น่าจับตาว่าทิศทางยานยนต์โลกนับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป การแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ จะเพิ่มสูงขึ้น
ในงานแสดงวิสัยทัศน์ ‘New Era New Growth for MG and Thailand Automotive Industry’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา MG ผู้เล่นคนสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ก็เตรียมรุกตลาด EV ทุ่มงบหลักพันล้านบาท เตรียมขึ้นไลน์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเช่นกัน
มร.จางไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด
และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
มร.จางไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์ MG ในประเทศไทย กล่าวถึงทิศทางยานยนต์โลกว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจนไปในทิศทางเดียวกันคือ มีการติดตั้งเทคโนโลยีเพื่อช่วยในการขับขี่ (Autonomous) เทคโนโลยีการเชื่อมต่อระหว่างคนและรถ (Connectivity) มากยิ่งขึ้น การใช้งานรถร่วมกัน (Sharing Economy) ก็ได้รับการพูดถึงมากขึ้น รวมถึงการที่โลกกำลังเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจพลังงานสะอาด (Green Economy) และให้ความสำคัญกับ Emission Standard จากการตั้งเป้าหมายของแต่ละประเทศเพื่อทำให้เกิด Zero Emission จึงทำให้อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่ง MG เองก็ได้พัฒนารถยนต์ในแนวทางที่สอดคล้องกับทิศทางยานยนต์โลกมาโดยตลอด
“หากมองกลุ่มประเทศอาเซียน อย่างประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้พลังงานแบบใหม่ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอินโดนีเซียมีการออกกฎชัดเจนว่าห้ามส่งออกวัตถุดิบแร่ที่ไว้ใช้ผลิตแบตเตอรี่ แต่จะมีการอนุมัติการสร้างโรงงานที่อินโดนีเซียแทน รวมถึงมาเลเซียเช่นกัน ในขณะที่เวียดนามได้เปรียบในส่วนของค่าแรง จึงได้มีการเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศ ดังนั้นเมื่อมีการส่งออกไปที่เวียดนามก็จะเริ่มเห็นมาตรการกีดกันทางด้านภาษีมากขึ้น” มร.จาง กล่าว
สำหรับประเทศจีน มร.จาง มองว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตรายใหม่เกิดและเติบโตในอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นแนวทางการลงทุนกำลังมาแรงสำหรับนักลงทุน และเบื้องหลังการพัฒนาที่เกิดขึ้นคือ การพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้านั่นเอง
มร.จาง กล่าวเสริมว่า “ตอนนี้เรื่องแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นประเด็นรอง แต่จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของระบบเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ระบบขับขี่อัตโนมัติ เซ็นเซอร์กี่ตัว จะเห็นได้ว่าค่ายรถยนต์ทั้งในจีนและอเมริกามีการพัฒนาเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว ดังนั้นธุรกิจรถยนต์เมืองไทยต้องไล่ให้ทัน”
MG มั่นใจศักยภาพประเทศไทย เชื่อว่าหาก ‘เทคโนโลยี’ ดี อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะเทียบชั้นอุตสาหกรรมยานยนต์โลกได้
ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ มร.จาง มองว่า จากนโยบายและจุดยืนที่ชัดเจนของภาครัฐ รวมถึงมาตรการและแนวทางสนับสนุนที่มีอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตทัดเทียมอุตสาหกรรมยานยนต์โลก และการให้ความสำคัญกับ ‘เทคโนโลยี’ จะช่วยสร้างจุดเปลี่ยนและยกระดับประเทศไทยได้
ที่ผ่านมา MG นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ๆ มาโดยตลอด เพื่อให้คนไทยได้ใช้รถที่มีระบบการเชื่อมต่ออัจฉริยะ ระบบการขับขี่อัตโนมัติที่ให้ความสะดวกสบายและความปลอดภัยกับผู้ขับขี่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ธุรกิจ Car Sharing กำลังเป็นที่จับตา รวมถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยก็เป็นที่ยอมรับและมียอดจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ถือได้ว่าประเทศไทยก้าวมาไกลทัดเทียมกับประชาคมโลกอย่างที่ MG ตั้งใจไว้
บทพิสูจน์ความสำเร็จตลอดปี 2564
ปี 2564 ถือเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนความไว้วางใจและเชื่อมั่นในแบรนด์ MG ดูจากยอดขายรวมตลอดปี 31,005 คัน หรือมีอัตราการเติบโตที่ 9.5% เมื่อเทียบกับปี 2563 ในจำนวนนี้เป็นรถพลังงานไฟฟ้า MG ZS EV และ MG EP รวมกันประมาณ 1,000 คัน ถือเป็นแบรนด์รถยนต์เพียงไม่กี่แบรนด์ที่มีตัวเลขอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น
มร.จาง เผยว่า “ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 MG เปิดตัว New MG Extender ซึ่งได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างดี และในเดือนกรกฎาคมได้เปิดตัว All NEW MG 5 รถสปอร์ตคูเป้ซีดานที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนสามารถขึ้นเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก หรือ B-Segment ภายในเวลาเพียงแค่ 2 เดือนหลังจากการเปิดตัว”
ในส่วนของกลุ่ม SUV ที่เป็นโมเดลทำตลาดหลักของ MG ในปี 2564 สามารถรั้งตำแหน่งในกลุ่มผู้นำได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้นจากกลุ่มลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กร โดยครองการเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึงกว่า 90% อีกทั้งยังสามารถดำเนินการติดตั้งสถานีชาร์จแบบเร็ว MG Super Charge ได้แล้วทั่วประเทศจำนวน 120 แห่ง
กลยุทธ์ปี 2565 รุกตลาด EV เต็มตัว เตรียมทุ่มงบหลักพันล้านบาท พร้อมตั้งเป้ายอดขายแตะ 50,000 คัน
MG คาดว่าปีนี้ตลาดรถยนต์ในประเทศจะเติบโตขึ้นโดยมียอดขายรวมอยู่ที่ 800,000-850,000 คัน เมื่อตลาดมีโอกาสโตขึ้น MG จึงไม่พลาดที่จะวางแผนพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ครอบคลุมทั้งเครื่องยนต์สันดาป รถยนต์พลังงานทางเลือก และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในผลิตภัณฑ์และการบริการ เพื่อตอบโจทย์การใช้รถของคนไทยให้ได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
“แผนการทำงานปี 2565 ล่าสุดได้มีการยกระดับเทคโนโลยี เดินหน้าก่อตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่จังหวัดชลบุรี เพื่อรองรับการผลิตและการใช้งาน ทั้งรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดในอนาคต โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2566 ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวยังเป็นไปตามข้อกำหนดการลงทุนของ BOI เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเป็นทั้งผู้ผลิตรถยนต์และแบตเตอรี่” มร.จาง กล่าว
ตอกย้ำผู้นำตลาด EV ตัวจริง พร้อมสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไทยให้แข็งแกร่ง
มร.จาง กล่าวต่อไปว่า “ในหน้าที่ของผู้ผลิตรถยนต์ในไทย MG ผลักดันร่วมกับภาครัฐด้านข้อเสนอต่างๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเดินหน้า นอกจากนี้ได้มีการร่วมกับรัฐวิสาหกิจและเอกชนสร้าง Ecosystem ในการใช้ EV อาทิ การสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จ การพัฒนากำลังคนและเทคโนโลยี รวมไปถึงการสร้างองค์ความรู้และมอบชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยนต์ไฟฟ้าให้กับสถาบันการศึกษาไว้ใช้ในการศึกษา”
MG ไม่ได้มุ่งพัฒนาแค่ผลิตภัณฑ์ แต่เป็นการลงมือทำทั้งระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าให้แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็น
- การพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้าที่หลากหลาย เพื่อให้สอดรับกับรูปแบบการใช้งาน ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของแต่ละกลุ่มลูกค้า โดยรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทุกรุ่นที่จะเปิดตัวนับจากนี้จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ V2L ที่รถยนต์สามารถจ่ายไฟฟ้าไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นได้ อีกทั้งระบบ i-SMART จะมีการอัปเกรดให้มีการพูดคุยกับผู้ใช้งานมากขึ้น เพื่อผลักดันสู่สร้าง Ecosystem ที่สมบูรณ์มากขึ้นกว่าเดิม
- การสร้างและขยายเครือข่ายสถานีชาร์จให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวก พร้อมเสริมความมั่นใจในการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า รองรับการใช้งานอย่างแพร่หลาย รวมถึงยังเป็นการปลดล็อกความกังวลเรื่องระยะทางการใช้งานต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้ง ด้วยจำนวนสถานีชาร์จนอกบ้านที่มีให้บริการตลอดเส้นทาง โดยทุกๆ 150 กิโลเมตร จะต้องมีเครือข่ายสถานีชาร์จอย่างน้อย 1 แห่ง จากปัจจุบันได้มีการติดตั้งสถานีชาร์จแบบเร็ว MG Super Charge ได้แล้วทั่วประเทศจำนวน 120 แห่ง
- การพัฒนาและการจัดการแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า MG ได้รับการอนุมัติจาก BOI ในการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ รวมถึงอยู่ในระหว่างการศึกษาและวิจัยในเรื่องของวิธีการจัดการแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว
- การเร่งสร้างความรู้พื้นฐานและความเข้าใจเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยมีแผนเข้าไปสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเตรียมความพร้อม เพื่อสร้าง Talent ในเมืองไทย ให้เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันสังคมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยให้เกิดขึ้นได้ไวมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นผู้ร่วมกำหนดมาตรฐานใหม่ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคต
“นอกจากนั้น MG ยังมีแผนสนับสนุนธุรกิจ Car Sharing เนื่องจากเริ่มมีบริษัทรถเช่า รัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน ให้ความสนใจรถยนต์ MG มากขึ้น น่าจะช่วยสร้าง Ecosystem ด้าน Sharing Economy ในไทยขึ้นมาได้” มร.จาง กล่าว
“MG มุ่งมั่นส่งมอบประสบการณ์การใช้รถที่ดียิ่งขึ้นให้กับคนไทย ผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ยุคใหม่ อันจะนำมาซึ่งการยกระดับขีดความสามารถของประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยจะมุ่งนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ด้วยการผสมผสานความลงตัวของเทคโนโลยี ความทันสมัย และคุณค่า เพื่อทลายกรอบความคิดเดิมๆ และพิสูจน์ให้เห็นว่ารถที่ดีต้องมอบประโยชน์สูงสุดให้กับผู้บริโภค และทำให้คนไทยมีทางเลือกในการเข้าถึงรถยนต์ที่มาพร้อมนวัตกรรมในราคาที่เข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น
“เพราะเรากล้าที่จะคิดและลงมือทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้สามารถเป็นไปได้ แม้เวลานี้เราจะพบกับความท้าทายด้านความต้องการของลูกค้าที่ต้องการรถยนต์ที่สามารถปรับแต่งได้มากขึ้น หรือความท้าทายด้านระบบการทำงานภายในที่ต้องปรับปรุงไปตามสถานการณ์โลก ทำให้ MG ไม่หยุดที่จะสร้างสรรค์และนำเสนอสิ่งใหม่ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ยุคใหม่ที่ทัดเทียมอุตสาหกรรมยานยนต์โลก” มร.จาง กล่าวทิ้งท้าย