×

อว. เปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ นำร่อง 30 หลักสูตร Smart Tourism, Robotic and AI จ่ายไม่เกิน 1,000 บาท

โดย THE STANDARD TEAM
18.06.2020
  • LOADING...

วันนี้ (18 มิถุนายน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เดินหน้ายกระดับผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ให้มีการเตรียมความพร้อมในทุกมิติ มุ่งเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยล่าสุดได้ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 19 แห่ง เปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ ‘Future Skill x New Career Thailand’ อย่างเป็นทางการ โดยเป็นการนำร่อง 30 หลักสูตรในเบื้องต้น ซี่งส่วนมากเป็นรูปแบบเรียนฟรีที่รัฐให้การสนับสนุน มีเพียงบางหลักสูตรที่อาจจะมีการเก็บค่าใช้จ่ายไม่เกิน 1,000 บาท เพื่อให้ผู้ว่างงาน แรงงานคืนถิ่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ บัณฑิตที่กำลังจบการศึกษาได้สร้างงาน สร้างอาชีพด้วยตนเอง 

 

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การอยู่ในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่แค่รับมือเทคโนโลยีที่จะมาดิสรัปชัน แต่ยังมีเรื่องของภัยคุกคามต่างๆ มากมาย และที่ได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคธุรกิจอย่างรุนแรง สถานประกอบการหลายแห่งต้องหยุดประกอบการ แรงงานได้รับผลกระทบทางตรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดยถูกเลิกจ้าง ซึ่งกระทรวง อว. เล็งเห็นถึงปัญหานี้ และจะต้องเร่งพัฒนาทักษะให้กลุ่มผู้ว่างงาน แรงงานคืนถิ่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระให้ที่มีศักยภาพพร้อมทำงานหลังวิกฤตโควิด-19 เพื่อเพิ่มผลิตภาพให้กับธุรกิจและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ 

 

ซึ่งขณะนี้มีการเตรียมความพร้อมในทุกมิติ มีการระดมสรรพกำลังของสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชนในสังกัดของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill / Upskill / Newskill) เพื่อการมีงานทำและการเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคตหลังวิกฤตโควิด-19 ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้มีงานทำอย่างเร่งด่วน มุ่งพัฒนาวิชาชีพตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เพื่อการมีงานทำ ประกอบด้วย

 

  • กลุ่มทักษะสำหรับอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) 
  • ทักษะการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ (Care Giver) 
  • ทักษะสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอัจฉริยะ (Smart Tourism) 
  • ทักษะสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล ด้านการจัดการข้อมูลดิจิทัล (Data Science) 
  • ทักษะสำหรับอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future) 
  • ทักษะสำหรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotic and AI) 
  • ทักษะเพื่อการพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม (Smart Innovative Entrepreneur) 
  • ทักษะการผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์ (Creative Content) และอื่นๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ

 

ทางด้าน รศ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า สำนักงานปลัดฯ (สป.อว.) ได้สนับสนุนงบประมาณรวมทั้งสิ้น 14 ล้านบาท ให้สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาหลักสูตรเสริมทักษะที่เป็นหลักสูตรฝึกอบรม (Non Degree) เพื่อเป็นการลงทุนในมนุษย์และให้ปัญญามนุษย์ในการต่อสู้กับโควิด-19 อย่างแท้จริง และรับมือการอยู่ในโลกศตวรรษที่ 21 ที่เทคโนโลยีมาดิสรัปชัน 

 

ดังนั้นทักษะต่างๆ แรงงานจะต้องขยับไปข้างหน้าตาม Future Skill Set ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ สาขาอุตสาหกรรมดิจิทัล สาขาอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ สาขาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร สาขาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ สาขาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ สาขาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ สาขาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ สาขาอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยี สาขาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร สาขาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และสาขาอุตสาหกรรมพัฒนาทักษะและกำลังคน 

 

ขณะเดียวกัน ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า โครงการนี้มีสถาบันอุดมศึกษานำร่องที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการบริหารโครงการของ อว. จำนวน 19 แห่ง ในหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non Degree) มีมหาวิทยาลัยของรัฐ 17 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และมีมหาวิทยาลัยเอกชนนำร่อง 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารโครงการฯ ได้พิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ประกอบด้วย 

 

  1. หลักสูตรที่เสนอต้องตรงกับความเชี่ยวของสถาบันอุดมศึกษา 
  2. สามารถระบุความต้องการและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและผูกโยงกับการได้งานทำ และการทำงานที่มีคุณภาพ 
  3. หลักสูตรสามารถระบุทักษะที่มีมาตรฐานพร้อมวิธีวัดและประเมินผล 
  4. แต่ละหลักสูตรต้องมีผู้เข้ารับการอบรมไม่น้อยกว่า 30 คน 
  5. วิทยากรมีคุณวุฒิและประสบการณ์เพียงพอในการถ่ายทอดความรู้ 
  6. มีอุปกรณ์ เครื่องมือพื้นฐานเพียงพอต่อการจัดอบรม 
  7. มีการประเมินผลเพื่อตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานทั้งก่อนและหลังการอบรม 

 

นอกจากนี้ได้จัดให้มีกระบวนการ Post Audit เพื่อการรับรองหลักสูตร ซึ่งหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจะได้รับการส่งเสริมให้สามารถสะสมหน่วยกิตเพื่อรับปริญญาได้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทย

 

อย่างไรก็ตาม ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานกรรมการบริหารการส่งเสริมและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะชั้นสูงตามความต้องการของประเทศ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่กระจายของโควิด-19 นอกจากจะสร้างผลกระทบทางสุขภาพ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นตัวเร่งที่ทำให้อาชีพหลายๆ อาชีพในสังคมหายไป และเชื่อว่าหลังจากสถานการณ์นี้จบลงแล้ว อาชีพจำนวนไม่น้อยก็ยังยากที่จะกลับมาได้เหมือนปกติ บางอาชีพอาจจะไม่ฟื้นตัวอีกเลยก็เป็นไปได้ หรือที่กลับมาก็จะเป็นแบบเดิมๆ ทำให้สังคมไทยเราเผชิญกับวิกฤตซ้ำซาก นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจำเป็นต้อง Reskill Upskill แพลตฟอร์ม Future Skill x New Career Thailand ของกระทรวง อว. จะเป็นการยกระดับศักยภาพคนไทยให้มีทักษะพร้อมรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ช่วยเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพจากหลักสูตรที่หลากหลาย มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาทักษะในผู้เรียนได้อย่างแท้จริงและมีคุณภาพ โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ (18 มิถุนายน) ทาง www.futureskill-newcareer.in.th ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: https://www.facebook.com/FutureSkillNewCareerThailand/ หรือ LINE: @fsncth 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X