×

ก้าวไกลแถลงปิดคดียุบพรรค เปิดคำชี้แจง 9 ข้อ กกต. ยื่นยุบพรรคโดยมิชอบด้วยกฎหมาย-ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

โดย THE STANDARD TEAM
02.08.2024
  • LOADING...

วันนี้ (2 สิงหาคม) ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมแถลงชี้แจงเนื้อหาและสรุปข้อต่อสู้ในเอกสารคำแถลงปิดคดียุบพรรคก้าวไกลก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ถึงข้อต่อสู้ของพรรคก้าวไกล 9 ข้อ ดังนี้

 

  1. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการรับคำร้องคดีนี้ไว้วินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่มีมาตราใดที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองไว้อย่างชัดแจ้ง และกฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้ไปเพิ่มขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งย่อมไม่สามารถที่จะนำคำวินิจฉัยในคดีที่ 3/2567 มาเป็นบรรทัดฐานหรือเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องในคดีนี้ได้

 

  1. การยื่นคำร้องคดีนี้ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการไม่รับฟังคู่ความคดีทุกฝ่าย เพราะ กกต. ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ยุบพรรคก้าวไกลทั้งที่อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานตามกฎหมาย แสดงให้เห็นว่า กกต. มุ่งหมายที่จะยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลโดยไม่สนใจขั้นตอนตามกฎหมายกำหนด ไม่รอให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นในคำร้อง ทั้งนี้ การยื่นคำร้องในคดีดังกล่าวเป็นข้อหาที่แตกต่างจากคดีที่ 3/2567 แต่กลับไม่แสวงหาพยานหลักฐาน และไม่เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลโต้แย้งข้อกล่าวหา

 

  1. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ไม่มีผลผูกพันในการพิจารณาวินิจฉัยในคดีนี้ ข้ออ้างที่ กกต. กล่าวหาว่าล้มล้างการปกครอง หรือมีการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองนั้น ถือเป็นข้อกล่าวหาใหม่ที่ศาลไม่เคยวินิจฉัยมาก่อน การนำผลคำวินิจฉัยในคดีก่อนมาปิดปากวินิจฉัยคดีนี้จะต้องมีมาตรฐานที่เข้มข้นกว่าหรือระดับเดียวกัน ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานพิสูจน์จนสิ้นสงสัย

 

“ดังนั้นพรรคก้าวไกลขอยืนยันว่า กกต. ไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าข้อเท็จจริงตามคดี 3/2567 เป็นข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย ไม่มีเหตุที่จะรับฟังได้เป็นอย่างอื่น และมีผลผูกพันให้ตนเองต้องเสนอต่อศาล โดยที่ไม่จำเป็นต้องแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน รวมทั้งไม่จำเป็นต้องรับฟังผู้ถูกร้องอีกด้วย”

 

  1. นอกจากการเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้ว การกระทำอื่นๆ ตามคำร้อง มิได้เป็นการกระทำของพรรคก้าวไกล เนื่องจากไม่ได้เป็นมติของคณะกรรมการบริหารพรรค ทั้งกรณีที่ สส. เป็นนายประกันของผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 หรือการแสดงออกส่วนตัว พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นผู้สั่งการหรือบงการ ทั้งหมดไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองที่เป็นการเสนอโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ

 

  1. การกระทำตามที่ กกต. กล่าวหาว่าผู้ถูกร้องได้กระทำการล้มล้างการปกครอง หรือเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อพิจารณาตามสภาวะวิสัยและความเชื่อของวิญญูชนทั่วไป การกระทำที่ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยมิได้เป็นการล้มล้างการปกครองหรืออาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองแต่อย่างใด

 

ชัยธวัชยกตัวอย่างกรณีที่ สส. เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองให้สิ้นสุดลง หรือไม่ได้ใช้อำนาจแก้ไขระบอบการปกครองให้เป็นระบอบการปกครองอื่น แต่เป็นการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาผ่านกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ

 

ทั้งนี้ การเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ในการหาเสียง เป็นเพียงการนำเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ประคับประคองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้คงอยู่ต่อไปเท่านั้น

 

  1. ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรยุบพรรคก้าวไกล แม้ระบอบประชาธิปไตยบางประเทศจะสามารถยุบพรรคการเมืองได้ แต่ต้องพึงพิจารณาอย่างเคร่งครัด ระมัดระวัง และต้องเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะใช้ภายใต้หลักความพอสมควรแห่งเหตุ ไม่เช่นนั้นจะเป็นเครื่องมือการทำลายคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย สำหรับการกระทำของพรรคก้าวไกลไม่ใช่การกระทำที่รุนแรงถึงยุบพรรค และไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องสั่งยุบพรรคก้าวไกล

 

  1. แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบพรรค ก็ไม่มีอำนาจกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค ซึ่งหากจะมีการจำกัดสิทธิต้องเป็นการกระทำตามกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น

 

  1. ระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้เป็นกรรมการบริหารพรรค เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญประกอบกับหลักที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวางเอาไว้ ไม่สามารถจำกัดสิทธิหรือตัดสิทธิได้ เพราะต้องกระทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น หากศาลเห็นว่ามีอำนาจกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง แต่การกำหนดระยะเวลาดังกล่าวต้องอยู่บนหลักความพอสมควรแก่เหตุ ซึ่งไม่ควรเกิน 5 ปี ไม่ใช่ 10 ปี ตามที่ กกต. ร้องขอ

 

  1. การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งต้องเพิกถอนเฉพาะกรรมการบริหารที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเท่านั้น โดยไม่รวมกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีนี้

