การประกาศแผนลุยตลาดรถยนต์ไฟฟ้าประเทศไทยในปี 2562 ของแบรนด์ MG ด้วยโมเดล ‘MG eZS’ สร้างแรงกระเพื่อมให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยได้ไม่น้อย ไม่ใช่แค่ผู้บริโภคและคนที่สนใจเทคโนโลยี EV เท่านั้นที่เฝ้ารอการเปิดตัวและราคาวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการอย่างใจจดใจจ่อ แต่แบรนด์คู่แข่งในตลาดก็จ้องเขม็งรอดูสถานการณ์กันเป็นแถบๆ
ผู้สื่อข่าว THE STANDARD มีโอกาสเดินทางไปยังศูนย์เทคนิคของ SAIC Motor Corporation บริษัทแม่ของแบรนด์รถยนต์ MG ในเมืองอันติง เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เพื่อเยี่ยมชมกระบวนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมเป็นสักขีพยานในการทดสอบสมรรถนะบางส่วนของเจ้ารถยนต์ไฟฟ้า MG eZS ด้วยตัวเอง
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า MG eZS ที่เราได้ทดสอบสมรรถนะเบื้องต้นเป็นโมเดลที่วางจำหน่ายในประเทศจีน (พวงมาลัยขับซ้าย) ถ้าไม่นับสีพิเศษ ‘ฟ้า Copenhagen Blue’ รูปลักษณ์ภายนอกและภายในก็ถือว่าไม่ต่างจากโมเดลเดิมของ ZS มาก ยังคงเป็นรถ SUV ขนาดเล็ก 5 ที่นั่งที่โดดเด่นด้วยดีไซน์สปอร์ตโฉบเฉี่ยวเช่นเคย
MG eZS เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% ที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ขนาด 45 kWh ช่วยให้วิ่งได้สูงสุดที่ระยะทาง 335 กิโลเมตรต่อการชาร์จแบตเตอรี่เต็มหนึ่งครั้ง (ตามมาตรฐานสากลของ NEDC ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมการขับขี่ของผู้บริโภคด้วย) ส่วนโมเดลที่จะนำมาจำหน่ายในไทยจะถูกปรับฟีเจอร์บางส่วนเพื่อความเหมาะสมกับตลาด
การทดสอบประกอบด้วย 3 ส่วนคือ
- ทดสอบอัตราเร่ง (Accerlation)
- ทดสอบการยึดเกาะถนน (Slalom)
- ทดสอบประสิทธิภาพในการกันน้ำของแบตเตอรี่ที่ติดตั้งอยู่ใต้รถ
เริ่มต้นที่การทดสอบอัตราเร่ง เดิมทาง MG เคลมไว้ว่าอัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงของ MG eZS อยู่ที่ 7.8 วินาที ส่วน 0-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอยู่ที่ 2.8 วินาที ซึ่งจากการทดสอบจริงพบว่าอัตราเร่งของรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ทำได้น่าประทับใจมากๆ ใกล้เคียงกับอัตราที่เคลมไว้เลยทีเดียว เนื่องจากเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า จังหวะการออกตัวจึงพุ่งแรงสุดๆ เรียกว่าถ้าเผลอ ศีรษะก็ติดพนักพิงแบบไม่รู้ตัวได้เหมือนกัน (แต่ถ้าเท้าหนักกดมิดก็แลกมาด้วยอัตราสิ้นเปลืองพลังงานแบตเตอรี่)
การยึดเกาะถนนและระบบ Handling ก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน แม้จะเข้าโค้งด้วยความเร็ว ตัวรถก็ยึดเกาะถนนได้ดีและน่าพอใจ ไม่มีจังหวะโคลงเคลงหรือโยนตัวให้เห็น แถมระบบซีลปิดแบตเตอรี่กันน้ำที่ MG เคลมว่าได้รับมาตรฐานระดับ IP67 นั้น พวกเขาก็เล่นใหญ่ด้วยการเอาเจ้า eZS ลงไปโชว์วิ่งผ่านอ่างน้ำขนาดยักษ์ที่เติมน้ำลงไปในระดับความสูง 45 เซนติเมตรให้เห็นกันจะจะ
ทั้งนี้ทั้งนั้น การ Test Drive รถยนต์ไฟฟ้า MG eZS ขนาดย่อมๆ ในครั้งนี้ ถ้าให้เปรียบก็เหมือนออร์เดิร์ฟเรียกน้ำย่อยที่ยังบอกอะไรไม่ได้มาก แต่ก็ต้องยอมรับว่าด้วยประสิทธิภาพเบื้องต้นที่มีโอกาสได้สัมผัสกับตัวเอง ทำให้เราแทบไม่ต้องคิดด้วยซ้ำที่จะเพิ่มมันลงไปในลิสต์รถยนต์ไฟฟ้าที่น่าจับตาและน่าคบหาดูใจคันหนึ่ง
‘ราคาจำหน่ายต้องจับต้องได้’ โจทย์สำคัญที่ MG ประเทศไทย ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ
รถยนต์ไฟฟ้าในวันนี้ยังเป็นเทคโนโลยีที่ ‘ใหม่’ และเข้าถึงได้ยากมากๆ สำหรับผู้ใช้งานส่วนใหญ่ในตลาดประเทศไทย สาเหตุหลักๆ เป็นเพราะต้นทุนพัฒนาเทคโนโลยีที่สูง ราคาวางจำหน่ายจึงพลอยโหดร้ายไปด้วย
กรณีตัวอย่างนี้เราได้เห็นกันมาแล้วเมื่อช่วงต้นปี ที่แบรนด์ในตลาดแมสจากผู้ผลิตในญี่ปุ่นเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในเซกเมนต์ EV ออกมาด้วยราคาเหยียบหลัก 2 ล้านบาท ผลที่ตามมาจึงทำให้ผู้บริโภคบางส่วนพากันถอยกรูดแถบไม่ทัน กระแสสนใจที่เคยคุกรุ่นกลับมอดลงอย่างรวดเร็ว
โจทย์และการบ้านชิ้นใหญ่ที่ทาง MG ประเทศไทย จะต้องตีให้แตกคือทำอย่างไรก็ได้ให้ราคาวางจำหน่ายของ MG eZS เข้าถึงและจับต้องได้ง่าย ไม่ได้แพงจนเกินไป เพราะกรณีตัวอย่างก็มีให้เห็นมาแล้ว โดยราคาที่จีนนั้นเริ่มต้นที่ 1.2-1.5 แสนหยวน หรือประมาณ 5.5-6.9 แสนบาท ซึ่งทาง เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จะใช้วิธีการนำเข้าจากจีนมาจำหน่ายในไทย (ไม่เสียภาษี เนื่องจากได้รับการยกเว้นภายใต้ข้อตกลงการค้าระหว่างอาเซียนและประเทศจีน ในกลุ่มสินค้าประเภทรถยนต์ไฟฟ้า แต่ก็มีต้นทุนค่าดำเนินการ ฯลฯ)
พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลเบื้องต้นกับ THE STANDARD ว่า MG eZS ที่เตรียมจะวางจำหน่ายในไทยจะต้องอยู่ในช่วงราคาที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่จับต้องได้ และให้สัญญาว่าราคาจำหน่ายจะไม่เกิน 1.5 ล้านบาทแน่นอน
“เราตั้งเป้าไว้ว่าจะไม่ให้ราคาจำหน่ายเกิน 1.5 ล้านบาท เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดประเทศไทยวันนี้ก็มีราคาจำหน่ายเฉลี่ยสูงเกือบ 2 ล้านบาท ซึ่งจากการสำรวจกับผู้บริโภคพบว่าเป็นราคาที่สูงเกินไป ดังนั้น MG ก็ต้องทำราคาให้เป็นที่ยอมรับ จับต้องและเข้าถึงได้ง่ายกว่า”
ขณะที่ในช่วงแรก เนื่องจากดีมานด์และคาดการณ์วอลุ่มของ eZS อาจจะยังไม่สูงมากนัก MG ประเทศไทย จึงจะใช้วิธีการนำเข้ามาจากจีนเป็นหลัก ทำให้ต้นทุนค่าดำเนินการต่างๆ อาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของกรอบการกำหนดราคา
ทั้งนี้พงษ์ศักดิ์แย้มถึงความเป็นไปได้ที่ในอนาคตหาก MG ประเทศไทย สามารถผลิต eZS ได้ด้วยตัวเอง ก็มีโอกาสที่จะช่วยให้ MG ทำราคาจำหน่ายได้ดีกว่าเดิม โดยปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนพิจารณา และได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าผ่าน BOI กระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว
“เพราะยังเป็นเทคโนโลยีชั้นสูง ต้นทุนการผลิตจึงยังสูงอยู่ ผู้ผลิตก็มีความพยายามจะทำให้ราคามันถูกลง แต่ยังทำไม่ได้ มันก็เหมือนกับรถยนต์เทคโนโลยีไฮบริดในอดีต ตรงนี้ก็นับเป็นอุปสรรค และเราก็กำลังมองว่าจะทำอย่างไรให้สามารถทำราคาได้น่าสนใจที่สุด”
ในส่วนของความมั่นใจด้านประสิทธิภาพของแบตเตอรี่นั้น มีการเปิดเผยอย่างไม่เป็นทางการว่าทาง MG ประเทศไทยจะให้การรับประกันมอเตอร์ไฟฟ้า 5 ปี และแบตเตอรี่ถึง 10 ปีเต็ม เพื่อสร้างความมั่นใจในเทคโนโลยีให้กับผู้บริโภค
นอกจากนี้ในแง่การร่วมงานกับพาร์ตเนอร์เจ้าอื่นๆ MG ยังร่วมกับ EA บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ ในการเซ็น MOU ร่วมพัฒนาจุดชาร์จประจุไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯ ในระยะทางทุกๆ 5 กิโลเมตร ซึ่งผลลัพธ์ของการเป็นพันธมิตรในครั้งนี้จะช่วยให้ลูกค้าและผู้ใช้ eZS สามารถเชื่อมต่อระบบ i-Smart เพื่อค้นหาจุดชาร์จของ EA พร้อมจองใช้งานล่วงหน้าได้ทันที
และในเร็วๆ นี้ MG ยังเตรียมจะหารือกับการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในการติดตั้ง Wallbox ชาร์จประจุไฟฟ้าในบ้านพักอาศัยเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคได้อย่างครบวงจร
ภาพรวม 5 ปี เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) ดันยอดขาย 1 แสนคันในอีก 3 ปี ขยายเซกเมนต์เจาะ EV และรถกระบะ
ถ้านับระยะเวลาตั้งแต่ที่ เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) เริ่มเปิดตัวรถคันแรกของบริษัทและทำตลาดในไทยอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงกลางปี 2557 ปัจจุบันพวกเขาได้ดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว พร้อมยอดจำหน่ายรถยนต์ที่สูงกว่า 50,000 คัน
“ตลอดระยะเวลา 5 ปี เรามียอดจำหน่ายมากกว่า 50,000 คัน ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะถ้ามองในมุมที่ เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) เริ่มนับจากศูนย์ในช่วง 5 ปี แล้วสามารถผ่านหลัก 50,000 คันได้ก็ถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะ เติบโตได้เร็วกว่ารถยนต์แบรนด์อื่นๆ ที่เคยแนะนำในตลาดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ”
อย่างไรก็ดี ถ้ามองในเชิงส่วนแบ่งตลาด พงษ์ศักดิ์ยอมรับว่า เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) ยังไม่สามารถครอง Market Share ในจำนวนที่มากได้ เนื่องจากเพิ่งเข้ามาทำตลาดได้ไม่นาน ประกอบกับการแข่งขันในตลาดที่สูง ปัจจุบันจึงมีส่วนแบ่งในตลาดที่ 1 ดิจิต แต่ก็เชื่อว่าในปีนี้ตลาดรถยนต์ไทยน่าจะมีตัวเลขรถยนต์ที่จำหน่ายได้กว่า 1 ล้านคัน และหาก MG สามารถขายได้มากกว่า 50,000 คันก็จะมีส่วนแบ่งตลาดที่ราว 5% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ
“เราไม่ได้มองแค่ว่าส่วนแบ่งตลาดต้องโต แต่ภายในองค์กรเราก็ต้องมีอัตราการเติบโตด้วย เช่นเดียวกันกับการสร้างเครือข่ายดีลเลอร์รวมกว่าร้อยแห่งที่นับเป็นสินทรัพย์สำคัญของ MG รวมถึงลูกค้าที่ใช้รถยนต์ของเราแล้วมีความภาคภูมิใจในวันนี้ ซึ่งจะถือเป็นฐานรากสำคัญในอนาคต”
ขณะที่ภายในอีก 3 ปีต่อจากนี้ เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องดันยอดขายให้มากกว่า 1 แสนคันให้ได้ โดยรองกรรมการผู้จัดการ เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) เชื่อว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้แบรนด์ MG ติดตลาดได้เร็วเป็นผลมาจากการที่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีเอกลักษณ์ สเปก และฟีเจอร์การใช้งานต่างๆ ใส่มาครบถ้วน
นอกจากนี้การร่วมมือระหว่างบริษัทสัญชาติไทยอย่าง CP และบริษัทจีน SAIC Motor ในนาม บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ก็ถือเป็นอีกกุญแจความสำเร็จที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและดีลเลอร์ โดยปัจจุบัน เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) มีฐานการผลิตหลักอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดชลบุรี กำลังการผลิตอยู่ที่ 1 แสนคันต่อปี ส่วนศูนย์บริการและโชว์รูมก็มีมากกว่า 107 แห่งทั่วประเทศไทย ครอบคลุมในสัดส่วน 80% ของทั้งประเทศหรือราว 60 จังหวัด และคาดว่าภายในปีนี้จะต้องเพิ่มเป็น 130 แห่งให้ได้
ส่วนกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ ผู้บริหาร MG มองว่ารถยนต์ทุกค่ายย่อมมีปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งรถยนต์ของ MG ก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเมื่อเทียบกับรถยนต์ของแบรนด์ผู้ผลิตรายอื่นๆ พร้อมให้ความมั่นใจกับผู้บริโภคว่าทาง MG จะไม่มองข้ามทุกปัญหา และสัญญาว่าจะเร่งแก้ไขให้ไวเพื่อให้ผู้ใช้รถยนต์อุ่นใจ
“ผมเชื่อว่ารถยนต์ทุกยี่ห้อมีปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนกัน เราอาจจะถูกจับตามองมากกว่าคนอื่น เนื่องจากเป็นแบรนด์ใหม่ แต่เท่าที่ผมได้ศึกษาภาพรวมตลาด แบรนด์ MG ก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเหมือนกับแบรนด์อื่นๆ ที่สำคัญคือเราไม่ได้มีปัญหาใหญ่ๆ อาจจะมีปัญหาที่เกิดขึ้นยิบย่อยบ้าง ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของเราอยู่แล้วที่ต้องแก้ไข คงไม่สามารถบอกได้ว่าระบบ Mass Production มันจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นเลย เพียงแต่สิ่งสำคัญคือเราต้องแก้ไขปัญหาให้ไว ควบคุมคุณภาพให้ดี และดูแลลูกค้าให้ทันท่วงที นี่ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องตอบสนองความต้องการลูกค้าให้ได้”
MG X-Motion Concept รถยนต์ต้นแบบ X-Motion ของทาง MG
สำหรับกลยุทธ์ในอนาคตต่อจากนี้ยังคงให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์เป็นลำดับแรก ทั้งการแนะนำรถยนต์ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง MG eZS เข้าสู่ตลาดไทย เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นนวัตกรรมเทคโนโลยีอีกด้านของ MG ที่ก้าวกระโดดจากรถเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเดิมมาเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
รวมถึงการเปิดเซกเมนต์รถกระบะเจาะตลาดกลุ่มผู้ใช้รถกระบะในไทยที่ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดถึง 50% โดยจะนำรถของแบรนด์ในเครือ SAIC อย่าง Maxus มาจำหน่ายภายใต้แบรนด์ MG และคาดว่าจะเป็นโมเดล T60 เตรียมเปิดตัวช่วงปลายไตรมาส 3 หรือเดือนกันยายน ส่วนแบรนด์หรูในเครืออย่าง Roewe ยังไม่มีแผนทำตลาดในไทย แต่หากนำเข้ามาจำหน่ายก็จะอยู่ภายใต้แบรนด์ MG และใช้วิธีการขยับเซกเมนต์กลุ่มผลิตภัณฑ์
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์