×

พ.ร.บ. นมผง มีผลบังคับใช้แล้ววันนี้ ห้ามโฆษณา ลด แลก แจก แถม แม่ดาราระวังโพสต์

08.09.2017
  • LOADING...

     วันนี้ (8 กันยายน 2560) เป็นวันแรกที่พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 หรือที่เรียกกันอย่างย่อโดยทั่วไปว่า ‘พ.ร.บ. นมผง’ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว

     ศ. คลินิก เกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่ประกาศใช้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มทารกและเด็กเล็ก เพื่อควบคุมการส่งเสริมการตลาด ผ่านสื่อโฆษณาและวิธีการลด แลก แจก แถม ของผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก หรือผลิตภัณฑ์นมผงให้เป็นไปอย่างเหมาะสมเพื่อให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่อย่างเต็มที่

     ขณะที่สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ มุ่งเน้นการห้ามโฆษณา หรือ ห้ามสื่อสารทางการตลาดทุกช่องทาง โดยเฉพาะอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กที่มีอายุ 0-3 ปี

     ซึ่งอาหารที่เราคุ้นเคยสำหรับให้แก่ทารกและเด็กเล็กก็คือนมผง และหมายรวมถึง ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ใช้เป็นอาหารที่มีส่วนประกอบของสารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะใช้เลี้ยงทารกตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร

     มาตรการตามกฎหมาย ในมาตรา 14 ได้กำหนดห้ามผู้ใดโฆษณาอาหารสำหรับทารก (0-1 ปี) ตลอดจนห้ามทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก (0-3 ปี) คือการกำหนดห้ามโฆษณานมสูตร 1 สำหรับทารกอายุ 0-12 เดือน และนมสูตร 2 สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี แต่ในนมผงสูตร 3 ยังสามารถโฆษณาได้

     ส่วนมาตรา 15 กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นําเข้า หรือผู้จําหน่ายอาหารสําหรับทารก หรืออาหารสําหรับเด็กเล็กหรือตัวแทน ต้องดําเนินการให้ฉลากอาหารสําหรับทารกและฉลากอาหารสําหรับเด็กเล็กแตกต่างกันอย่างชัดเจนและสามารถมองเห็นหรือแยกแยะได้โดยง่าย หมายความว่าผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงฉลากภายในระยะเวลา 1 ปี ดังนั้น กันยายน ปี 2561 ผู้ประกอบการทุกรายจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ตามกรอบเวลาของกฎหมาย

     อีกมาตราสำคัญก็คือ มาตรา 18 ได้กำหนดห้ามแจกหรือให้คูปอง ให้ส่วนลด รางวัล ของขวัญ ห้ามแจกนมผงสูตร 1 และ 2 แม้แต่นมผงตัวอย่าง และห้ามติดต่อหญิงตั้งครรภ์ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อส่งเสริม สนับสนุน หรือแนะนําให้ใช้อาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็ก

     รวมทั้งห้ามตัวแทนผู้ใดจัด หรือให้การสนับสนุนในการจัดการประชุม อบรม หรือสัมมนาด้านวิชาการเกี่ยวกับอาหารเสริมสําหรับทารกด้วย

     ด้าน นพ. ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ห้ามการโฆษณานมผงสำหรับผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ใช้คำว่า ‘ผู้ใด’ ดังนั้น จึงหมายรวมถึงประชาชนทุกคนโดยทั่วไป ซึ่งจะไม่สามารถทำการโฆษณานมผงสำหรับทารกได้

     “โดยเฉพาะ คุณแม่ที่เป็นดาราแล้วมีลูกเล็กต้องระมัดระวังการโพสต์ภาพนมผง หรือข้อความต่างๆ ที่อาจเข้าข่ายที่มีเจตนาเป็นการโฆษณาทางอ้อมให้กับผู้ประกอบการบริษัทต่างๆ ซึ่งอาจจะมีความผิดตามกฎหมายทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ” นพ. ธงชัย กล่าว

     สำหรับกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดโทษไว้ในมาตรา 34 ว่า ผู้ใดโฆษณาอาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็กอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 14 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือผู้ใดโฆษณาอาหารเสริมสําหรับทารกอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 25 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง

     แต่ยังมีอัตราโทษที่แบ่งตามลักษณะการกระทำความผิด ซึ่งได้กำหนดไว้ในมาตราอื่นๆ แล้วแต่กรณี และหากตรวจสอบและปรับ หากพบการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท จนกระทั่งสูงสุดถึง 300,000 บาท แล้วแต่กรณี

     นพ. ธงชัย กล่าวว่า เมื่อกฎหมายประกาศใช้แล้ว จากนี้ก็จะต้องเข้าสู่มาตรการในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาดูแล และออกประกาศฉบับย่อยต่างๆ เพื่อมากำกับตามกฎหมาย รวมทั้งจะมีการประเมินภายหลังกฎหมายฉบับนี้มีการใช้ไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อติดตามผลลัพธ์ด้วย

     ด้าน ไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย แสดงทัศนะในเรื่องนี้ว่า แวดวงโฆษณาจะได้รับผลกระทบไม่มาก เนื่องจากกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกและเด็กใช้งบฯ โฆษณาผ่านสื่อไม่ถึง 2% ของงบฯ โฆษณารวม หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท และอาจจะต้องมีการปรับเนื้อหาการโฆษณาให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

 

อ้างอิง:

  • ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ฉบับเต็ม www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/072/1.PDF
  • เว็บไซต์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข www.anamai.moph.go.th
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X