 

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลมิได้รู้หรือควรรู้ได้ว่าการกระทำในคดีนี้เป็นการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 92 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เนื่องจากก่อนหน้านี้ กกต. เคยวินิจฉัยยกคำร้องข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กกต. ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังเคยให้ความเห็นว่าการกระทำนี้ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งย่อมอยู่ในวิสัยที่สามารถเชื่อได้ว่าการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นตามคำร้องในคดีนี้ก็ย่อมชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน และการเพิกถอนนั้นต้องเพิกถอนเฉพาะกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด

 

ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้อ่านคำแถลงปิดคดีว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เป็นการนำองค์ประกอบที่ดูจะย้อนแย้งกัน 2 ประการ กล่าวคือ ระบอบประชาธิปไตยกับพระมหากษัตริย์ มาดำรงอยู่คู่กัน กลายเป็นระบอบการเมืองที่โดยหลักการแล้วอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐ

 

ขณะเดียวกันก็มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ซึ่งมีรูปแบบของรัฐเป็นราชอาณาจักร โดยพระองค์ไม่ทรงใช้อำนาจทางการเมืองและการปกครองด้วยพระองค์เอง ด้วยเหตุนี้องค์พระประมุขของรัฐจึงดำรงความเป็นกลางทางการเมือง มีพระราชฐานะเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ผู้ใดจะละเมิดฟ้องร้องพระองค์มิได้ การประสานสถาบันพระมหากษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยสามารถรักษาคุณค่าพื้นฐานของทั้ง 2 องค์ประกอบได้อย่างสมดุล จึงเป็นโจทย์สำคัญของการธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

แน่นอนว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในแต่ละประเทศย่อมมีลักษณะไม่เหมือนกัน และมิได้มีลักษณะหยุดนิ่งตายตัว การจัดระเบียบสังคม การออกแบบสถาบันทางการเมือง ระบบกฎหมาย วัฒนธรรม คุณค่าพื้นฐาน ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของแต่ละประเทศนั้น ย่อมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของสังคม ในประวัติศาสตร์ของเรา พระมหากษัตริย์ทรงพระปรีชาในการปรับตัวจนสามารถแผ่พระบารมีปกเกล้ามาจนถึงทุกวันนี้

 

ดังนั้นความพยายามที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีลักษณะหยุดนิ่งตายตัว แตะต้องเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ย่อมเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของเรา เพราะจะทำให้สูญเสียความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับสมดุลใหม่ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เสียโอกาสที่จะรักษาสิ่งเก่าและเชื่อมประสานกับสิ่งใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์แปลกแยกต่อกัน

 

พรรคก้าวไกลมองว่าการปกปักรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจึงไม่สามารถบรรลุได้ด้วยการใช้อำนาจกดปราบ ไม่ว่าจะเป็นการกดปราบโดยใช้กำลัง ไม่ว่าจะเป็นการกดปราบในนามของกฎหมาย มีแต่ต้องสร้างสมดุลให้ได้สัดส่วนเหมาะสมตามยุคสมัยระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ระบอบนี้มั่นคงยั่งยืนด้วยความเชื่อมั่น ศรัทธา และความยินยอมพร้อมใจของประชาชน 

 

ทว่าหลายปีที่ผ่านมาการนำประเด็นเกี่ยวกับความจงรักภักดีมากล่าวหาโจมตีกันในทางการเมือง นำไปสนับสนุนหรือเกี่ยวพันกับการรัฐประหาร ทั้งการรัฐประหารโดยกำลังทหารและโดยกฎหมาย รวมถึงการแสดงความจงรักภักดีอย่างล้นเกินเพื่ออำพรางการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนอย่างฉ้อฉลของคนบางกลุ่ม ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางการเมืองตามยุคสมัย ได้กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางการเมืองและความรู้สึกนึกคิดแบบใหม่ ซึ่งสังคมไทยในอดีตไม่คุ้นเคย

 

แต่แทนที่ผู้มีอำนาจจะตระหนักถึงความผิดพลาดในอดีต และพยายามแสวงหากุศโลบายด้วยสติและปัญญา เพื่อคลี่คลายแรงตึงเครียดในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย และสร้างฉันทมติใหม่ที่สอดคล้องกับยุคสมัย กลับเลือกที่จะใช้อำนาจกดบังคับประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในลักษณะเข้มงวดรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

 

จากสถานการณ์ดังกล่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลผู้ถูกร้องจึงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยมีเจตนาที่จะฟื้นฟูสายสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างสมดุลใหม่ที่ได้สัดส่วนระหว่างการคุ้มครองพระเกียรติยศแห่งองค์พระประมุขกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาดุลยภาพและความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทย

 

ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะดำรงอยู่อย่างมั่นคงได้มิใช่ด้วยการบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและหลักการคุณค่าพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ในทางตรงข้าม การพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะต้องโอบรับความคิดเห็นที่ดำรงอยู่หลากหลายในสังคมอย่างมีภราดรภาพ มีการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันอันเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และมีความอดทนอดกลั้นในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง

 

รวมทั้งใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยแก้ปัญหาความแตกต่างขัดแย้งในสังคมอย่างมีวุฒิภาวะ ด้วยวิถีทางการเสริมสร้างประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางภายใต้ร่มพระบารมีที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนโดยไม่แบ่งแยก จักเป็นการธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยืนยงสถาพรเยี่ยงนานาอารยประเทศ

 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising