วันนี้ (24 มีนาคม) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษา คดีปาระเบิด ซึ่งได้รับโอนมาจากศาลทหาร ภายหลังการยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้คดีความมั่นคงขึ้นศาลทหาร หมายเลขดำ อ.3060/2562 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สุภาพร มิตรอารักษ์, วาสนา บุษดี, ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ แหวน พยานปากเอกคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม, สุรพล เอี่ยมสุวรรณ, วสุ เอี่ยมละออ และ สมชัย อภินันท์ถาวร เป็นจำเลยที่ 1-6 ในข้อหาเป็นอั้งยี่, ร่วมกันสมคบก่อการร้ายฯ, มียุทธภัณฑ์เครื่องกระสุนปืนฯ และร่วมกันใช้ให้ทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/2, 209, 288, 289, 83, 84, 91 พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 55 พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 มาตรา 5, 7, 15, 42
คำฟ้องโจทก์ระบุพฤติการณ์สรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 1-5 กุมภาพันธ์ 2558 จำเลยที่ 1-6 สมคบกันเพื่อก่อการร้าย ตระเตรียมลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบ RED-5 เพื่อนำไปใช้ก่อเหตุขว้างใส่สถานที่สำคัญ ในวันและเวลาที่อยู่ระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร โดยจำเลยที่ 1-6 ใช้จ้างวาน วิเชียร ชะลอยรัมย์ ให้นำลูกระเบิดไปขว้างใส่บริเวณสวนลุมพินี, สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีจตุจักร หรือศาลอาญา แห่งใดแห่งหนึ่ง แต่วิเชียรมิได้กระทำการตามที่ถูกใช้ ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2558 เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมระเบิดชนิดดังกล่าวจำนวน 1 ลูก เป็นของกลาง
วันนี้จำเลยทั้ง 4 เดินทางมาศาล ซึ่งมีจำเลย 2 คนถูกคุมขังในคดีนี้เเละคดีอื่นที่เกี่ยวพันกัน
ภายหลังฟังคำพิพากษา วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความเปิดเผยว่า ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1, 2, 3, 5, 6 ข้อหาร่วมกันเป็นอั้งยี่ ร่วมกันตระเตรียมการหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ครอบครองยุทธภัณฑ์ พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ เนื่องจากไม่มีประจักษ์พยานมายืนยันตามคำกล่าวอ้างของ พล.ต. วิจารณ์ จดแตง และ พล.ต.ต. สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ (ตำเเหน่งขณะนั้น) พยานที่ซักถามในค่ายทหาร มีเพียงบันทึกซักถามเท่านั้น นอกจากนี้การโอนเงินก็ไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ว่าโอนเงินไปด้วยวัตถุประสงค์ใด จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลยทั้งหมด
ส่วนจำเลยที่ 4 ติดคุกมานานจึงรับสารภาพข้อหาอั้งยี่ ศาลลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ตามที่รับสารภาพ 4 ปี ลดกึ่งหนึ่ง 2 ปี แต่ถูกคุมขังมาแล้ว 7 ปี ส่วนข้อหาตระเตรียมหรือสมคบกันร่วมกันก่อการร้ายและข้อหาอื่นยกฟ้องเช่นกัน จึงต้องปล่อยตัวต่อไป
วิญญัติเปิดเผยต่อว่าสำหรับคดีนี้ทางทีมทนายความ เรียกว่าคดีตระเตรียมปาระเบิด ซึ่งทั้ง 6 คนถูกกล่าวหาว่าร่วมกันเป็นอั้งยี่ ตระเตรียม สมคบกันเพื่อก่อการร้าย โดยวางแผนให้สมาชิกดำเนินการก่อเหตุขว้างระเบิด 100 จุด พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อต้องการให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือเสรีภาพของประชาชน ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวและเกิดความวุ่นวายปั่นป่วนขึ้นในประเทศ ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าเหตุใดทหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ยับยั้งจับกุมเพื่อระงับก่อนมีการก่อเหตุ ซึ่งขณะนั้นบ้านเมืองอยู่ในระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก
พวกเขาถูกตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงและถูกคุมขังมานับปี หนักที่สุดคือ จำเลยที่ 1 เป็นผู้หญิง ต้องตกเป็นจำเลย ถูกทหารเข้าบุกค้นบ้านที่จังหวัดมุกดาหาร การข่าวอ้างว่าเธอสนับสนุนทางการเงิน จากการตรวจค้นบ้านครั้งที่สอง พบมีลูกระเบิด RGD-5 ที่ไม่มีชนวนระเบิด 1 ลูก มันไม่สามารถใช้เป็นระเบิดก่ออันตราย หรือจะถือว่าเป็นยุทธภัณฑ์ที่ก่อการร้ายได้ ทำให้ต้องทุกข์ทรมานจากรัฐที่ใช้กระบวนการและอำนาจตามกฎหมายคุมขังเธอตั้งแต่ 13 มีนาคม 2558 ถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ก็ยังมีจำเลยที่ 4 (ผู้ชาย) ที่ยังถูกคุมขังมาถึงปัจจุบัน
คดีนี้จึงเป็นคดีภาคต่อกับ ‘คดีปาระเบิดหน้าศาลอาญา ที่เหตุเกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 ด้วยลูกระเบิด RGD-5 เหตุในครั้งนั้นไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ มีเพียงป้อม รปภ. และแท่งปูนลานจอดรถเสียหายไม่มากนัก ทำให้จำเลยบางคนทั้งสองคดีถูกแยกฟ้อง 2 คดี ซ้ำซ้อนกัน ทั้งที่ตำรวจและอัยการทหารสามารถฟ้องพวกเขาเป็นคดีเดียวได้ โดยคดีปาระเบิดหน้าศาลอาญา ซึ่งมีจำเลยในคดี 14 คน ถูกคุมขังถึงปัจจุบัน 3 คน ส่วนคนอื่นถูกคุมขังแล้วประกันตัวได้ ซึ่งคดีปาระเบิดดังกล่าวนั้น อีกไม่นานนี้ก็จะมีการอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น