×

ปมบ้านพักทหารกับ 3 ทางรอดของ พล.อ. ประยุทธ์ ในมุมมองของ เจษฎ์ โทณวณิก

01.12.2020
  • LOADING...
ประยุทธ์

HIGHLIGHTS

  • รศ.เจษฎ์ โทณวณิก วิเคราะห์กรณีศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ เป็นไปได้ 2 รูปแบบคือ พล.อ. ประยุทธ์ หลุดออกจากตำแหน่ง เพราะมีการกระทำที่มีการขัดกันของผลประโยชน์ อีกรูปแบบหนึ่งคือ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่หลุดออกจากตำแหน่ง เพราะไม่มีการกระทำที่มีการขัดกันของผลประโยชน์
  • จากรณีดังกล่าว การอนุญาตให้พักบ้านทหาร สำหรับกองทัพถือว่าเป็นการอนุญาตปกติ แต่สำหรับคนทั่วไปมองว่าเป็นการอนุญาตเป็นพิเศษ ดังนั้นเป็นข้อที่ต้องถกเถียงกัน และจะถือว่าเป็นปกติตามมาตรา 184 (3) หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ
  • รศ.เจษฎ์ มองว่า แม้ พล.อ. ประยุทธ์ จะพ้นจากตำแหน่งจากคำวินิจฉัยของศาล ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ชุมนุมเย็นลงได้บ้าง แต่ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ยังคงอยู่ จึงยังคงมีเชื้อไฟ เพราะสิ่งที่ต้องการที่สุดยังไม่ได้รับการตอบสนอง

วันที่ 2 ธันวาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ จากการยื่นร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (3) เป็นการกระทำที่มีการขัดกันของผลประโยชน์หรือไม่ กรณีอาศัยในบ้านพักทหาร แม้ว่าจะเกษียณอายุมาแล้ว 6 ปี

 

เมื่อวันจันทร์ (30 พฤศจิกายน) THE STANDARD Daily เชิญ รศ.เจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการและอดีตกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ มาวิเคราะห์ถึงประเด็นดังกล่าวว่าผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและอนาคตของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในบทบาทนายกรัฐมนตรีจะเป็นรูปแบบใดได้บ้าง

 

ผลการวินิจฉัยที่ออกมาได้ 2 แนวทาง

รศ.เจษฎ์ กล่าวว่า ออกได้สองรูปแบบตามที่มีการพูดถึงกัน รูปแบบหนึ่งคือ พล.อ. ประยุทธ์ หลุดออกจากตำแหน่ง เพราะมีการกระทำที่มีการขัดกันของผลประโยชน์อีกรูปแบบหนึ่งคือ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่หลุดออกจากตำแหน่ง เพราะไม่มีการกระทำที่มีการขัดกันของผลประโยชน์

 

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 184 (3) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานปกติ

 

รศ.เจษฎ์ กล่าวต่อว่า มาตราดังกล่าวนำมาใช้กับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้วย จึงเป็นมาตราที่ถูกยื่นร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ หากจะดูว่าเป็นการขัดกันของผลประโยชน์หรือไม่ ต้องไปดูที่ว่า ‘เป็นปกติ’ คือปกติสำหรับผู้ใด และ ‘ไม่เป็นพิเศษ’ คือไม่เป็นเป็นพิเศษสำหรับผู้ใด ถ้าบอกว่าเป็นพิเศษสำหรับ พล.อ. ประยุทธ์ ก็จบ

 

ข้อถกเถียง ‘อนุญาตเป็นพิเศษ’ และ ‘อนุญาตเป็นปกติ’

รศ.เจษฎ์ กล่าวอีกว่า สำหรับกองทัพ ผู้ดำรงตำแหน่งที่เคยเป็นอดีตแม่ทัพนายกองที่อยู่ในค่ายใดค่ายหนึ่งก็อาจจะได้รับสิทธิ์ให้พักในค่ายนั้น โดยกฎเหล่านี้จะระบุอยู่ในระเบียบย่อยซึ่งแตกต่างกันตามแต่ละค่าย แต่ไม่ได้ระบุไว้ในระเบียบใหญ่ที่บอกเพียงว่าเกษียณแล้วให้ออกภายใน 180 วัน

 

จากกรณีดังกล่าว การอนุญาตให้พักบ้านทหาร สำหรับกองทัพถือว่าเป็นการอนุญาตปกติ แต่สำหรับคนทั่วไปมองว่าเป็นการอนุญาตเป็นพิเศษ ดังนั้นเป็นข้อที่ต้องถกเถียงกัน และจะถือว่าเป็นปกติตามมาตรา 184 (3) หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ

 

ทั้งนี้ รศ.เจษฎ์ มองว่า มีโอกาสที่ท่านตุลาการจะลงมติไม่เป็นเอกฉันท์ หรือมีความคิดไม่เป็นไปในทางเดียวกัน

 

3 กรณี พล.อ. ประยุทธ์ หลุดจากข้อกล่าวหา

รศ.เจษฎ์ ได้ยกตัวอย่างกรณีที่จะทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ พ้นจากการยื่นร้องดังนี้ 

 

กรณีที่หนึ่ง ‘ไม่เป็นพิเศษ’: เป็นปกติของการงานของหน่วยราชการ หรือ เป็นปกติของกองทัพที่ให้สิทธิ์นายกรัฐมนตรีทุกท่านสามารถพักในบ้านของกองทัพได้

 

กรณีที่สอง ให้สิทธิ์นายกรัฐมนตรีสามารถเข้าพักในบ้านพักของกองทัพได้: แต่ต้องมีการร้องขอสิทธิ์ ซึ่งบัญเอิญ พล.อ. ประยุทธ์ ได้มีการร้องขอสิทธิ์ จึงไม่มีความผิด

 

กรณีที่สาม กองทัพจัดสรรบ้านให้นายกรัฐมนตรีกรณีที่มีความจำเป็น: เช่น บ้านพิษณุโลก ซึ่งเป็นบ้านพักสำหรับนายกรัฐมนตรีมีปัญหา ไม่มีความเหมาะสมในการพักอาศัย ทางกองทัพก็จะจัดสรรบ้านให้กับนายกรัฐมนตรี

 

รศ.เจษฎ์ กล่าวว่าถ้าเข้ากรณีที่กล่าวไป พล.อ. ประยุทธ์ ก็จะหลุดพ้นจากข้อร้องเรียน อย่างไรก็ตาม หากบอกว่าเป็นการจัดสรรให้กับอดีตผู้บัญชาการทหารบก เช่นเดียวกับก่อนหน้าที่ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก เคยอนุญาตให้จัดสรรบ้านพักให้กับ ส.ส. และ ส.ว. หรือว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ก็จะเกิดข้อสงสัยว่า การจัดสรรให้เป็นปกตินั้นเป็นปกติสำหรับบุคลคลผู้ดำรงตำแหน่งทั่วไป หรือเป็นปกติสำหรับผู้ที่เป็นอดีตข้าราชการของกองทัพ

 

“ถ้าเป็นปกติสำหรับทุกคน ก็จะไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าเป็นปกติสำหรับคนที่เคยดำรงตำแหน่งในกองทัพ ก็คงต้องถกเถียงกัน” รศ.เจษฎ์ กล่าว

 

เทียบกรณีมาตรา 184 (3) ‘สมัคร สุนทรเวช’ กับ ‘พล.อ. ประยุทธ์’

จากกรณี สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า สมัครเป็นลูกจ้าง รับเงินจากบริษัทที่เป็นนายจ้างเกิน 3,000 บาทจากการทำรายการอาหาร ถือเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 (3) ส่วนกรณีของ พล.อ. ประยุทธ์ อาศัยของบ้านพักทหารตั้งแต่เกษียณจนปัจจุบัน

 

รศ.เจษฎ์ มองว่ามาตรา 184 (3) เป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการขัดกันของผลประโยชน์ แต่ต่างกัน กรณีของสมัครถูกระบุว่าเป็นลูกจ้างที่รับเงิน แม้จะเท่าไรก็ผิด แต่ถ้ารับประโยชน์อื่นใด หากเป็นปกติจะรับเท่าไรก็สามารถรับได้ ดังนั้น กรณีของ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่เหมือนกับของสมัคร เพราะไม่ใช่ลูกจ้าง

 

แคนดิเคตนายกรัฐมนตรีคนใหม่ 

หากศาลตัดสินให้ พล.อ. ประยุทธ์ มีความผิด ทำให้พ้นสภาพจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้รัฐสภาต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งในปัจจุบันจะมีแคนดิเดตทั้งหมด 5 คน ประกอบด้วยจากพรรคเพื่อไทย 3 คน ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ชัยเกษม นิติสิริ และชัชชาติ สิทธิพันธุ์, พรรคประชาธิปัตย์ 1 คนคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคภูมิใจไทยคือ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

 

รศ.เจษฎ์ ระบุว่า กรณีของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ แม้ว่าจะลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที 30 พฤศจิกายน แต่ยังไม่ได้ลาออกจากบัญชีที่เสนอเป็นนายกฯ ก็ยังถือว่าเป็นแคนดิเดตได้อยู่ เช่นเดียวกับ พล.อ. ประยุทธ์ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐแต่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อเสนอเป็นนายกฯ ก็สามารถเป็นนายกฯ ได้

 

“นอกจากแคนดิเดต 5 รายชื่อนี้ ยังสามารถเป็นบุคคลอื่นได้ แต่ต้องอาศัยเสียง ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่จะสามารถนำคนนอกบัญชีเข้ามาโหวตได้” รศ.เจษฎ์ กล่าว

 

พล.อ. ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่ง ผู้ชุมนุมจะมีท่าทีอย่างไร

รศ.เจษฎ์ มองว่า อาจจะทำให้ผู้ชุมนุมเย็นลงได้บ้าง แต่ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ยังคงอยู่ จึงยังคงมีเชื้อไฟเพราะสิ่งที่ต้องการที่สุด ยังไม่ได้รับการตอบสนอง

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising