×

กระทรวงต่างประเทศยัน ‘ธนาธร’ ต้องขึ้นศาลทหาร ขอทูตต่างประเทศ อย่าแทรกแซงกิจการภายใน

โดย THE STANDARD TEAM
12.04.2019
  • LOADING...
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

กระทรวงการต่างประเทศออกข่าวสารนิเทศเกี่ยวกับกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจปทุมวัน โดยปรากฏภาพอัครราชทูตของประเทศที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การรับทราบข้อกล่าวหาของนายธนาธร และมีข้อสอบถามถึงการนำคดีนี้เข้าพิจารณาในศาลทหาร ดังนี้

 

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขึ้นศาลทหารของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ในช่วงต้นของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปี 2557 จนถึงวันที่ 12 กันยายน 2559

 

1. ประเทศไทยมีระบบศาลทหารมานานแล้ว เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในโลก เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และนานาประเทศในทวีปยุโรป แม้การดำเนินการอาจมีความแตกต่างอยู่บ้าง

 

ศาลทหารจึงมิใช่ศาลที่ตั้งขึ้นเพื่อมุ่งร้ายแก่บุคคลเป้าหมายเป็นพิเศษแต่อย่างใด ศาลทหารเป็นศาลที่อยู่ภายใต้ระบบศาลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

สำหรับฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรับรองไว้ในหมวด 10 ว่าด้วยศาล โดยแบ่งประเภทเป็นศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร

 

ทั้งบัญญัติด้วยว่า การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลทหารต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ทั้งต้องมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง

 

2. ในการดำเนินคดีต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งในช่วงที่มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 37/2557 และ 38/2557 การกระทำใดๆ ที่ขัดต่อประมวลกฎหมายอาญามาตราต่างๆ รวมทั้งมาตรา 116 และฐานอื่นตามมาตรา 189 ให้ถือเป็นประเภทคดีที่ต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งต่อมาคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 55/2559 ลงวันที่ 12 กันยายน 2559 ได้กำหนดให้การกระทำความผิดเหล่านี้โอนไปอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม เว้นแต่เป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันดังกล่าวให้ยังคงอยู่ ในอำนาจของศาลทหารต่อไป โดยผู้ต้องหาหรือจำเลยจะมีสิทธิมีทนายความและมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้เหมือนคดีในศาลยุติธรรมทั่วไป อย่างไรก็ตาม หากบุคคลใดที่ต้องคดีติดใจสงสัยในอำนาจศาล ก็ยังสามารถยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ซึ่งมีประธานศาลฎีกาเป็นประธานได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 192 เพื่อขอให้พิจารณาคดีในศาลยุติธรรม

 

3. กรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับพวก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 กรณีคดีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับพวกจำนวนหนึ่ง ที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 (ก่อนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 55/2559 วันที่ 12 กันยายน 2559) ด้วยข้อหากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และฐานอื่นตามมาตรา 189 จึงเข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 2  

          

ทั้งนี้ การดำเนินคดีจะเป็นไปตามกฎหมายและหลักนิติธรรม โดยผู้ต้องหาหรือจำเลยล้วนมีสิทธิได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย เป็นธรรม รวดเร็ว และปราศจากอคติทั้งปวง ภายใต้ระบบกฎหมายของประเทศที่มีมาช้านาน และได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ เช่นเดียวกับในนานาอารยประเทศทั้งหลาย

 

นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศยังได้ออกข่าวสารนิเทศอีกฉบับ ความว่า

 

ตามที่ได้มีการสอบถามจากสื่อมวลชนเรื่องการเชิญเอกอัครราชทูตของประเทศที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การรับทราบข้อกล่าวหาของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่สถานีตำรวจปทุมวัน มาพบหารือที่กระทรวงการต่างประเทศนั้น

 

ด้วยเมื่อวันที่ 10-11 เมษายน 2562 กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญเอกอัครราชทูตของประเทศที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การรับทราบข้อกล่าวหาของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2562 เข้าพบรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (รับผิดชอบภารกิจทวิภาคี) ที่กระทรวงการต่างประเทศ

 

ในการพบหารือกับเอกอัครราชทูตหรืออุปทูตรักษาการสถานเอกอัครราชทูตต่างๆ ดังกล่าว รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความผิดหวังและห่วงกังวลต่อการปรากฏตัวของผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศที่สถานีตำรวจปทุมวัน ในช่วงที่นายธนาธรไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยเฉพาะการทำให้เกิดภาพที่ถูกตีความได้ว่า เป็นการไปให้กำลังใจแก่นายธนาธร และเป็นการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในบริบททางการเมืองไทยในปัจจุบัน การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกินเลยภารกิจทางการทูต เข้าข่ายแทรกแซงกิจการภายในของไทย และละเมิดหลักปฏิบัติและพันธกรณีทางการทูต ภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 มาตรา 41

 

ดังนั้น จึงขอให้สถานเอกอัครราชทูตดำเนินการ เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก เอกอัครราชทูตและอุปทูตที่มาพบประกอบด้วย ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร เยอรมนี แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ เบลเยียม และสหภาพยุโรป

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X