×

Midsommar ยิ่งสว่างยิ่งมืดมน ยิ่งไม่รู้ยิ่งน่ากลัว

15.08.2019
  • LOADING...

ความอึดอัด เงียบงันที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่อยู่ในโรงภาพยนตร์, ความเหวอเมื่อหนังจบ, บทสนทนาระหว่างนั่งรถกลับบ้านที่จับต้นชนปลายไม่ถูกและไม่แน่ใจจริงๆ ว่าสิ่งที่ อาริ แอสเตอร์ (ผู้กำกับ Hereditary) ต้องการบอกกับเราผ่านผลงานล่าสุดอย่าง Midsommar คืออะไรกันแน่

 

คือความรู้สึกหนักใจก่อนเขียนบทความชิ้นนี้ เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นในหนังล้วนเป็นเรื่องลี้ลับ ที่ไม่รู้จริงๆ ว่าสิ่งที่คิดหรือรู้สึกนั้นตรงความจริงที่หนังต้องการจะสื่อบ้างหรือเปล่า ถ้าจะพูดให้ยิ่งกว่านั้นก็คือ แค่จะบอกว่า Midsommar เป็นหนังที่ ‘สนุก’ หรือเปล่า ตัวเราเองก็ยังไม่แน่ใจในคำตอบนั้นเท่าไรนัก

 

หลังจากนั่งคิดอยู่หลายตลบ และคำตอบที่ได้จากการตีความส่วนใหญ่คือความ ‘ไม่รู้’ จนเกิดความรู้สึกขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งว่า ความ ‘ไม่รู้’ นี่ล่ะคือหนึ่งในประเด็นที่น่าพูดถึงที่สุดในหนังเรื่องนี้ 

 

 

พล็อตเรื่องจริงๆ ของ Midsommar นั้นแสนเรียบง่าย ว่าด้วยคู่รักที่กำลังเศร้าโศกและประสบปัญหาความสัมพันธ์ ออกเดินทางไปร่วมเทศกาลเฉลิมฉลองเทศกาลขอบคุณเทพแห่งแสง ณ ดินแดนที่ช่วงเวลากลางคืนโผล่มาเพียงเศษเสี้ยว พร้อมกับเพื่อนนักศึกษามานุษยวิทยาที่มีความสนใจและความต้องการแตกต่างกันไป 

 

แล้วตัวละครทั้งหมดก็ใช้เวลาไปกับการค้นหาคำตอบ ขัดแย้ง เยียวยาหัวใจ และค่อยๆ ถลำลึกไปกับพิธีกรรมและพิธีกรรมสุดประหลาด (ในมุมมองคนนอก) ตั้งแต่กินสมุนไพรแล้วนั่งมองท้องฟ้า หลอมรวมตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่เริ่มแสดงให้เห็นตั้งแต่ยังไม่ทันเข้าหมู่บ้าน ที่เป็นสัญญาณบอกคนดูว่าความไม่ปกติพิศวงกำลังจะเริ่มต้นขึ้น

 

Midsommar

Midsommar

 

หนังดำเนินเรื่องตามสไตล์ Folk Horror ที่สร้างความสยองขวัญด้วยการเล่นกับพิธีกรรม ความเชื่อ และวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองในพื้นที่ห่างไกล ตั้งแต่ความเชื่อที่แบ่งหน้าที่ของคนตาม 4 ช่วงอายุ, การอำลาโลกเพื่อให้กำเนิดชีวิตใหม่, มื้ออาหารที่ต้องเริ่มจากหัวโต๊ะ, การเต้นเพื่อหาราชินี, อุปาทานหมู่ชวนคลั่ง, การสมสู่ร่วมสายโลหิตเพื่อสร้าง ‘คน’ ในแบบที่ต้องการ

 

ไปจนถึงรายละเอียดเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในเสื้อผ้าหน้าผม, รอยยิ้ม, อาหาร, เครื่องดื่ม, ท่าทางการเคลื่อนไหว, ภาพวาดบนผืนผ้า, มงกุฎดอกไม้, บทสวด, หยดเลือด, เปลวไฟ, รอยสลักบนก้อนหินและฝาผนัง, อาคารสถาปัตยกรรม ที่ทีมงานออกแบบมาอย่างหมดจด สวยงาม แต่ก็แลกมากับ ‘สัญญะ’ ที่ซ่อนตัวลึกอยู่ในทุกๆ รายละเอียด ลึกเกินกว่าสติปัญญาของเราจะตีความเข้าใจ 

 

ถึงแม้จะเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดไม่ได้ แต่สิ่งที่เราชื่นชมมากๆ คือความ ‘กล้า’ ของ อาริ แอสเตอร์ ผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จอย่างมากกับการสร้างซีนฉยองขวัญในที่มืดจน Hereditary กลายเป็นหนึ่งในหนังสยองขวัญที่ดีที่สุดในปี 2018 จนหลายคนคาดหวังว่าจะได้เห็นบรรยากาศแบบนั้นอีกครั้ง 

 

 

แต่สิ่งที่เขาทำใน Midsommar ใช้เวลาฟ้ามืดที่มีไม่กี่ชั่วโมงในการพูดคุย แก้ปัญหา (มีฉากสยองที่เกิดขึ้นตอนกลางคืนเพียงแค่ 1 ฉากสั้นๆ) แล้วให้ไปเจอกับฉากสยองขวัญท้าทายพระอาทิตย์ที่ส่องแสงจ้าอยู่ด้านบน โดยใช้สัญลักษณ์ พฤติกรรม และพิธีกรรมเหนือจินตนาการ เป็นเครื่องมือสร้างความน่ากลัวที่ยิ่งกว่าความมืดมิดให้กับตัวละครและผู้ชม 

 

ถ้าสิ่งที่หนังสยองขวัญทั่วไป หรือที่ อาริ แอสเตอร์ ทำใน Hereditary คือบังคับให้คนดูปิดตาจากการลุ้นระทึกกับสถานการณ์บีบคั้นก่อนหรือหลังยิง Jump Scare ใส่แบบไม่ยั้งให้ตายกันไปข้างหนึ่ง 

 

Midsommar

Midsommar

 

แต่ความน่ากลัวใน Midsommar เกิดขึ้นจากการวัดใจคนดูด้วยการเน้นซีนที่โหดร้าย รุนแรง น่าสะอิดสะเอียน ทั้งในฉากกินข้าว เต้น มีเซ็กซ์ ทำร้ายร่างกายอย่างเชื่องช้า ชัดเจน เห็นกันแบบจะจะ (Midsommar ได้รับเรต ฉ.20) 

 

และขยายเวลาให้ยาวนานไร้จุดสิ้นสุด เหมือนท้าทายให้คนดูแข่งกันว่า ระหว่างเหตุการณ์จบกับคนดูทนไม่ไหวจนต้องหลับตาเบือนหน้าหนี อะไรจะเกิดขึ้นก่อนกัน และแน่นอนว่าผลการแข่งขันของคนที่มีภูมิคุ้มกันฉากสยองขวัญต่ำอย่างเราคือแพ้แบบขาดลอย 

 

เวลาดูหนังสยองขวัญตามปกติ แสงอาทิตย์จะเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้เรารู้สึกเป็นสุข เป็นช่วงเวลาให้ได้พักหายใจ แต่กลายเป็นว่าใน Midsommar ยิ่งสว่างเรายิ่งอึดอัด เพราะยิ่งได้เห็นภาพสุดสยอง สะอิดสะเอียนแบบเต็มๆ ไม่มีความมืดช่วยอำพราง และเห็นความมืดมิดในจิตใจมนุษย์ที่พร้อมทำ ‘ทุกอย่าง’ เพื่อพิธีกรรม ความเชื่อที่เราไม่มีวันเข้าใจได้มากขึ้นเท่านั้น 

 

รวมทั้งสัญลักษณ์ต่างๆ จำนวนมากที่ซ่อนอยู่ในหนังที่เราตีความไม่แตก ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หลอกล่อให้เราจดจ่อ พยายามตีความอย่างใกล้ชิด และยิ่งเราพาตัวเองลงลึกไปหาคำตอบตั้งแต่อยู่ในโรงภาพยนตร์ และมวลความรู้สึกที่ยังติดตา ค้างคาหลังหนังจบ 

แต่พอยืนอยู่บนพื้นฐานของความ ‘ไม่รู้’ ไปพร้อมๆ กับถูกสะกดจิตด้วยความสยองขวัญที่หาที่มาที่ไปไม่ได้ กลายเป็นว่า ‘จินตนาการ’ ของเราเองนี่ล่ะที่ขยายให้ความกลัวกับสิ่งที่เห็นใน Midsommar พองตัวถึงขีดสุด ทั้งที่จริงๆ ข้อความในหนังอาจจะไม่มีอะไรน่ากลัวอย่างที่คิดเลยก็เป็นได้

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising