×

MG จุดกระแสรถยนต์ไฟฟ้า BMW เปิดแผนบุก EV เต็มตัว สำรวจภาพรวมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทยครึ่งปีแรก 62

25.06.2019
  • LOADING...
mg-bmw-ev-market

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบ EV 100% ในประเทศไทย ถือว่ามีจำนวนที่ ‘เริ่มพอ’ จะเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้บ้างแล้ว ถ้านับเฉพาะแบรนด์ในกลุ่มตลาดกระแสหลัก ก็มีมากถึง 6 โมเดล
  • ปัญหาใหญ่ที่ทำให้รถยนต์ EV ยังไม่แพร่หลายคือ อุปสรรคด้านราคา จุดนี้เองที่ทำให้ค่ายรถยนต์เอ็มจีมองเห็นช่องว่างด้านโอกาส เปิดตัว ‘NEW MG ZS EV’ ด้วยราคาที่ถูกที่สุดในตลาด 1.19 ล้านบาท (นับเฉพาะค่ายกระแสหลัก)
  • ตัวแทนค่ายรถยนต์หลายรายเห็นตรงกันว่า รัฐบาลไทยน่าจะออกนโยบายที่ส่งเสริมระบบนิเวศของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่โฟกัสแค่ด้านใดฝ่ายหนึ่ง หรือให้ความสำคัญกับผู้ผลิตเท่านั้น

ครึ่งปีแรก 2019 นี้ ภาพรวมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยดูจะคึกคักและตื่นตัวกันมากเป็นพิเศษ ค่ายรถยนต์หลายเจ้าเริ่มทยอยเปิดตัวรถ EV ของตัวเองเข้าสู่ตลาดกันอย่างต่อเนื่อง 

 

ล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ค่ายรถยนต์เอ็มจี (MG) เพิ่งเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ‘NEW MG ZS EV’ รุ่นแรก ที่เตรียมจะวางจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ด้วยราคาจำหน่ายที่ 1,190,000 บาท ปลุกกระแสความสนใจและช่วงชิงพื้นที่สื่อในวันดังกล่าวได้อยู่หมัด

 

ช่วงเช้าของวันเดียวกัน แบรนด์รถยนต์หรูจากเยอรมนี ‘บีเอ็มดับเบิลยู (BMW)’ ก็เพิ่งเปิดแผนรุกตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเต็มตัวเช่นกัน ขณะที่ปลายปีนี้ Mine Mobility ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทยจากบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ก็เตรียมเปิดตัวรถยนต์ EV รุ่นแรกเข้าสู่ตลาดไทย สะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์ตลาดรถยนต์ในไทยที่กำลังค่อยๆ เคลื่อนมาทาง EV ได้เป็นอย่างดี

 

THE STANDARD รวบรวมความน่าสนใจที่เกิดขึ้นกับตลาดรถยนต์ EV ประเทศไทยในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา พูดคุยกับตัวแทนค่ายรถยนต์ที่ทำตลาดในเซกเมนต์นี้ พร้อมมองเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

 

ค่ายรถยนต์กระแสหลักคึกคัก เปิดตัว EV ต่อเนื่อง แต่อุปสรรคคือ ‘ราคา’

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (เดือนมิถุนายน) ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบ EV 100% ในประเทศไทย ถือว่ามีจำนวนที่ ‘เริ่มพอ’ จะเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้บ้างแล้ว ซึ่งถ้านับเฉพาะรถยนต์เซกเมนต์ EV ในตลาดกระแสหลัก ก็จะพบว่ามีถึง 6 คัน ประกอบด้วย Nissan Leaf, Hyundai IONIQ Electric, Hyundai KONA Electric SE / SEL, KIA Soul EV, NEW MG ZS EV และ BYD e6 (ทำตลาดกับ Fleet Operation กลุ่มธุรกิจองค์กรเป็นหลัก) 

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Headlightmag ที่เก็บรวบรวมข้อมูลยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2019 ที่ผ่านมาพบว่า รถยนต์ EV ที่จำหน่ายได้ในไทยในช่วงเวลาดังกล่าวมีทั้งหมดราว 46 คัน แบ่งเป็น Nissan Leaf 42 คัน และ Hyundai IONIQ Electric อีก 4 คัน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่อาจจะยังไม่สูงสักเท่าไร

 

ซึ่งปัญหาใหญ่ก็อย่างที่เราทราบกันว่า ราคารถยนต์ไฟฟ้าในวันนี้ที่ขายในไทยยังแพงทะลุ 1 ล้าน เกือบ 2 ล้านบาท แทบจะทุกคัน ถือว่าสูงเอาเรื่อง ประกอบกับความไม่มั่นใจในข้อจำกัดระยะทางการวิ่ง ความไม่พร้อมของโครงสร้างขั้นพื้นฐานในประเทศ โดยเฉพาะจำนวนสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า ทำให้ใครหลายคนเริ่มตั้งคำถามและลังเลว่า การซื้อรถยนต์ EV มาใช้ในวันนี้ จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปแค่ไหน?

 

 

ผู้สื่อข่าว THE STANDARD สอบถามข้อมูลไปยัง ชยภัค ลายสุวรรณ ผู้จัดการทั่วไปด้านสื่อสารผลิตภัณฑ์ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า ตั้งแต่ที่นิสสันเริ่มทยอยส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้า นิสสัน ลีฟ ให้ลูกค้าในไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 ปัจจุบันรถยนต์นิสสัน ลีฟถูกส่งมอบไปแล้วมากกว่า 50 คัน ถือว่าผลตอบรับค่อนข้างดี ผู้บริโภคให้ความสนใจเยอะ เพราะเชื่อถือในแบรนด์นิสสันที่ทำตลาดรถยนต์ EV มาตั้งแต่ปี 2010 และมียอดจำหน่ายนิสสัน ลีฟทั่วโลกมากกว่า 400,000 คัน

 

ที่น่าสนใจคือ ในจำนวนตัวเลข 50 คันดังกล่าว มีถึง 20% ที่เป็นลูกค้าต่างจังหวัด (ขอนแก่น 3 ราย) ถือว่าเหนือความคาดหมายจากที่แบรนด์ประเมินเอาไว้ในตอนแรกพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อมองถึงข้อจำกัดโครงสร้างขึ้นพื้นฐานภายในประเทศ อย่างจำนวนสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ในต่างจังหวัด

 

อย่างไรก็ดี ชยภัคเชื่อว่า อุปสรรคใหญ่ของรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังทำตลาดในไทยได้ไม่เต็มที่มาจาก ‘ราคาจำหน่าย’ ที่ยังสูงอยู่ รวมถึงระยะทางขับขี่ที่ผู้ใช้งานอาจจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวางแผนการเดินทางล่วงหน้าต่างออกไปจากการใช้รถยนต์เชื้อเพลิงน้ำมันแบบเดิมๆ ต้องคอยมองหาสถานีชาร์จแบตเตอรี่อยู่ตลอดเวลา

 

mg-bmw-ev-market

 

ทั้งนี้ ตัวแทนจากนิสสันประเทศไทยบอกว่า มีโอกาสไม่น้อยที่ในอนาคตข้างหน้า นิสสันจะเริ่มผลิตนิสสัน ลีฟในประเทศไทย และจะทำให้ราคาจำหน่ายถูกลงกว่าปัจจุบัน (1,990,000 บาท) แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการส่งเสริมจากภาครัฐที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจรถยนต์ EV เติบโตในไทยด้วย 

 

ที่สำคัญต้องไม่ใช่แค่ส่งเสริมฝั่งผู้ผลิตเท่านั้น แต่จะต้องให้ความสำคัญกับทุกฝ่ายเท่าๆ กัน ตั้งแต่ซัพพลายเชนผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ EV ผู้ให้บริการสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า ไปจนถึงฝั่งผู้บริโภคด้วย เพื่อเร่งให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตได้

 

จุดนี้สอดคล้องกับความเห็นของ อภิสิทธิ์ ลีนุตพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ BYD ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ที่มองว่า หากนโยบายการสนับสนุนจากภาครัฐในด้าน EV ชัดเจนกว่านี้ ก็จะช่วยให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตได้มากกว่าที่เป็นอยู่

 

สำหรับ BYD เป็นหนึ่งในผู้เล่นตลาด EV ที่มีโมเดลธุรกิจต่างจากแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าเจ้าอื่นๆ พอสมควร โดยเข้ามาเริ่มทำตลาดในไทยช่วงปลายปี 2018 ในรูปแบบ Fleet Operation จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าให้กับองค์กร เพื่อการใช้งานเชิงพาณิชย์เป็นหลัก 

 

ที่ชัดที่สุดคือ การจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น e6 ให้กับกลุ่มบริษัท อีวี โซไซตี้ จำกัด 101 คัน เพื่อให้บริการแท็กซี่ในชื่อ ‘Taxi VIP’ ที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง นอกจากนี้ก็ยังมีรถตู้ขนาดเล็ก T3 ที่ทำตลาดกับลูกค้ากลุ่มที่พักโรงแรม หรือรถโฟล์กลิฟต์ไฟฟ้าที่ใช้งานในโรงงาน เป็นต้น

 

mg-bmw-ev-market

 

อภิสิทธิ์บอกกับ THE STANDARD ว่าสาเหตุที่ทาง BYD เน้นการทำตลาดกับองค์กรธุรกิจเชิงพาณิชย์ก็เพราะเป็นกลยุทธ์เปิดตลาดที่ทาง BYD ประเทศจีนถนัด ซึ่งปัจจุบันจำนวนรถแท็กซี่ไฟฟ้า BYD วิ่งให้บริการทั่วโลกมีมากกว่า 300,000 คันแล้ว ขณะที่การทำตลาดกลุ่มรีเทลยังมีข้อกังวลในหลายจุด โดยเฉพาะประกัน และบริการหลังการขาย

 

เมื่อถามว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยตอนนี้พร้อมเปิดรับ EV มากแค่ไหน เขาเชื่อว่า อาจจะต้องใช้ระยะเวลาถึง 5 ปี กว่าที่รถยนต์ไฟฟ้าจะเริ่มทำตลาดในไทยได้จริงจัง ทำราคาให้จับต้องได้มากขึ้น

 

mg-bmw-ev-market

 

แผนกระตุ้นตลาดเอ็มจี ‘สร้างบรรทัดฐานราคารถยนต์ EV ใหม่’

การเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้า NEW MG ZS EV ของค่ายเอ็มจี ด้วยราคา 1,190,000 บาท เรียกเสียงฮือฮาจากทั้งผู้บริโภค รวมถึงผู้เล่นรายอื่นๆ ในตลาด EV ด้วยกันได้พอสมควร เพราะถ้านับเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้ากลุ่มตลาดกระแสหลักด้วยกัน วันนี้รถยนต์ EV ของเอ็มจีถือว่ามีราคาถูกที่สุดในตลาด

 

พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกกับ THE STANDARD ว่าผลตอบรับจากการเปิดตัว NEW MG ZS EV ในครั้งนี้ เมื่อวัดจากเสียงรอบตัวและกระแสบนโลกโซเชียลถือว่าน่าพอใจมาก ซึ่งถ้านับช่วงระยะ 3 วัน หลังเปิดให้สั่งจองผ่านดีลเลอร์อย่างเป็นทางการ (วันศุกร์ 21 – อาทิตย์ 23 มิถุนายน) ปัจจุบันยอดสั่งจองรถยนต์รุ่นดังกล่าวมีมากกว่า 200 คัน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

ก่อนหน้าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ผู้บริหารจากเอ็มจีเคยแง้มข้อมูลราคาของ NEW MG ZS EV ว่าจะไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เมื่อราคาที่เปิดตัวจริงถูกกว่าราคาคาดการณ์ในตอนต้นมากถึงเกือบ 300,000 บาท ไม่แปลกที่หลายคนจะเซอร์ไพรส์กับกลยุทธ์ดังกล่าวของค่ายเอ็มจี

 

พงษ์ศักดิ์เล่าต่อว่า สาเหตุที่เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) สามารถทำราคาขายได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ในเบื้องต้น นอกจากจะเข้าเงื่อนไขการยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนกับประเทศไทยแล้ว ทางบริษัทก็พยายามต่อรองกับบริษัทแม่ของเอ็มจีที่จีนด้วย เพื่อให้ได้ราคาที่น่าพอใจที่สุด ดำเนินตามแผนธุรกิจของบริษัทที่อยากให้รถยนต์ไฟฟ้าของค่ายเป็นที่ยอมรับมากขึ้นด้วยราคาที่จับต้องได้

 

mg-bmw-ev-market

 

รองกรรมการผู้จัดการเอ็มจี เซลส์ ยังบอกอีกว่า ส่ิงที่เอ็มจีพยายามจะทำในวันนี้คือ การสร้างบรรทัดฐาน ‘ด้านราคา’ ใหม่ให้กับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อจุดกระแสความสนใจให้กับตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากลุ่มกระแสหลัก ซึ่งในอนาคตถ้ามีแบรนด์ใดจะเข้ามาทำตลาดรถยนต์ EV ก็จะเห็นโมเดลที่เอ็มจีใช้ รวมถึงการปิดจุดอ่อนช่องโหว่ต่างๆ (ประกันแบตเตอรี่ 8 ปี หรือ 180,000 กม., ฟรีจุดชาร์จในบ้าน MG Home Charger พร้อมค่าติดตั้งสำหรับลูกค้า 1,000 คนแรก + ความร่วมมือกับ EA ติดตั้งสถานีชาร์จในศูนย์บริการทั่วประเทศให้ครอบคลุม)

 

มองในมุมหนึ่งถึงการยอมขายรถยนต์ไฟฟ้าของเอ็มจีในครั้งนี้ด้วยราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งหลายเจ้า อาจจะทำให้พวกเขามีกำไรน้อยลงบ้าง แต่ก็แลกมาด้วยการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับค่ายรถยนต์ที่สนใจจะเริ่มเข้ามาลุยตลาดนี้เต็มตัว แถมถ้ายังไม่มีใครสามารถทำได้ในระดับเดียวกับเอ็มจี พวกเขาก็จะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ

 

mg-bmw-ev-market

 

บีเอ็มดับเบิลยูประกาศ Mission 2025 ดันรถยนต์ไฟฟ้าขายเพิ่มอีก 25 รุ่น ปลั๊กอินไฮบริดยังมาแรง

ปล่อยให้ค่ายรถยนต์กลุ่มตลาดกระแสหลักประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่กันปาวๆ มีหรือที่แบรนด์รถยนต์หรูอย่างบีเอ็มดับเบิลยูจะยอมน้อยหน้า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ก็เพิ่งประกาศแผนธุรกิจ 2025 พร้อมตั้งเป้ารุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า xEV เต็มตัวเช่นกัน 

 

(หมายเหตุ: รถยนต์ไฟฟ้าของบีเอ็มดับเบิลยูจะเรียกรวมว่า xEV มีทั้ง BEV ที่ใช้กำลังไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ขับเคลื่อน 100% และประเภทปลั๊กอินไฮบริด PHEV ลูกผสมระหว่างรถยนต์เชื้อเพลิงน้ำมันและรถยนต์ไฟฟ้า)

 

ดร.แอนเดรียส อัลมานน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้าและบีเอ็มดับเบิลยู i บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป เปิดเผยว่า หลังจากที่บีเอ็มดับเบิลยูพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ามานานกว่า 10 ปี และเปิดตัวด้วย BMW i3 มาตั้งแต่ปี 2013 ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าของบีเอ็มดับเบิลยูและมินิ มียอดการจัดส่งรวมทั่วโลกมากกว่า 142,617 คันแล้ว พร้อมส่วนแบ่งตลาดที่ 8% ครองอันดับ 2 ร่วมกับ Tesla และ BYD เป็นรองเพียง Beijing Auto (10%) เท่านั้น 

 

โดยปี 2017 ถือเป็นปีแรกที่บีเอ็มดับเบิลยูมียอดส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าให้กับลูกค้าได้ถึงระดับ 100,000 คัน ได้สำเร็จ ขณะที่ในปี 2019 นี้ คาดการณ์ว่า จะมีรถยนต์ไฟฟ้าของบีเอ็มดับเบิลยูวิ่งบนท้องถนนไม่น้อยกว่า 500,000 คัน

 

สำหรับกลยุทธ์ 2025 บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ปจะเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 25 โมเดลภายในปี 2025 หรืออีกประมาณ 6 ปีต่อจากนี้ แบ่งเป็น BEV 12 คัน และ PHEV 13 คัน ตั้งเป้าดันส่วนแบ่งยอดขายในบริษัทเพิ่มเป็น 15-25% จากปัจจุบันที่ 5% พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีระบบ Autonomous ไร้คนขับควบคู่ไปด้วยกัน โดยในปีนี้จะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า Mini Electric เอาใจสาวกมินิอีกด้วย

 

mg-bmw-ev-market

 

เมื่อมองถึงผลิตภัณฑ์ของบีเอ็มดับเบิลยูที่ทำตลาดได้ดีมากๆ ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ‘ปลั๊กอินไฮบริด’ ยังคงเป็นรถยนต์ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก โดยมียอดขายในปี 2018 เพิ่มขึ้นถึง +122% เมื่อเทียบกับปี 2017 มีส่วนแบ่งยอดขายของรถยนต์ในบริษัททั้งหมดที่ 24%

 

ดร.แอนเดรียสบอกว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ปลั๊กอินไฮบริดของบีเอ็มดับเบิลยูดึงดูดผู้ใช้งานได้มากกว่า และประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ ก็เพราะว่าตัวรถให้ความยืดหยุ่นในแง่การใช้งานกับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก สามารถสลับใช้ได้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า แถมยังเหมาะกับประเทศที่โครงสร้างขึ้นพื้นฐานภายในยังไม่พร้อม

 

mg-bmw-ev-market

 

ไม่มีใครปฏิเสธว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ากำลังจะเข้ามาบุกตลาดไทยเต็มตัว โดยเฉพาะในอีก 2-3 ปีต่อจากนี้ ที่เราน่าจะเห็นผลิตภัณฑ์รถยนต์ EV จากค่ายรถยนต์อื่นๆ เข้ามาทำตลาดมากขึ้น และที่สำคัญมีราคาจับต้องได้ตามกลไกการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีราคาถูกลงเรื่อยๆ

 

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ภาครัฐจะต้องไม่ลืมคือ การให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบนิเวศ ไม่ใช่แค่โฟกัสเฉพาะภาคผู้ผลิตผ่านนโยบายส่งเสริมการลงทุน BOI หรือการลดภาษีสรรพสามิตบางส่วนเท่านั้น 

 

ตัวอย่างที่จีนทำแล้วประสบความสำเร็จมากๆ นอกเหนือจากการสนับสนุนผู้ผลิตคือ การส่งเสริมผู้บริโภค อนุโลมให้ผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ไม่ต้องจ่ายค่าแผ่นป้ายทะเบียนรถเพิ่มเติมเหมือนผู้ที่ซื้อรถยนต์เชื้อเพลิงทั่วไป ซึ่งราคาอยู่ที่ประมาณ 360,000-400,000 บาท (80,000-90,000 หยวน) แถมยังกระตุ้นโครงสร้างขั้นพื้นฐานด้วยการเดินหน้าสร้างสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าอย่างจริงจังไม่เว้นแม้แต่บนไฮเวย์

 

สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ตลาดจีนและผู้บริโภคเกิดความตื่นตัวกับเทคโนโลยีรถยนต์ EV พร้อมเปิดรับการใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นกรณีตัวอย่างที่รัฐบาลไทยน่าจะศึกษา แล้วนำมาถอดบทเรียน ออกนโยบายที่เหมาะกับตลาดประเทศไทย เพื่อช่วยเร่งให้รถยนต์ไฟฟ้าจับต้องได้จริงๆ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X