×

ก้าวไกลตั้งกระทู้ถามสด เด็กใส่เครื่องแบบขายนมเปรี้ยวกลางสี่แยกได้หรือไม่ ด้าน รมว.พม. ย้ำทำไม่ได้ ประสานบริษัทนมเปรี้ยวแล้ว

โดย THE STANDARD TEAM
20.10.2023
  • LOADING...
ก้าวไกล ตั้ง กระทู้ถามสด เด็กใส่เครื่องแบบขาย 'นมเปรี้ยว' กลางสี่แยกได้หรือไม่

วานนี้ (19 ตุลาคม) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระกระทู้ถามสด ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นตั้งกระทู้ถามสด เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยมีวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ตอบแทน 

 

ณัฐวุฒิกล่าวว่า ตนตั้งใจจะถามนายกฯ เพราะนั่งเป็นประธานบอร์ดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่อย่างไรก็ตาม ในเมื่อมอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ต้องขอขอบคุณ

 

ณัฐวุฒิกล่าวว่า ตนได้ส่งคนไปดูตามสี่แยกจังหวัดต่างๆ พบว่ามีการขายที่หลากหลาย ทั้งพวงมาลัย กล้วยแขก รวมไปถึงบริการเช็ดกระจก แต่ประเด็นที่ตนกังวลที่สุดคือเรื่องการขายนมเปรี้ยวซึ่งเกิดขึ้นตามบริเวณถนนถึงสี่แยก กรณีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ดั้งเดิม แต่เพิ่งเกิดขึ้นหลังสถานการณ์โควิด ซึ่งสัมพันธ์กับความยากจน เรื่องการที่เด็กๆ จะต้องไปโรงเรียน เรื่องความปลอดภัยอื่นๆ ของผู้ใช้ถนน

 

“การกระทำที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เด็กทำด้วยตนเอง หรือมีบุคคลอื่นเป็นผู้จ้างวาน หรือให้เด็กเป็นคนกระทำ เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามว่าเราใช้แรงงานเด็ก นานาอารยประเทศเขาก็จับตาดูว่าสถานะของประเทศไทยอยู่ในเทียร์ไหน เด็กและเยาวชนสามารถขายได้หรือไม่ สามารถใส่เครื่องแบบนักเรียนมาขายได้หรือไม่” ณัฐวุฒิกล่าว

 

ณัฐวุฒิกล่าวด้วยว่า รัฐมนตรีมีลูก ตนก็มีลูกเล็ก สิ่งที่อยากให้ลูกเราได้รับคือการเข้าศึกษา แต่เด็กจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยต้องเข้าสู่การทำงานเร็ว เราจะไปตอบประเด็นเรื่องแรงงานเด็ก เรื่องการค้ามนุษย์ได้อย่างไร

 

จากนั้นวราวุธชี้แจงว่า อัตราเด็กเกิดใหม่น้อยลง ทำให้ประเทศไทยในวันนี้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ต้องเรียนว่าปัญหาที่ได้กล่าวมานั้นทราบดีว่าณัฐวุฒิทำประเด็นเรื่องเด็กและเยาวชนมานานพอสมควร ซึ่งคงทราบว่ากระทรวงรับทราบถึงปัญหาที่มีขึ้น และตนได้กำชับให้ทำงานเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในสังกัดใดต้องไปดูการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ 

 

วราวุธกล่าวว่า มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายบนพื้นที่การจราจรอยู่ 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และ พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งการเรี่ยไร-ค้าขายบนผิวจราจร ถือว่าไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ตนเองเพิ่งเข้ามาทำงาน ก็ได้กำชับกรมกิจการเด็กและเยาวชนประสานงานกับทุกหน่วยงานและบริษัทนมเปรี้ยวแล้ว เพื่อพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งบางบริษัทก็ต้องประชุม เพราะบริษัทนั้นมีแนวทางในการกระจายการขายโดยที่ไม่ได้ใช้เด็กอยู่แล้ว

 

“ต้องขอบคุณท่านสมาชิกจริงๆ ท่านณัฐวุฒิที่ถามขึ้นมา เพราะทำให้ผมสามารถกลับไปดูที่บ้านตัวเองได้เช่นกัน” วราวุธกล่าว

 

วราวุธกล่าวว่า ที่ผ่านมาทางกระทรวงได้จัดหาพื้นที่ให้กับเด็กและเยาวชนได้หารายได้เสริม 33 จังหวัด 127 แห่ง นอกจากนี้ยังได้มีบริษัทนมเปรี้ยวรายใหญ่ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังตัวแทนการขายของบริษัทตนเอง ย้ำว่าขอให้ยกเลิกการใช้เด็กและเยาวชนเป็นช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งหากฝ่าฝืนก็จะมีอยู่ในเงื่อนไขว่าบริษัทจะลงโทษโดยลดปริมาณสินค้าหรือยกเลิกตัวแทนการขาย

 

นอกจากนี้ยังมีการจัดให้ความรู้กับผู้ปกครองเรื่องกฎหมายคุ้มครองเด็ก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กถูกบังคับใช้แรงงาน หรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบทุกรูปแบบ

 

วราวุธกล่าวต่อว่า ส่วนในระยะยาวมีการเสนอให้ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ให้มีเงื่อนไขเหมาะสมตามสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น เช่น การว่าจ้างเด็ก แม้จะเป็นพ่อแม่ก็ไม่ควร หรือแม้แต่จะต้องมีการหาประโยชน์ใดๆ จากเด็กนั้น พ่อแม่เองจะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยในการเฝ้าดู ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพิจารณา

 

“จากนี้ไปแรงงานก็จะน้อยลง เป็นสิ่งที่กระทรวงพยายามสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันครอบครัว เพื่อจะได้เพิ่มปริมาณเด็กเกิดใหม่ในสังคมไทย” วราวุธกล่าว

 

วราวุธกล่าวด้วยว่า ในส่วนเรื่องร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ตนก็ยินดีหากมีการเสนอ และคิดว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีหากได้รับคำเสนอแนะจากฝ่ายค้าน เพื่อให้ พ.ร.บ.นี้สมบูรณ์ที่สุดและเร่งเสนอต่อสภาในสมัยการประชุมหน้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X