×

Midsommar เทศกาลสยอง กับชิ้นส่วนของเรื่องจริงที่ประกอบสร้างเป็นฉากหลังให้กับหมู่บ้าน Hårga

01.09.2022
  • LOADING...

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ Midsommar เทศกาลสยอง

 

Midsommar เทศกาลสยอง (2019) ภาพยนตร์สยองขวัญไอเดียแหวกจากผู้กำกับชาวอเมริกัน Ari Aster เจ้าของผลงานสุดเฮี้ยนอย่าง Hereditary (2018) โดยค่าย A24 โคจรกลับมาให้คอภาพยนตร์สยองขวัญได้สัมผัสประสบการณ์หลอน ณ หมู่บ้านอันห่างไกลในประเทศสวีเดนกันอีกครั้งทาง Netflix 

 

เรื่องราวที่ส่งให้ Midsommar กลายเป็นที่พูดถึงไปอย่างกว้างขวางคือ การนำเอาความเชื่อแบบคติชนวิทยา (Folklore) ในแถบสแกนดิเนเวีย ที่มีรากฐานความเชื่อจากศาสนาท้องถิ่นก่อนการเข้ามาของศาสนาศริสต์ มาสร้างสรรค์ในแง่มุมอันสยดสยองที่ฉาบหน้าด้วยความสวยงามและอ่อนหวาน ผ่านเรื่องราวของลัทธินอกรีต (Scandinavian Pagan Cult) มีความเชื่อแบบสุดโต่งที่ดำเนินมาหลายร้อยปีและยังคงความเข้มข้นอยู่ในหมู่บ้าน Hårga โดยหากดูจากในภาพยนตร์เราจะเห็นพิธีกรรมที่แปลกตามากมาย เช่น การสังเวยชีวิตของคนในหมู่บ้าน ประเพณีการกระโดดลงจากหน้าผาของคนเฒ่าคนแก่ และการคัดเลือกราชินีแห่งเดือนพฤษภาคม (Queen of May)

 

ความเชื่อที่ถูกเล่าใน Midsommar นั้นเกิดขึ้นที่ไหน และมีความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด THE STANDARD POP จะมาเล่าให้ฟังกัน 

 


 

ความเชื่อชาวนอร์สและเทศกาลฤดูร้อน

 

ชาวนอร์ส หรือชื่อที่เราคุ้นเคยจากสื่อต่างๆ ว่าชาวไวกิ้ง ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของประเทศในยุโรปเหนือ โดยศาสนาดั้งเดิมที่เป็นรากฐานของประเพณี-พิธีกรรมต่างๆ ของผู้คนในแถบนี้มีรากฐานมาจากปกรณัมนอร์ส (Norse Mythology) มีลักษณะแบบพหุเทวนิยม หรือการนับถือเทพเจ้าหลายองค์ โดยมี โอดิน (Odin) เป็นเทพสูงสุด ซึ่งศาสนาดั้งเดิมและความเชื่อท้องถิ่นเหล่านี้ทรงอิทธิพลและเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนก่อนการเข้ามาของศาสนาคริสต์

 

ภาพ: Getty images

 

และด้วยฤดูร้อนที่มีระยะเวลาสั้นมากในประเทศแถบสแกดิเนเวีย ทำให้ช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปีจะมีการจัดเทศกาลฤดูร้อน หรือ Midsummer Festival ซึ่งเป็นเทศกาลที่เริ่มต้นมาจากศาสนาดั้งเดิม ก่อนจะกลายเป็นวันสำคัญทางศาสนาคริสต์ โดยรูปแบบเทศกาลที่มีการใช้เสาเมย์โพล (Maypole) เป็นศูนย์กลางของงาน ถูกริเริ่มที่ประเทศเยอรมนีในยุคปลายศตวรรษที่ 17 หรือปลายศตวรรษที่ 18 โดยชาวสวีดิชรวมถึงประเทศอื่นๆ ในแถบยุโรปก็ยังคงมีการจัดเทศกาลฤดูร้อนตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน  

 

ภาพ: IMDb

 


 

หมู่บ้าน Hårga และตำนานปีศาจพื้นบ้าน

 

ถึงแม้ว่าชื่อหมู่บ้าน Hårga จะมีอยู่จริงในตอนกลางของสวีเดน แต่หมู่บ้านที่ปรากฏในภาพยนตร์นั้นไม่ได้อ้างอิงมาจากเรื่องจริงเชิงประวัติศาสตร์แต่อย่างใด โดยคำว่า Hårga ที่ถูกใช้เป็นชื่อหมู่บ้านที่สามารถสืบค้นกลับไปถึงบทเพลงสำหรับเด็กที่เป็นตำนานพื้นบ้านของสวีดิชในชื่อ The Song of Hårga หรือ Hårgalåten ที่เล่าเกี่ยวกับปีศาจที่จำแลงกายมาเป็นนักไวโอลิน และบังคับให้ชาวบ้านเต้นจนกว่าจะตาย 

 

ตำนานพื้นบ้าน, บทเพลง Hårga, การแข่งขันเต้นคัดเลือก (Hälsingehambon) และเมย์โพล (Maypole) นั้นมีปรากฏมาตั้งแต่อดีต และยังคงสืบทอดเป็นประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งตำนานดังกล่าวถูกเล่าในภาพยนตร์ก่อนที่จะเริ่มการแข่งขันคัดเลือกราชินีแห่งเดือนพฤษภาคม 

 

ภาพ: attestupor

 


 

Ättestupa การกระโดดผาอันศักดิ์สิทธิ์

 

พิธีกรรมการกระโดดหน้าผาอันเป็นฉากที่สร้างความตกตะลึงแก่ผู้ชม เป็นพิธีกรรมที่ถูกกล่าวถึงในมหากาพย์โบราณของชาวสวีเดนที่ชื่อว่า ‘Gautreks Sagas’ ซึ่งคำว่า Ättestupa เป็นทั้งคำที่ใช้เรียกหน้าผาที่มีอยู่มากมายในลักษณะภูมิประเทศของสวีเดนและไอซ์แลนด์ และยังหมายถึงพิธีกรรมกระโดดหน้าผาเพื่อจบชีวิตของตัวเอง 

 

มหากาพย์ดังกล่าวได้อธิบายถึงการฆ่าตัวตายนี้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อคนเฒ่าคนแก่ไม่สามารถดูแลตัวเอง ไม่มีความสามารถในการเป็นที่ปรึกษาของคนในชุมชนได้อีกต่อไป พวกเขาต้องกลายเป็นภาระให้ลูกหลานต้องเลี้ยงดู แทนที่จะทนมีชีวิตอยู่กับความทรมาน พวกเขาเลือกจะขึ้นไปที่หน้าผาในละแวกหมู่บ้านเพื่อจบชีวิตของตัวเองจากโลกใบนี้ แล้วมีชีวิตใหม่กับมหาเทพโอดิน 

 

ซึ่งมีความแตกต่างไปจากในภาพยนตร์เรื่อง Midsommar ที่นำเสนอว่าพิธีกรรมนี้จะเกิดเมื่อคนมีอายุ 72 ปี และเมื่อประกอบพิธีกรรมแล้ว ชื่อของพวกเขาจะถูกสืบทอดต่อในเด็กทารก เพื่อเป็นสัญญะของการเกิดใหม่และวัฏจักรของชีวิตที่หมุนวนไปในชุมชน 

 

ภาพ: IMDb

 

พิธี Ättestupa นั้นถือได้ว่าเป็นพิธีกรรมของชาวนอร์สในยุคก่อนศาสนาคริสต์ที่มีการกล่าวถึงในมหากาพย์ Gautreks และมุขปาฐะเรื่องเล่าที่ไหลเวียนในชุมชน แต่ไม่มีหลักฐานบันทึกถึงการสืบทอดและการปฏิบัติของพิธีกรรมดังกล่าวอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ว่ามีกลุ่มคนที่สืบทอดพิธีกรรมนี้อยู่จริงหรือไม่ ทำให้พิธีกรรมนี้มีสถานะเป็นตำนานและเรื่องเล่ามากกว่าเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์

 

แต่ในขณะเดียวกัน นักมานุษยวิทยาและนักประวัติศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่า หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือตำนานคำบอกเล่าในชุมชน ก็ถือเป็นหลักฐานที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของความเชื่อและหลักปฏิบัตินี้เช่นกัน โดยการปรากฏของพิธี Ättestupa ในโลกยุคปัจจุบันถูกกล่าวถึงในสื่อ ได้แก่ รายการวิทยุ Mosebacke Monarki ในช่วงปี 1960, ซีรีส์คอเมดี้ Norsemen ในปี 2016 และ Midsommar ในปี 2019

 

ภาพ: IMDb

 


 

Midsommar เทศกาลสยอง เป็นภาพยนตร์ที่จะพาเราไปทำความรู้จักกับตำนานและความเชื่อพื้นบ้านของชาวสวีดิชที่อยู่อีกมุมโลกหนึ่ง นำเสนอผ่านสื่อกระแสหลักได้อย่างมีเอกลักษณ์ นอกเหนือจากพิธีกรรมที่ปรากฏอย่างชัดเจนที่เราได้เอามาเล่าให้ฟัง ในภาพยนตร์ยังหยิบองค์ประกอบจากสังคมสวีดิชยุคก่อนการเข้ามาของศาสนาคริสต์มาใช้ได้อย่างลื่นไหล เช่น รูปวาดต่างๆ ที่ใช้บอกใบ้ถึงเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น, การทำยาเสน่ห์, การมีความสัมพันธ์ในเครือญาติใกล้ชิด (Incest), เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย, สถาปัตยกรรม และอักษรรูน ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นเสน่ห์ของภาพยนตร์ที่จะทำให้ผู้ชมได้เก็บรายละเอียดและมองหาคำบอกใบ้และสัญญะต่างๆ ทำให้ภาพยนตร์มีการเล่าเรื่องที่มีมิติมากขึ้น

 

ใครที่เป็นคอภาพยนตร์สยองขวัญที่ต้องใช้การตีความเพื่ออ่านเรื่องราวในอีกระนาบหนึ่ง Midsommar เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คุณไม่ควรพลาด เพราะอรรถรสของประสบการณ์หลอนในฤดูร้อนนี้จะตราตรึงคุณไปอีกนาน

 

สามารถรับชม Midsommar เทศกาลสยอง ได้แล้วที่ Netflix 

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising