วันนี้ (20 กันยายน) ที่อาคารรัฐสภา กลุ่มทำทาง เครือข่ายภาคประชาชน ที่ขับเคลื่อนประเด็นยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัย เข้ายื่นหนังสือต่อพรรคก้าวไกล เพื่อเรียกร้องการทำแท้งถูกกฎหมาย และแก้ไขเพิ่มประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 ที่เกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ภายใน 12 สัปดาห์ และแก้เงื่อนไขจาก 12-20 สัปดาห์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา ที่กฎหมายผ่านไปในสภาชุดที่แล้ว โดยมี กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล รับหนังสือ
ตัวแทนกลุ่มฯ กล่าวว่า กลุ่มทำทางเป็นองค์กรภาคเครือข่ายประชาชนไม่กี่เครือข่ายที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิการทำแท้งถูกกฎหมาย ยังมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ต้องการเข้าถึงการบริการและถูกปฏิเสธการให้บริการ อีกทั้งยังถูกตีตรา และมีการตั้งคำถามว่าคุณจะมาทำไมในที่นี้ไม่มีสถานบริการ หรืออยู่ในจังหวัดที่ไม่มีที่ให้บริการ จึงทำให้จำเป็นต้องเดินทางข้ามจังหวัด เพียงเพื่อรับยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่สมควรที่จะเกิดขึ้นในประเทศที่การทำแท้งถูกกฎหมายแล้ว
นอกจากนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยังได้สนับสนุนงบประมาณให้กับคนที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ได้รับบริการฟรีที่หน่วยให้บริการ แต่ก็ยังมีโรงพยาบาลของรัฐอีกหลายแห่งที่ไม่ต้องการเข้าร่วมโครงการนี้ ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครมีเพียงโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้นที่ให้บริการ ทำให้คนที่อยู่ในกรุงเทพมหานครมีเพียงทางเลือกแค่ คุณต้องจ่ายเงิน 5,000 บาท ซึ่งคิดเป็น 15 เท่าของค่าแรงขั้นต่ำรายวัน หรือจะเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อรับบริการในจังหวัดที่ใกล้ที่สุด เราคิดว่าสถานการณ์ควรจะดีกว่านี้ได้ เพราะเรามีกฎหมาย มีงบประมาณสนับสนุน รวมถึงพรรคก้าวไกลก็มีนโยบายที่จะพยายามทำให้มีการรับยาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล แม้วันนี้พรรคก้าวไกลจะไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่เราคิดว่าสามารถสร้างความร่วมมือกันได้ที่จะผลักดันให้เกิดบริการทำแท้งปลอดภัยให้เกิดขึ้นจริงภายหลังที่มีการทำแท้งถูกกฎหมายแล้ว
ขณะที่ธัญวัจน์กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของการยุติการตั้งครรภ์ที่ยังไม่ปลอดภัย เพราะประเทศไทยนั้นยังไม่ก้าวเข้าสู่คำว่าปลอดภัยอย่างแท้จริง 1. การปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์ และปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมาย และไม่ส่งต่อสถานพยาบาล 2. กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เอื้อต่อผู้หญิงที่เข้ารับการบริการ 3. การขาดระบบกำกับดูแลควบคุมมาตรฐานเรื่องการส่งต่อผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมาย 4. สถานบริการที่ยังไม่ครอบคลุม และมีเพียงแค่ 47 จังหวัด
“สิ่งสำคัญที่สุดคือการสื่อสารว่า วันนี้เรามีผู้หญิงที่ต้องการความปลอดภัย แต่การสื่อสารของเรายังไม่มีความปลอดภัย เรายังมีการสื่อสารที่กีดกันผู้หญิงบางกลุ่มให้ไปสู่การทำแท้งที่อันตราย เราจะทำอย่างไรกันดี ดิฉันอยากจะผลักดันเรื่องนี้ และร่วมมือกับทุกพรรคการเมือง ว่านี่คือสิทธิของผู้หญิงที่จะสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ WHO ได้กำหนดออกมาแล้วว่าอายุครรภ์ 12-24 สัปดาห์ ถือเป็นสิทธิของผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ ถือเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนสมควรได้รับ” ธัญวัจน์กล่าว