วันนี้ (11 เมษายน) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการที่คณะกรรมาธิการเตรียมเชิญแม่ทัพภาคที่ 3, ผอ.กอ.รมน.ภาค 3, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, คณบดีคณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร, สถานทูตสหรัฐอเมริกา และพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้อง เข้าชี้แจง กรณีออกหมายจับ ในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ต่อ พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการสัญชาติอเมริกัน ในวันที่ 24 เมษายนนี้
วิโรจน์กล่าวว่า ต้องการสอบถามถึงรายละเอียดว่า ข้อกล่าวหาคืออะไรกันแน่ เกิดจากกรณีไหน หรือเหตุการณ์ใด และเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่อย่างไร เพราะขณะนี้ทุกคนทราบแต่เพียงว่าถูกกล่าวหาเรื่องมาตรา 112 แต่ยังไม่มีใครรู้ในรายละเอียดเลย
ส่วนที่มีการเลื่อนวันจาก 17 เมษายน เป็น 24 เมษายนนั้น วิโรจน์เข้าใจว่าหน่วยงานราชการบางหน่วยงานไม่พร้อมที่จะมา และกังวลว่าทางกองทัพภาคที่ 3 จะอ้างถึงความฉุกละหุก หรือความปัจจุบันทันด่วน แล้วจะปฏิเสธได้ เราจึงให้เวลา มีการแจ้งล่วงหน้า ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังไม่มีการตอบรับมาจากหน่วยงานใด
เมื่อถามว่า มองว่าเรื่องนี้รัฐบาลเกี่ยวข้องหรือไม่ หรือเป็นการดำเนินการของกองทัพภาคที่ 3 เอง วิโรจน์ให้ความเห็นว่า ในเบื้องต้นนี่ก็อาจเป็นข้อสันนิษฐานได้ ตนมองว่า รัฐบาลไม่น่าจะทราบในรายละเอียด แต่น่าจะเป็นการดำเนินการของกองทัพภาคที่ 3 โดยที่อาจจะไม่มีระบบการรายงานตามสายการบังคับบัญชาอย่างครอบคลุมเพียงพอ
วิโรจน์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องยอมรับว่า กองทัพภาคที่ 3 อาจไม่ได้มีความรัดกุมเพียงพอ เนื่องจากกรณีนี้ เป็นประเด็นที่เกี่ยวโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระหว่างไทยกับประเทศที่เรียกว่า เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ และก็เป็นประเทศที่เราเกินดุลการค้าจำนวนมาก ซึ่งเราเองก็ควรให้การไตร่ตรอง เพราะจะส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคนี้ด้วย ดังนั้น ก็ต้องมีความชัดเจนก่อน การบังคับใช้กฎหมายอะไร ก็ต้องอธิบายได้ กับทั้งคนในประเทศ และคนในสากลโลก
ทั้งนี้ ด้วยการที่หลายฝ่ายยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอ มีเพียงข้อสันนิษฐาน มีแต่การคาดการณ์ว่าอาจจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือได้รับข้อมูลที่ตรงกันบ้างไม่ตรงกันบ้าง แต่การแจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลที่มีสัญชาติอเมริกัน และเป็นนักวิชาการ โดยที่ยังไม่ทราบรายละเอียดนั้น แต่มาตรา 112 ต้องยอมรับตรงๆ ว่าอาจเกี่ยวพัน และอาจจะส่งผลกระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ดังนั้น ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบประณีต มีเหตุมีผล และอธิบายกับสังคมได้
เมื่อถามถึงกรณีที่ให้ประกันตัว แต่ต้องใส่กำไล EM และถอนวีซ่านั้น วิโรจน์กล่าวว่า อย่าให้สันนิษฐานเลย เพราะตอนนี้คือเรากำลังสันนิษฐาน ภายใต้สิ่งที่สังคมยังไม่รู้ความจริงเลย และในสภาวะที่ไม่มีใครรู้ความจริงนี้ คนที่เกลียดชัง ก็เกลียดชังอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ได้อยู่บนข้อเท็จจริง หรือคนที่ต่อว่าภาครัฐ ก็ต่อว่าโดยที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ดังนั้น หากตนให้ข้อสันนิษฐานอะไรไป อาจจะเกิดการตีความไปในเชิงบวกและเชิงลบอีก
วิโรจน์มองว่า การบังคับใช้มาตรา 112 หากปล่อยให้สังคมเคลือบแคลงสงสัย และเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานที่ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏ หรือกรณีที่บางคนตีความว่าหน่วยงานภาครัฐไปกลั่นแกล้งเขา ขณะที่บางคนก็ระบุว่า คนนี้ทำผิดจริง กลายเป็นทำตัวเป็นศาล อย่างนี้ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง
“ลำพังแค่ประมวลกฎหมายปกติ เรายังต้องทำให้ความชัดเจนเกิดขึ้นเลย แต่นี่เป็นมาตราที่เกี่ยวข้อง และเกิดผลกระทบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หากทุกคนน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเคยพระราชทานเอาไว้อย่างชัดเจนว่า การใช้มาตรา 112 โดยไม่ประณีต ผู้ที่เดือดร้อนคือตัวองค์พระมหากษัตริย์เอง ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเขาผิดหรือถูก สังคมต้องรับรู้ หากผิดก็ว่าไปตามผิด ไม่ใช่นำไปตีความโยงใย หากเขาถูกก็ต้องให้ความเป็นธรรม”
ส่วนเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้มาตรา 112 อย่างไม่ประณีต ไม่รอบคอบ ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ต้องได้รับโทษอย่างร้ายแรง ไม่ให้เป็นเยี่ยงเป็นอย่าง กับหน่วยงานราชการอื่นอีก ย้ำว่าความจริงสำคัญที่สุด อย่าเพิ่งไปตีความว่าผิดหรือถูก เราไม่ใช่ศาล