อาจจะเพราะคนในเจเนอเรชัน Millennial และ Z (ผู้ที่เกิดทศวรรษที่ 80 – ต้น 2000) ต้องเผชิญความผันผวนด้านเศรษฐกิจแทบจะตลอดช่วงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ ไปจนถึงการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้คนรุ่นนี้ไม่มั่นใจในการลงทุนแบบดั้งเดิม เช่น หุ้น และพันธบัตร แต่เลือกกระจายความเสี่ยงไปยังการลงทุนทางเลือกมากเป็นพิเศษ
จากการศึกษาล่าสุดของ Bank of America พบว่า 75% ของชาวอเมริกันที่มีอายุระหว่าง 21-42 ปี คิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่การลงทุนในหุ้นและพันธบัตรจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย และ 80% ของนักลงทุนรุ่นใหม่มองหาการลงทุนทางเลือก เช่น คราวด์ฟันดิง (การระดมทุนแบบหุ้น) สินค้าโภคภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์ และของสะสม เทียบกับ 21% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุมากกว่า สอดรับกับผลการวิจัยของ Lansons บริษัทด้านการวางกลยุทธ์ที่แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันแม้ชาวอเมริกันน้อยกว่า 10% จะลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก แต่ในจำนวนนั้นคือ Gen Z 30% และ Millennial ถึง 25%
ความสนใจในการลงทุนทางเลือกที่เพิ่มขึ้น สะท้อนถึงทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปต่อการลงทุน การออม และการสะสมความมั่งคั่งในคนหนุ่มสาว โดยกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ที่ไม่เพียงแต่ให้ผลตอบแทนทางการเงิน แต่ยังป้องกันความผันผวนของตลาด อีกทั้งยังมีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบัน โดยกระจายไปในการลงทุนรูปแบบต่างๆ เช่น
- อสังหาริมทรัพย์: คนรุ่น Millennial คิดเป็น 43% ของการซื้อบ้านทั้งหมดในสหรัฐอเมริกาในปี 2021 ซึ่งอสังหาริมทรัพย์เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอและมีความมั่นคงเมื่อเวลาผ่านไป อีกทั้งยังสร้างรายได้เชิงรับ หรือ Passive Income เห็นผลกำไรในระยะยาวจากการแข็งค่าของราคา ทำหน้าที่ป้องกันภาวะเงินเฟ้ออีกด้วย เมื่อราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น มูลค่าบ้านและค่าเช่าก็มักจะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
- การลงทุนแบบคราวด์ฟันดิง: หรือการระดมทุนแบบหุ้น โดยนักลงทุนรวมเงินเข้าด้วยกันเพื่อสนับสนุนโครงการ ธุรกิจ หรือร่วมทุนโดยเฉพาะ ในกิจการต่างๆ เช่น สตาร์ทอัพ การขยายธุรกิจ และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้นักลงทุนสนับสนุนกิจการต่างๆ ที่เชื่อมั่น ขณะเดียวกันก็ได้รับผลตอบแทนด้วย
- สินค้าโภคภัณฑ์: เช่น ทองคำ น้ำมัน และสินค้าเกษตร เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค จึงเป็นเครื่องป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อและความผันผวนของตลาด โดยมีแนวโน้มว่าราคาจะปรับตัวสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อด้วย อย่างไรก็ตาม สินค้าโภคภัณฑ์ก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้นักลงทุนมองหาการลงทุนในพลังงานสะอาดมากขึ้น ในขณะที่ทองคำมีความโดดเด่นเป็นแหล่งสะสมมูลค่ามาอย่างยาวนาน และเป็นแหล่งหลบภัยในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่มั่นคง มีสภาพคล่อง สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ง่าย
- ของสะสม: การลงทุนจากสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบไม่ว่าจะเป็น งานศิลปะ ของโบราณ หนังสือหายาก ไวน์วินเทจ นาฬิกา เครื่องประดับต่างๆ รองเท้าผ้าใบระดับไฮเอนด์ ฯลฯ อาจทำให้ได้รับผลประโยชน์ในระยะยาว จากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป รวมทั้งของสะสมมีความสัมพันธ์ต่ำกับการลงทุนทางการเงินแบบดั้งเดิมทั้งหุ้นและพันธบัตร จึงเหมาะสมในการรักษาเงินทุนในช่วงเวลาที่มีความผันผวน ตามรายงานของ Art Basel and UBS ในปี 2021 พบว่า 30% ของนักสะสมรุ่น Millennial ใช้เงินมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ไปกับงานศิลปะและของสะสมในช่วงปี 2020 ซึ่งแตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้าอย่างเบบี้บูมเมอร์ที่มีเพียง 17% ที่กล้าเสี่ยงซื้องานศิลปะในช่วงวิกฤต
คนในกลุ่ม Millennial และ Gen Z กำลังกลายเป็นกลุ่มที่มั่งคั่งที่สุด จากรายงานของ Art Basel and UBS ในปี 2021 โดยจะมีทรัพย์สินระหว่าง 20-70 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 ทั้งจากการได้รับเป็นมรดกและจำนวนมหาเศรษฐีอายุน้อยที่สร้างฐานะขึ้นมาจากธุรกิจด้านเทคโนโลยี ทำให้ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อการสะสมกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้สอดรับกับกำลังซื้อของกลุ่มนี้ที่เป็นกลุ่มผู้ซื้อที่เติบโตที่สุดของตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยในปี 2022 และคาดว่าจะมีจำนวนคิดเป็น 70% ของการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยภายในปี 2025 ตามข้อมูลของ Bain & Company
ความท้าทายก็คือมุมมองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ต่อสินค้าหรูหราได้เปลี่ยนไปแล้ว จากการมองว่าเป็นเรื่องสถานะ ศักดิ์ศรี และความเก่าแก่ของแบรนด์ ยังต้องครอบคลุมถึงความยั่งยืน ความโปร่งใส เทคโนโลยี และนวัตกรรมหมุนเวียนต่างๆ เข้าไปด้วย โดย 84% ของผู้บริโภค Gen Z และ 73% ของคนรุ่น Millennial จะใช้จ่ายมากขึ้นกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตอย่างยั่งยืนและมาจากแหล่งที่มีจริยธรรม ตามข้อมูลของ Tata Consultancy Services และมองว่าการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมือสองเป็นการลงทุนที่ยั่งยืนและทำกำไรได้ภายหลัง แทนที่จะเป็นสัญลักษณ์สถานะเหมือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลงทุนทางเลือกสามารถให้ผลตอบแทนดึงดูดใจและป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ได้ แต่ก็มีความท้าทายด้วย โดยเฉพาะปัญหาสภาพคล่องที่อาจจะสู้กับการลงทุนแบบดั้งเดิมทั้งหุ้นและพันธบัตรไม่ได้ รวมถึงการผันผวนเรื่องราคาในบางสินทรัพย์มีมากกว่า
นอกจากนี้ ตลาดเหล่านี้ยังได้รับการควบคุมและโปร่งใสน้อยกว่า ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงและประเมินมูลค่าการลงทุนยากขึ้น อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่านักลงรุ่นใหม่พร้อมใจที่จะเสี่ยงด้วยมุมมองและแนวคิดที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้าแน่นอน
อ้างอิง:
- https://www.usatoday.com/story/special/contributor-content/2023/08/04/why-gen-z-is-ditching-the-market-in-favor-of-alternative-investments/70532356007/
- https://www.forbes.com/sites/forbesfinancecouncil/2023/07/07/millennials-and-gen-z-moving-away-from-stock-market-investment/?sh=2a8c417d72b1
- https://fortune.com/2023/05/12/gen-zers-are-redefining-the-values-of-the-luxury-market-status-and-prestige-are-out-sustainability-and-inclusivity-are-in/
- https://magazine.artland.com/next-gen-art-collectors/