคนในกองทัพต่อ มิน อ่อง หล่าย” และเชื่อว่ามีหลายคนในกองทัพอยากให้เขาลงจากอำนาจ

 

บทความของ The Irrawaddy เผยความเห็นนักวิเคราะห์หลายรายที่มองว่า การถอด มิน อ่อง หล่าย จากอำนาจเพียงคนเดียวนั้นอาจไม่เพียงพอต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยคณะรัฐบาลทั้งหมดของเขาต้องลงจากอำนาจด้วย

 

ขณะที่ รศ.ดร.ดุลยภาค มองว่า โอกาสที่ความขุ่นข้องภายในจะถึงขั้นก่อให้เกิดการรัฐประหารซ้อนนั้นอาจจะ ‘ไม่ง่ายนัก’ ในตอนนี้ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่ไปถึงจุดที่ย่ำแย่และสูญเสียจุดยุทธศาสตร์สำคัญ 

 

ขณะที่กองทัพเมียนมาเองก็ยังคงมีเอกภาพมากพอ แม้จะเริ่มปรากฏเค้าลางความแบ่งแยกในบางจุด แต่ยังมีผู้บัญชาการระดับสูงในสายของ มิน อ่อง หล่าย หรือ โซ วิน คุมอยู่ 

 

ฉากทัศน์ที่อาจเกิดขึ้น

 

The Irrawaddy รายงานความเห็นนักวิเคราะห์หลายราย ชี้ว่า ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้หลังจากนี้มีอยู่ 3 แนวทาง คือ

 

  1. รัฐบาลทหารคงอยู่ในอำนาจต่อไป มีการขยายภาวะฉุกเฉิน กองกำลังชาติพันธุ์เดินหน้าบุก และสงครามถลำลึกลงไปเรื่อยๆ

 

  1. เกิดการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ มิน อ่อง หล่าย ส่งมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับ 1 ใน 2 รองนายกฯ คือ พลเรือเอก ติน ออง ซาน (Tin Aung San) และพลเอก เมียะ ตุน อู (Mya Tun Oo) แต่ยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด

 

  1. รัฐบาลทหารยอมให้นักการเมืองพลเรือนที่น่าเชื่อถือจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว และมีการจัดตั้งรัฐบาลผสม

 

รศ.ดร.ดุลยภาค ชี้ว่า ฉากทัศน์จากนี้เป็นไปได้ในหลายแนวทาง เช่น มิน อ่อง หล่าย ลงจากอำนาจเพียงคนเดียว และให้ โซ วิน ขึ้นแทน แต่ฝ่ายประชาธิปไตยและรัฐบาล NUG อาจไม่ยอมรับแนวทางนี้ เพราะมองว่าทั้งสองอยู่ในกลุ่มอำนาจเดียวกันและร่วมกันก่อรัฐประหาร ซึ่งยังมีการเอื้อประโยชน์แก่กันอยู่

 

ส่วนอีกแนวทางคือ ทั้ง มิน อ่อง หล่าย, โซ วิน และคณะรัฐประหารทั้งหมด ลงจากอำนาจ และดึงบุคคลที่สามารถเป็นตัวกลางคุยได้ทั้งฝ่ายกองทัพและฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อให้หน้าตาของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ซึ่งกุมอำนาจบริหาร ลดความแข็งกร้าวลง

 

แต่ถึงกระนั้น เขามองว่าสำหรับรัฐบาล NUG ที่เดินหน้าต่อต้านกองทัพนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารมาจนถึงตอนนี้ที่กองทัพตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ อาจต้องการเดินหน้าไปตามจุดมุ่งหมายของสงครามปฏิวัติคือ ถอนรากถอนโคนกองทัพ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจกองทัพ และแทนที่รัฐบาลทหารด้วยรัฐบาลพลเรือนที่ปกครองแบบประชาธิปไตยเสรีนิยม และคงความเป็นสหพันธรัฐ พร้อมทั้งล็อบบี้ประเทศต่างๆ ให้ยอมรับรัฐบาลพลเรือน NUG แต่เชื่อว่าแนวทางนี้ต้องใช้เวลาพอสมควร

 

ส่วนแนวทางจัดตั้งรัฐบาลผสมนั้น เขามองว่า ‘มีความเป็นไปได้’ ถ้าอำนาจต่อรองระหว่างกองทัพกับรัฐบาลพลเรือนนั้นเท่าเทียมกัน แต่เกมการต่อรองจะขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของแต่ละฝ่าย ทั้งในสมรภูมิรบ และแรงสนับสนุนจากภายในและภายนอกประเทศ และจะต้องเดินหน้าไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2008 ซึ่งอาจจะค่อยๆ ลดหรือตัดบทบาททหารเมียนมาออกจากการเมือง โดยมีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าแนวทางนี้จะไม่เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะกองทัพเมียนมาไม่ได้เสียเปรียบในการเจรจา 

 

นอกจากนี้ ในแนวทางรัฐบาลผสมยังมีการจัดเลือกตั้ง และต้องมีการพิจารณาถึงสถานะของพรรค NLD และรัฐบาลเงา NUG และระบบเลือกตั้งจะเป็นไปในแนวทางผู้ชนะกินรวบ หรือแนวทางอื่น ซึ่งต้องมีการเจรจากันระหว่างฝ่ายพลเรือนกับกองทัพ

 

“พอพูดถึงรัฐบาลผสม คือมันจะต้องอยู่ด้วยกัน ฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งต้องอยู่ด้วยกัน และต้องรอมชอม ประนีประนอมกัน หรือไม่ก็มีอำนาจที่ไม่หนีห่างกันมาก ถึงจะสามารถแบ่งอำนาจกันในลักษณะนี้ได้” รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว

 

ทั้งนี้ NUG และกองกำลังชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ได้เผยแพร่แถลงการณ์ล่าสุดวานนี้ (31 มกราคม) โดยแสดงท่าทีเปิดกว้างและพร้อมเจรจากับกองทัพ หากยอมรับเงื่อนไข 6 ประการ ซึ่งรวมถึงการนำกองทัพมาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือน และการยุติการมีส่วนร่วมของทหารในการเมือง

 

อย่างไรก็ตาม อีกฉากทัศน์ที่น่าสนใจและมีโอกาสเกิดขึ้นได้คือ หากกองทัพเมียนมาและกองกำลังชาติพันธุ์ยังไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบ-เสียเปรียบ แพ้-ชนะ กันอย่างชัดเจน ก็มีโอกาสที่กองทัพเมียนมาจะเลือกการถอยหลังกลับสู่ ‘สถานภาพเดิม’ คือการยอมรับผลการเลือกตั้งในปี 2020 และปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี ซึ่งบทบาทและอภิสิทธิ์ของกองทัพที่มีในช่วงก่อนรัฐประหาร เช่น ที่นั่งสมาชิกสภานิติบัญญัติ 1 ใน 4 ที่กำหนดไว้ให้กองทัพ

 

การเป็นรัฐล้มเหลวอาจเผชิญการแทรกแซงภายนอก 

 

ในกรณีที่สงครามไม่มีผู้แพ้-ชนะที่เด็ดขาด และทำให้สถานการณ์ทั่วประเทศย่ำแย่จนเมียนมากลายเป็นรัฐล้มเหลว (Failed State) อย่างสมบูรณ์แบบ ชนิดที่ระบบการศึกษาและบริการสาธารณะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ นอกจากแต่ละฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งอาจต้องพยายามคุยกันเพื่อหาทางออก ก็อาจจะต้องการความช่วยเหลือจากภายนอก 

 

โดยอาจมีองค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ องค์กรมนุษยธรรม หรือแม้แต่มหาอำนาจทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน และประเทศอื่นๆ เข้ามามีบทบาทแทรกแซงในกระบวนการสร้างสันติภาพและรัฐบาลปรองดองในเมียนมา 

 

บทบาทอาเซียน-ไทย

 

บทบาทของอาเซียนนั้นมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนสันติภาพและการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมภายใต้ฉันทมติ 5 ข้อ โดยในส่วนของไทยนั้นชัดเจนในเรื่องของการเปิดระเบียงช่วยเหลือทางมนุษยธรรมบริเวณแนวชายแดน ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญและมีการเสนอข้อริเริ่มในเรื่องนี้ต่ออาเซียน

 

รศ.ดร.ดุลยภาค ชี้ว่า นอกเหนือจากเรื่องความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม รัฐบาลไทยยังสามารถมีบทบาทในด้านอื่น เช่น การสนับสนุนสันติภาพในเมียนมา ควบคู่กับโอกาสทางเศรษฐกิจและการค้าตามแนวชายแดนไทยและเมียนมา เพื่อประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศและภูมิภาคโดยรวม

 

นอกจากนี้เขามองว่า ไทยยังสามารถมีบทบาทในด้านกลไกความร่วมมือด้านความมั่นคงกับเมียนมา เช่น กลไกความร่วมมือชายแดน เพื่อระงับความขัดแย้งที่ยังดำเนินอยู่ หรือการมีแพลตฟอร์มพูดคุยกับ NUG หรือกองกำลังชาติพันธุ์ที่มากขึ้น ในขณะที่ไม่ทิ้งการพูดคุยกับกองทัพเมียนมา

 

ภาพ: Sefa Karacan / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising