×

อว. ตั้ง ‘ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม’ วอร์รูมติดตาม-ช่วยเหลือประชาชน

โดย THE STANDARD TEAM
26.08.2024
  • LOADING...

วันนี้ (26 สิงหาคม) ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าวการจัดตั้ง ‘ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม อว.’ โดยกล่าวว่า ตนได้สั่งการให้กระทรวง อว. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม อว. ขึ้นมา ซึ่งจะตั้งอยู่ที่ห้อง 7B ชั้น 7 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. เป็นวอร์รูมในการวางแผน ประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ และสั่งการไปยังหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว.

 

ทั้งนี้เพื่อนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และสิ่งของที่จำเป็น ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด เพื่อช่วยสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลในการรองรับเหตุ แก้ไขปัญหา บรรเทาผลกระทบ และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยเร็วที่สุด โดยเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

 

พร้อมมอบหมายให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการประจำจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือประชาชน เป็นที่พักพิงชั่วคราว และเป็นศูนย์กระจายสิ่งของที่จำเป็น รวมถึงเป็นหน่วยประสานงานในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จังหวัดเชียงราย, มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน จังหวัดน่าน, มหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา, มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดสุโขทัย, วิทยาลัยชุมชนระนอง จังหวัดระนอง, มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จังหวัดยะลา, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา

 

ศุภมาสกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันตนได้มอบหมายให้หน่วยงานในกระทรวง อว. สนับสนุนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รองรับสถานการณ์ใน 3 ระยะ ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ คือ 1. ‘การเฝ้าระวังน้ำท่วม’ กระทรวง อว. มีระบบการติดตามสถานการณ์น้ำ เฝ้าระวัง แจ้งเตือน และวางแผนอพยพได้อย่างทันท่วงที จากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ที่เป็นหน่วยรวบรวม เชื่อมโยง บูรณาการ และวิเคราะห์ ข้อมูลน้ำและภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อน้ำ 435 รายการ และมีรถโมบายล์เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ โดยศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม อว. จะนำเสนอข้อมูลใน 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วยข้อมูลติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำปัจจุบันแบบเรียลไทม์ ระบบเว็บไซต์ และโมบายล์แอปพลิเคชัน สำหรับติดตามสถานการณ์น้ำ

 

นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA จะสนับสนุนข้อมูลมายังศูนย์ปฏิบัติการแห่งนี้ใน 2 ชุดข้อมูลที่สำคัญ ประกอบด้วยการติดตามสถานการณ์ด้วยดาวเทียมจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นประจำทุกวัน สถานการณ์ความเสี่ยงน้ำท่วมจากสถิติพื้นที่น้ำท่วมย้อนหลัง 10 ปี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะแจ้งผ่านเพจของกระทรวง อว. ทุกวัน ในเวลา 13.00 น.

 

2. การให้ความช่วยเหลือระหว่างเกิดภัยน้ำท่วม ซึ่งนอกจากจะเปิดพื้นที่ของมหาวิทยาลัยให้เป็นศูนย์บรรเทาและพักพิงให้ผู้ได้รับผลกระทบแล้ว ยังระดมกองทัพโดรนกว่า 30 ลำ ทั้งในส่วนของกระทรวง อว. และเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคมาปฏิบัติภารกิจในการสำรวจและลำเลียงสิ่งของไปมอบให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก

 

นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังมีแพลตฟอร์มการบริหารจัดการข้อมูล ทั้งการแจ้งเหตุสถานการณ์ในพื้นที่ การขอความช่วยเหลือและการรับบริจาค พร้อมจะดูแลนักศึกษาและบุคลากรของกระทรวง อว. ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจจำนวนและจะได้ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ต่อไป ที่สำคัญตนได้สั่งการให้ สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. และ ศ. ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. ลงพื้นที่ในวันพรุ่งนี้ (27 สิงหาคม) ไปทำงานกับ อว. ส่วนหน้า จังหวัดสุโขทัย ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในลำดับต่อไป

 

“ดิฉันในฐานะ รมว.อว. มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยครั้งนี้ ขอยืนยันว่าการช่วยเหลือจะไปถึงมือประชาชนอย่างแน่นอน โดยการระดมทั้งกำลังคน เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อส่งให้ถึงมือประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ เพราะกระทรวง อว. รับรู้ถึงทุกข์สุขของประชาชน และนี่คือศูนย์ปฏิบัติการที่จะกระจายความช่วยเหลือไปถึงประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด” ศุภมาสกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X