×

ก้าวไกลตรวจผลงานรัฐบาลเศรษฐาครบ 60 วัน มองโจทย์ความยั่งยืนลดค่าไฟ-น้ำมัน นับถอยหลังเส้นตายแก้ รธน. และเลิกเกณฑ์ทหาร

โดย THE STANDARD TEAM
11.11.2023
  • LOADING...
ก้าวไกล 60 วัน รัฐบาลเศรษฐา

วานนี้ (10 พฤศจิกายน) พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล ออกมาประเมินการแถลงผลงานในรอบ 60 วันของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงค่ำคืนวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566

 

พริษฐ์ระบุว่า เศรษฐาแถลงผลงานรัฐบาลในช่วง 60 วันแรก เป็นการสรุปสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการตั้งแต่ตั้งรัฐบาลเสร็จ แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลได้ออกหลายมาตรการในลักษณะ Quick Wins ที่หวังผลระยะสั้นทันที แต่ในภาพรวมเรายังคงไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าผลงานของรัฐบาลในห้วง 60 วันที่ผ่านมา จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบและอย่างยั่งยืนตามที่ประชาชนคาดหวังได้จริงหรือไม่ 

 

“ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะทำไม่ได้หรือไม่พยายามทำ เพียงแต่ว่า 60 วันที่ผ่านมาอาจยังพิสูจน์อะไรได้ยาก เนื่องจากบทพิสูจน์ที่แท้จริงน่าจะขึ้นอยู่กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า (ธันวาคม 2566 – พฤษภาคม 2567) ที่ผมอยากชวนประชาชนทุกคนร่วมกันจับตามอง” พริษฐ์กล่าว

 

ความยั่งยืนของมาตรการลดค่าครองชีพ

 

มาตรการ Quick Wins ของรัฐบาลที่เป็นการลดค่าครองชีพ จะถูกพิสูจน์ว่ามีความยั่งยืนหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟที่ลดไปได้ด้วยการยืดหนี้ กฟผ. มีความเสี่ยงจะเด้งกลับขึ้นมาหากไม่มีการปรับโครงสร้างราคา-ตลาด

 

ส่วนค่าน้ำมันที่ลดไปได้ด้วยการลดภาษีสรรพสามิต จะเจอแรงกดดันหลายทางจากรายได้รัฐที่หายไปและราคาน้ำมันที่อยู่ในขาขึ้น หรือค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่ทำสำเร็จในสายสีม่วงกับสายสีแดง จะถูกพิสูจน์ว่าสามารถขยายไปสู่สายที่มีผู้โดยสารใช้เยอะที่สุด (เช่น สายสีเขียว) ได้หรือไม่ 

 

แจกเงินหมื่นอาจกระทบวินัยการคลัง

 

นโยบายเรือธงที่เดิมพันสูงอย่างเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะเริ่มดำเนินการและเริ่มเห็นผลลัพธ์เบื้องต้น รายละเอียดทั้งหมดของโครงการจะถูกเคาะ เช่น เงื่อนไขการใช้จ่ายของประชาชน เงื่อนไขการแปลงเป็นเงินสดของร้านค้า และเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่จะใช้ โดยหลายส่วนน่าจะรวมอยู่ในการแถลงในช่วงบ่ายของวันที่ 10 พฤศจิกายน ซึ่งจะทำให้การประเมินข้อดี-ข้อเสียของนโยบายทำได้บนข้อมูลที่ครบถ้วน 

 

ในส่วนของประโยชน์ (Benefits) หากเริ่มแจกได้จริงในไตรมาส 1 ของปี 2567 ตามที่เคยสัญญา เราจะเริ่มเห็นถึงผลกระทบเบื้องต้นต่อการใช้จ่ายและการกระตุ้นเศรษฐกิจว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ 

 

ขณะที่ในส่วนของต้นทุน (Costs) หากยังเป็นการให้ประชาชนทุกคน 10,000 บาทตามที่เคยสัญญา เราจะเห็นว่างบประมาณ 5.6 แสนล้านบาทที่ต้องใช้จะมาจากช่องทางไหน และแลกมาด้วยอะไร เช่น การปรับลดงบส่วนอื่น รวมถึงผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลัง

 

เผชิญเส้นตายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่-เกณฑ์ทหาร

 

พริษฐ์ระบุว่า นโยบายหลักด้านการเมืองจะเจอเส้นตายที่ทำให้เห็นการตัดสินใจของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ ภายในเดือนมกราคม 2567 รัฐบาลจะต้องมีข้อสรุปจากคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติฯ ว่าจะเดินหน้าต่อเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร ประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นหรือไม่ ด้วยคำถามแบบไหน และรัฐบาลคาดว่าประเทศจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายในเมื่อไร 

 

ส่วนเรื่องเกณฑ์ทหาร ภายในเดือนเมษายน 2567 เราจะเห็นว่าประเทศจะยังมีเยาวชนกี่คนที่ถูกบังคับไปเป็นทหารโดยที่ไม่อยากเป็น ซึ่งจะแปรผันตามเจตจำนงของรัฐบาลในการลดหรือเลิกการเกณฑ์ทหาร 

 

จุดยืนของรัฐบาลต่อกฎหมายที่เสนอโดยก้าวไกล

 

พริษฐ์ยังกล่าวถึงกฎหมายกว่า 30 ฉบับที่พรรคก้าวไกลเสนอ จะเรียงกันเข้าสภามาเป็นคลื่น ที่ทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะมีจุดยืนอย่างไรในหลายประเด็นที่รัฐบาลยังไม่แสดงออก เช่น จะเห็นด้วยกับร่างของก้าวไกล หรือจะเสนอร่างของ ครม. เองที่แตกต่างออกไปในรายละเอียด หรือจะไม่เห็นด้วยทั้งหมด 

 

ยกตัวอย่าง เมื่อร่างกฎหมายของก้าวไกลเข้าสภา ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจฯ, ร่าง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า, ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินรวมแปลง, ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบราชการกลาโหม เราจะเห็นทิศทางและจุดยืนของรัฐบาลที่ชัดเจนขึ้นในเรื่องต่างๆ ทั้งการกระจายอำนาจ, การป้องกันการผูกขาดทางเศรษฐกิจ, การปฏิรูประบบภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ, การสร้างรัฐที่โปร่งใสและการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และการปฏิรูปกองทัพให้อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน

 

เสถียรภาพรัฐบาลกับเอกภาพของพรรคร่วม

 

ปฏิทินการเมืองจะมีหมุดหมายสำคัญหลายเหตุการณ์ที่เป็นบทพิสูจน์เสถียรภาพและความเป็นเอกภาพระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ เหตุการณ์แรก การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในสภา ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2567 จะเป็นบทพิสูจน์ว่างบประมาณจะถูกจัดสรรให้กับนโยบายของทุกพรรคร่วมรัฐบาลอย่างเป็นธรรมและเป็นที่น่าพึงพอใจของทุกพรรคหรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขว่างบประมาณจำนวนมากต้องใช้ไปกับนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคแกนนำ

 

เหตุการณ์ที่สองคือ การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นตามมาตรา 152 ที่เป็นการซักถาม-เสนอแนะ หรือตามมาตรา 151 ที่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงก่อนปิดปีแรกของการประชุมสภา หรือเดือนเมษายน 2567 และจะเป็นครั้งแรกของรัฐบาลชุดนี้ 

 

และเหตุการณ์ที่สามคือ การหมดอายุลงของบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ในเดือนพฤษภาคม 2567 รวมถึงอำนาจ สว. ในการเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 จะทำให้เงื่อนไขสำคัญที่พรรคแกนนำเคยอ้างว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องรวมตัวกับพรรคอื่นที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองหรือจุดยืนทางนโยบายที่แตกต่างกันในอดีต หายจากสมการ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X