×

ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ≠ ยกเลิกทหาร การส่งเสริมความเข้าใจและความจำเป็นในการปฏิรูปกองทัพ

04.04.2024
  • LOADING...
เกณฑ์ทหาร

ฤดูการ เกณฑ์ทหาร กลับมาอีกครั้งในตอนนี้ โดยคาดว่าปีนี้จะมียอดความต้องการพลทหาร 8 หมื่นคน ลดลงจากปกติในระดับหนึ่ง และคาดว่ามียอดสมัครเข้ามาเป็นทหารจำนวน 4 หมื่นคน ซึ่งถือว่าสูงมาก ทำให้สุดท้ายจะมีการเกณฑ์เหลือเพียง 4 หมื่นคน ซึ่งก็ถือว่าน้อยกว่าปกติเช่นกัน

 

การยกเลิกเกณฑ์ทหารเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาหลายปีในสังคม แต่ถือว่ามีพัฒนาการมาโดยตลอด ซึ่งพัฒนาการนั้นเป็นไปในทางจะต้องเปลี่ยนจากระบบเกณฑ์เป็นระบบสมัครใจเนื่องจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งในเชิงแนวคิดและโครงสร้างสังคม

 

ข้อถกเถียงตอนนี้คงไม่ใช่ว่าควรจะยกเลิกการเกณฑ์ทหารหรือไม่ เพราะหลายฝ่ายมองไปในทางเดียวกันว่าควรยกเลิก เอาจริงๆ แม้แต่กองทัพก็มีการดำเนินนโยบายเพื่อนำไปสู่การไม่ต้องเกณฑ์ เพียงแต่ตอนนี้วิธีการจะต่างกัน ถ้าถามพรรคก้าวไกลก็คือการแก้กฎหมายเพื่อยกเลิกการเกณฑ์ทหารและเปลี่ยนไปสู่ระบบสมัครใจ ซึ่งจะทำให้ไม่มีการเกณฑ์ทหารแน่นอน 

 

ส่วนการดำเนินการของพรรคเพื่อไทยในตอนนี้เป็นการพยายามลดจำนวนการเกณฑ์ลงด้วยการลดความต้องการและเพิ่มจำนวนผู้สมัคร ซึ่งมองว่าสุดท้ายถ้าคนสมัครเยอะก็จะไม่ต้องเกณฑ์ไปเองโดยไม่ต้องแก้กฎหมาย ซึ่งก็จะคล้ายๆ แนวทางของกระทรวงกลาโหมเช่นกัน

 

ดังนั้นใครจะคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการไม่เกณฑ์ทหารก็คงไม่ทันแล้ว เพราะสังคมค่อนข้างมีฉันทมติ แค่จะไม่เกณฑ์ด้วยวิธีไหนเท่านั้น หรือแค่ใครจะเรียกอย่างไร จะเรียกยกเลิกเกณฑ์ทหาร เรียกเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ เรียกพลทหารอาสา หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่อย่างน้อยขอให้ผลลัพธ์มันคือไม่มีเกณฑ์เป็นใช้ได้

 

แต่ถ้าอยากจะเปลี่ยนระบบความมั่นคงของประเทศไทยให้ไม่ต้องมีการเกณฑ์ทหารจริงๆ ก็มีหลายเรื่องที่ต้องทำ เช่น

 

  1. การแก้กฎหมาย เพราะมีกฎหมายบางฉบับที่ต้องแก้ไข เช่น พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ยากนัก มีหลายร่าง หลายตัวอย่างที่ถูกเสนอเข้าสภาแล้ว สภาสามารถหยิบมาพิจารณาได้เลย

 

  1. ภาครัฐต้องปรับทัศนคติ เพราะการมีทหารเยอะๆ ไม่ใช่สัญญาณของกองทัพที่เข้มแข็ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือกองทัพในทุกวันนี้ที่มีตำแหน่งอัตราเยอะแต่ประสิทธิภาพยังไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น เพราะอัตราส่วนค่าใช้จ่ายบุคลากรของกระทรวงกลาโหมของไทยนั้นสูงมากอย่างน่าเป็นห่วง สูงกว่าสหรัฐฯ จีน หรือหลายประเทศในยุโรปด้วยซ้ำ สะท้อนว่าเราต้องเอาเงินไปจ่ายเงินเดือนแต่ไม่มีเงินมาทำงานหรือซื้อเครื่องมือเพื่อทำงาน

 

ดังนั้นอัตราต้องลดลง เมื่ออัตราลดลง ความต้องการพลทหารก็น้อยลง และในทางกลับกันเราก็เหลืองบประมาณมากขึ้นมาเพิ่มสวัสดิการให้กับพลทหารเพื่อจูงใจได้

 

  1. เมื่ออัตราลด ทำให้ต้องปรับแนวคิดของภาครัฐในการใช้กำลังทหาร เพื่อป้องกันประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่หน้าที่รักษาความสงบ ช่วยเหลือภัยพิบัติ พัฒนาประเทศ การให้ทหารไปทำหน้าที่ในสิ่งที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาคือการดึงกำลังทหารที่จะใช้ปฏิบัติงานชายแดนและป้องกันประเทศไปทำงานที่ทหารไม่ควรต้องทำ

 

รัฐบาลร่วมกับกลาโหมและกองทัพเองควรพิจารณาให้ทหารรับเฉพาะหน้าที่หลัก ส่วนหน้าที่อื่นอาจใช้ทหารเมื่อฝ่ายพลเรือนขาดคน หรือกองทัพจัดสรรกำลังพลได้โดยไม่กระทบหน้าที่หลัก โดยไม่ควรต้องมีคนหรืออัตราเพื่อหน้าที่ดังกล่าวโดยเฉพาะ หรือเป็นคนรับหน้าเองแทนหน่วยงานรัฐอื่น นอกจากนี้ทหารเองยังมีหน้าที่พิทักษ์สถาบันหลักของชาติ ซึ่งมีผลต่อการบริหารกำลังพลด้วย ทั้งหมดนี้จึงเป็นภาระที่กองทัพ กลาโหม และรัฐบาล จะพิจารณาร่วมกันเพื่อให้ใช้กำลังพลที่มีจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

  1. กองทัพก็ต้องปรับตัวเช่นกัน ต่อไปอาจจะต้องปรับอัตราด้วยการลดจำนวนตำแหน่งที่ต้องใช้พลทหารลง เปลี่ยนมาใช้นายสิบมากขึ้น รองรับการปฏิบัติงานของทหารชั้นประทวนที่สามารถปฏิบัติงานในกองทัพไปได้เรื่อยๆ ซึ่งตัวอย่างมีให้เห็นทั่วไปในหลายประเทศ ทั้งค่าย NATO และค่ายตะวันออก ชอบแบบไหนเลือกมาเลย เรื่องนี้น่าจะช่วยสร้างประสิทธิภาพให้กับกองทัพเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ เพราะแทนที่จะฝึกทหารปีละสองครั้งเพื่อใช้งานแค่ 6 เดือน – 2 ปี เราก็สามารถฝึกทหารและใช้งานได้ยาวๆ ขั้นต่ำ 5 ปี หรือไปจนเกษียณ และตามมาด้วยสิ่งที่ควรต้องแก้คือเส้นทางการเติบโตของกำลังพลที่ควรต้องเปิดกว้างกว่านี้

 

  1. อีกสิ่งหนึ่งที่กองทัพต้องปรับตัวก็คือการนำพลทหารไปทำงานที่ไม่ควรทำ เพราะในปัจจุบันต้องยอมรับว่าแม้จะน้อยลงแต่ยังมีอยู่แน่นอน งานเลี้ยงไก่ ซักผ้า ทำสวน ให้กับบ้านนายทหารต่างๆ ต้องหมดไปอย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะเป็นการทุจริตแล้ว ยังเป็นการดึงอัตราคนไปใช้ในหน้าที่ที่ไม่ถูกต้องอีกด้วย โดยเฉพาะเป็นเรื่องที่สังคมไม่ยอมรับ

 

  1. แรงต่อต้านหนึ่งที่ไม่ให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารอาจจะมาจากการที่ผลประโยชน์ของการเกณฑ์ทหารที่มีจำนวนเงินหมุนเวียนทุกปี ซึ่งถ้าการเกณฑ์ทหารหายไป ผลประโยชน์ตรงนี้ก็หายไป ตรงนี้ต้องแก้แน่นอนไม่ว่าการเกณฑ์ทหารจะยกเลิกหรือไม่ แต่ถ้าแก้ตรงนี้ให้ได้ก่อน เชื่อว่าแรงต่อต้านก็จะหายไปพอสมควร

 

  1. นอกจากนั้นกองทัพก็ต้องปรับตัว เพราะถ้าไม่ต้องเกณฑ์ กองทัพก็จะนั่งเฉยๆ รอเลือกคนเข้ามาไม่ได้แล้ว กองทัพต้องพยายามทำประชาสัมพันธ์เพื่อดึงคนให้มาเป็นทหาร ในทางกลับกันก็ต้องทำให้สภาพการฝึกและการใช้ชีวิตเป็นทหารดีขึ้น เพื่อจูงใจให้คนอยากมาเป็นทหาร

 

  1. อีกอย่างเมื่อเพิ่มสวัสดิการให้พลทหารเพื่อดึงดูดคนให้มาเป็นทหารหลังไม่มีการเกณฑ์แล้ว สวัสดิการของทหารชั้นประทวนและสัญญาบัตรก็ต้องเพิ่มตาม ดังนั้นสุดท้ายทหารก็ได้เงินเพิ่มได้สวัสดิการเพิ่มอยู่ดี ซึ่งก็ถือว่าจะได้ประโยชน์กันทั้งหมดไม่ว่าชั้นผู้น้อยหรือชั้นผู้ใหญ่ อันนี้เป็นตรรกะง่ายๆ เลย แต่ได้เงินเพิ่มงานก็ต้องเพิ่ม ทหารก็ต้องขยันขึ้น ใช้คนให้น้อยลงเพื่อให้งานออกมาเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม ซึ่งก็เป็นตรรกะปกติของทุกการทำงานเช่นกัน

 

  1. อีกข้อสำคัญก็คือเรามีความจำเป็นต้องการปฏิรูประบบกำลังสำรอง เพราะถ้าไม่มีการเกณฑ์ทหาร ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเรียน รด. ในระบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าไม่มีการเกณฑ์ทหาร ระบบกำลังสำรองควรจะดีและมีประสิทธิภาพกว่านี้ เช่น อาจต้องเปลี่ยนการเรียน รด. ให้เป็นภาคบังคับ มีการฝึกราวสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ใช้เวลา 1-2 ปีก็พอ เพราะถ้าฝึกมากกว่านี้ก็ไม่ต่างจากเกณฑ์ทหาร รวมถึงจัดระบบกำลังสำรองที่ดีและมีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งเราสามารถหยิบตัวอย่างจากต่างประเทศมาได้หลายประเทศ ใกล้ๆ นี้ก็สิงคโปร์ที่หยิบยืมมาสักครึ่งหนึ่งในส่วนของการฝึกทบทวนและการเรียกระดมพลโดยไม่จำเป็นต้องมีการเกณฑ์แบบสิงคโปร์

 

  1. สุดท้ายอยากทำความเข้าใจอีกครั้งหนึ่งว่า การยกเลิกการเกณฑ์ทหารไม่เท่ากับการยกเลิกทหาร มันแค่เปลี่ยนวิธีการได้มาซึ่งทหาร ซึ่งเรื่องนี้จริงๆ เข้าใจไม่ยาก แต่ไม่แน่ใจว่าทำไมไม่ค่อยมีใครเข้าใจกัน เพราะพอพูดถึงยกเลิกเกณฑ์ทหารก็จะมีคนมาบอกว่าทหารยังจำเป็น ยังต้องมีทหาร ซึ่งมันคนละเรื่องกันเลย เพราะการอธิบายว่ายกเลิกเกณฑ์ทหารจะทำให้ไม่มีทหารหรือไม่มีกองทัพป้องกันประเทศเป็นความเข้าใจที่ผิด ไม่สมเหตุสมผล

 

ดังนั้นแม้ว่าน่าเสียดายที่ปีนี้ยังคงมีการเกณฑ์ทหารอยู่ แต่ก็เห็นสัญญาณที่ดีว่าจำนวนเกณฑ์เริ่มลดลง เราก็หวังว่าสุดท้ายประเทศไทยจะเปลี่ยนจากระบบเกณฑ์เป็นระบบสมัครใจให้ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้กองทัพต้องปรับตัวให้ทันสมัยมากขึ้น เพราะต้องทำให้สภาพการทำงานดีและดึงดูดให้คนมาสมัคร จะเป็นกองทัพแบบเดิมไม่ได้แล้ว

 

และเราก็อยากเห็นกองทัพโฉมใหม่ที่ทันสมัย เป็นมืออาชีพ มีจำนวนกำลังพลที่เหมาะสม ทำหน้าที่ดูแลชายแดนไม่ให้มีใครรุกล้ำ ในส่วนชีวิตความเป็นอยู่ก็ต้องดูแลกำลังพลดี ไม่มีการซ้อมทรมาน ไม่ต้องเอาพลทหารไปเลี้ยงไก่หรือซักกางเกงในให้นาย และสุดท้ายคือทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเดียว นั่นก็คือการป้องกันประเทศ ไม่ใช่การเล่นการเมืองครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising