×

อว. และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เผยไทยรั้งอันดับ 43 โลก ดัชนีประเทศสามารถพัฒนานวัตกรรม ด้านสวิตเซอร์แลนด์ผงาดอันดับหนึ่ง

โดย THE STANDARD TEAM
24.09.2021
  • LOADING...
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2564 (Global Innovation Index 2021: GII 2021) ภายใต้ธีม ติดตามการปรับตัวระบบนวัตกรรมในภาวะวิกฤตโควิด-19 (Tracking Innovation through the COVID-19 Crisis) ซึ่งจัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) เพื่อวัดระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมเสมือนมาตรวัดเปรียบเทียบเชิงเวลา และการเปรียบเทียบเชิงแข่งขันทางด้านนวัตกรรมของแต่ละประเทศกว่า 132 ประเทศทั่วโลก 

 

ในปีนี้ประเทศไทยขยับขึ้นมาหนึ่งอันดับ ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 43 (ปี 2020 อันดับ 44) ถือเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ที่อยู่ในอันดับ 8 และมาเลเซีย ในอันดับ 36 ของโลก และแซงเวียดนามที่ตามมาในอันดับ 44 

 

โดยปัจจัยสัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งลงทุนโดยองค์กรธุรกิจยังคงสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 

 

ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงผลการจัดอันดับว่า “กระทรวง อว. มีบทบาทหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์และรังสรรค์นวัตกรรม โดยมุ่งเน้นการบ่มเพาะและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการนวัตกรรม การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการสร้าง และแปลงนวัตกรรมสู่มูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม 

 

“เราเชื่อมั่นว่าการที่นวัตกรรมจะเดินหน้าอย่างก้าวกระโดดนั้น ต้องอาศัยความเข้มแข็งของภาคเอกชน โดยมีภาครัฐเป็นกองหนุนที่สำคัญ เพื่อทำให้ประเทศไทยดีดตัวเองออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูงด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม โดยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ประเทศไทยสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อช่วยรับมือวิกฤตโควิดได้สำเร็จมากมาย เช่น ชุดพีพีอี หน้ากากพีเอพีอาร์ ห้องไอซียูความดันลบ ระบบโฮมไอโซเลชัน ฯลฯ 

 

“นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาวัคซีนจากฝีมือคนไทยกว่า 4 ชนิด ที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดลองขั้นสุดท้ายในคน จะเห็นได้ว่าประเทศมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็น ‘ประเทศแห่งนวัตกรรม’ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการขับเคลื่อนนวัตกรรมประเทศไทยให้ก้าวสู่อันดับ 1 ใน 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลก ภายในปี 2573 โดยในปีนี้ ผลการจัดอันดับ GII 2021 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 43 ปรับดีขึ้น 1 อันดับ จากปี 2020”

 

สำหรับปัจจัยชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทยที่โดดเด่นมากที่สุด เป็นกลุ่มปัจจัยด้าน ‘ระบบตลาด’ และกลุ่มปัจจัยด้าน ‘ระบบธุรกิจ’ ที่แม้จะมีการปรับตัวลดลงมาเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับที่ดี โดยเฉพาะสัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งลงทุนโดยองค์กรธุรกิจ (อันดับ 1) สะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศไทยมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจด้วยการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น 

 

ส่วนประเด็นความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดสำหรับปีนี้เป็นกลุ่มปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ปรับอันดับขึ้นจาก 79 มาอยู่ในอันดับที่ 60 โดยตัวชี้วัดภายใต้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเข้าถึง และการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงการบริการออนไลน์ของภาครัฐ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์การปรับตัวของภาครัฐและเอกชนในช่วงวิกฤตโควิด ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมข้อมูล (Data–driven Innovation)

 

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดด้านข้อมูลในการติดตามและวัดผลนวัตกรรม คือประเด็น ‘การขาดข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน’ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้มีการติดตามหรือจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ข้อมูลในส่วนนี้มีความคลาดเคลื่อน และส่งผลต่อการจัดอันดับในกลุ่มปัจจัยด้านการลงทุน 

 

ด้วยเหตุนี้ อว. จึงได้เสนอ 7 แนวทางที่จะช่วยขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมในประเทศอย่างเต็มศักยภาพ ประกอบด้วย การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่มีศักยภาพ, การพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ, การปรับปรุงกฎ ระเบียบ และมาตรการที่เป็นอุปสรรค, การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้และการลงทุน, การใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม, การกระจายโอกาสด้านนวัตกรรมไปสู่ภูมิภาค และการเตรียมความพร้อมต่อระบบนวัตกรรมที่กำลังเปลี่ยนไป

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising