×

รู้จัก พลเอก มิน อ่อง หล่าย นายพลอาวุโสเมียนมา ผู้กุมบังเหียนรัฐบาลหลังการยึดอำนาจ

โดย THE STANDARD TEAM
01.02.2021
  • LOADING...
Min Aung Hlaing Burmese army general

ปฏิบัติการรัฐประหารเงียบของกองทัพเมียนมา ที่เปิดฉากด้วยการส่งกำลังทหารบุกจับ ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ วัย 75 ปี และผู้นำทางการเมืองคนสำคัญอีกหลายคน สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก เพราะไม่คาดคิดว่ากองทัพเมียนมาจะทำลายความพยายามในการปฏิรูประบอบประชาธิปไตย ที่เดินหน้ามากว่า 10 ปี นับตั้งแต่ที่ซูจีได้รับอิสรภาพหลังถูกกักตัวในบ้านพักเมื่อปี 2010 

 

อย่างไรก็ตาม ชื่อหนึ่งที่ปรากฏในภารกิจยึดอำนาจครั้งนี้คือ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่เหลืออีกเพียง 5 เดือนก็จะเกษียณอายุในวัย 65 ปี ตามกฎหมายเมียนมา 

 

คำถามที่หลายคนสงสัยคือ อะไรทำให้นายพลวัยใกล้เกษียณผู้นี้ยอมลงมือดึงอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนกลับสู่อุ้งมือกองทัพ แม้จะรู้ดีว่าต้องเผชิญแรงกดดันที่ถาโถมมาจากนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐฯ THE STANDARD จะพาไปทำความรู้จักบทบาท และที่มาของนายพลคนนี้กันให้มากขึ้น

 

บทบาทกองทัพในการเมืองเมียนมา

เมียนมาตกอยู่ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลทหารมานานเกือบ 50 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 1962 โดยกองทัพถือตนเองเป็นผู้พิทักษ์ความเป็นเอกภาพของประเทศ

 

อำนาจที่อยู่เหนือการเมือง ทำให้ที่ผ่านมามีสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายพลเรือนจำนวนมาก รวมถึง ออง ซาน ซูจี ต้องเผชิญกับการดำเนินคดี จับกุม และคุมขัง

 

ขณะที่รัฐธรรมนูญที่กองทัพเขียนขึ้นในปี 2008 ยิ่งเสริมบทบาทของกองทัพในระบบการเมืองมากขึ้น กองทัพเมียนมาได้โควตาล็อกที่นั่งในสภาแบบไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งมากถึง 25% ขณะที่ผู้บัญชาการกองทัพ เป็นผู้แต่งตั้งรัฐมนตรีสำคัญหลายกระทรวง อาทิ กลาโหม มหาดไทย หรือรัฐมนตรีกิจการชายแดน เพื่อให้แน่ใจว่ากองทัพจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายความมั่นคง แม้จะดูแปลกในการแบ่งอำนาจบริหารรัฐบาลกับพรรครัฐบาลขั้วประชาธิปไตยอย่างพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD 

 

เติบโตอย่างช้าๆ และมั่นคง

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย วัย 64 ปี แสดงความชัดเจนในมุมมองด้านการเมือง นับตั้งแต่เรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ในปี 1972-1974 จากคำบอกเล่าของเพื่อน พบว่าเขาเป็นคนพูดน้อย ซึ่งในช่วงที่นักศึกษาจำนวนมากเข้าร่วมการเดินขบวนประท้วง เขาตัดสินใจสมัครเข้าร่วมมหาวิทยาลัยทางการทหารชั้นนำอย่าง วิทยาลัยป้องกันชาติแห่งประเทศเมียนมา Defence Services Academy (DSA) และประสบความสำเร็จ หลังพยายามสมัครถึง 3 ครั้ง 

 

หนึ่งในเพื่อนร่วมชั้นของ มิน อ่อง หล่าย ที่ DSA เปิดเผยว่า ผู้บัญชาการทหารคนปัจจุบันนั้น ในอดีตก็เป็นเพียงนักเรียนนายร้อยทั่วๆ ไป ไม่ได้โดดเด่นอะไร แต่มีตำแหน่งที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

 

“เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งอย่างช้าๆ และสม่ำเสมอ” เพื่อนร่วมชั้นกล่าว และเสริมว่าเขารู้สึกประหลาดใจที่เห็นมิน ออง หล่าย มียศสูงขึ้นจนอยู่เหนือบรรดานายทหารระดับกลาง

 

จากทหาร สู่นักการเมือง

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ขึ้นรับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดในปี 2011 ช่วงที่การเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลทหารเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเริ่มต้น

 

ช่วงปี 2016 หลังการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนสมัยแรกของซูจี มีนักการทูตในย่างกุ้งหลายคน กล่าวถึงพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่เปลี่ยนตัวเองจากทหารที่เงียบขรึม กลายเป็นนักการเมืองและบุคคลสาธารณะ

 

ผู้สังเกตุการณ์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เขาเริ่มใช้เฟซบุ๊กในการเผยแพร่กิจกรรมการประชุมและการออกงานต่างๆ ขณะที่เพจอย่างเป็นทางการ มีผู้ติดตามหลายแสนคน ก่อนจะถูกถอดออก จากกรณีที่กองทัพเมียนมาถูกวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องการใช้กำลังกวาดล้างชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจา ในปี 2017

 

นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมายังมีความรู้จากการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และมีบทบาททำให้ประเทศหลีกเลี่ยงจากการเผชิญวิกฤตการณ์โค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ เช่น ในลิเบีย และหลายประเทศในตะวันออกกลางช่วงปี 2011

 

สำหรับท่าทีของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ต่อการปฏิรูปการเมืองในเมียนมานั้น ที่ผ่านมาเขาไม่เคยส่งสัญญาณใดๆ ว่าจะยอมเปลี่ยนแปลงโควตา 25% ของกองทัพในรัฐสภา อีกทั้งยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสำคัญในรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามไม่ให้ผู้มีคู่สมรสและบุตรชาวต่างชาติ เช่น ซูจี รับตำแหน่งประธานาธิบดี 

 

บทบาทบุตรบุญธรรมป๋าเปรม

สำหรับคนไทย หลายคนรู้จักผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมารายนี้ดี ในฐานะ บุตรบุญธรรมของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ผู้ล่วงลับ เขาเดินทางมาเข้าพบ พล.อ. เปรมหลายครั้ง และขอเป็นบุตรบุญธรรมในปี 2012 และเคยกล่าวยกย่อง พล.อ. เปรม ว่าเปรียบเสมือนบิดา และได้รับคำสอนที่สำคัญหลายอย่าง รวมถึงการตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน 

 

ขณะที่เขาเคยกล่าวในระหว่างการเดินทางมาไทย เพื่อร่วมแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ พล.อ. เปรม ว่าเปรียบเหมือนกับการสูญเสียบิดา 

 

ภาพ: Sefa Karacan / Anadolu Agency / Getty Images

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X