วันนี้ (8 กันยายน) ธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้กล่าวหาว่ากระทรวงการต่างประเทศปฏิเสธความร่วมมือด้านวัคซีนโควิดจากมิตรประเทศ ดังนี้
- ข้อกล่าวหานี้ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด กระทรวงการต่างประเทศทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนไทยและคนต่างชาติที่อาศัยในไทยเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิดโดยเร็วที่สุด ทั้งการอำนวยความสะดวกในการจัดซื้อ การแลกเปลี่ยนวัคซีน (Vaccine Swap) หรือรับมอบความช่วยเหลือจากมิตรประเทศ
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังได้ติดตามพัฒนาการของวัคซีนโควิดจากทั่วโลก เจรจากับรัฐบาลและหน่วยงานของต่างประเทศเพื่อผลักดันความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากับประเทศที่มีศักยภาพ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนและแหล่งกระจายวัคซีนในภูมิภาค โดยได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวร และสถานกงสุลใหญ่ของไทยทั่วโลก ดำเนินการในเชิงรุกผ่านช่องทางทางการทูตทุกระดับและทุกช่องทาง
- ไทยไม่เคยปฏิเสธความร่วมมือด้านวัคซีนของมิตรประเทศ กรณีความร่วมมือกับสิงคโปร์นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์แจ้งว่า สิงคโปร์รู้สึกขอบคุณไทยที่ได้บริจาคอุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิดแบบ RT-PCR ให้ในช่วงต้นของการระบาดรุนแรงในสิงคโปร์
ดังนั้น สิงคโปร์ที่มีวัคซีนมากพอสำหรับการใช้ในประเทศแล้ว จึงประสงค์จะส่งวัคซีน AstraZeneca มาให้ประเทศไทย จำนวน 120,000 โดส ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความขอบคุณและขอรับความช่วยเหลือนี้ในรูปแบบการยืม (Swap) โดยจะส่งวัคซีนคืนให้สิงคโปร์เมื่อไทยมีวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ เช่นเดียวกับความตกลงที่ไทยได้ทำกับภูฏาน โดยเรามองว่าเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ได้คิดว่าใครจะเล็กหรือใหญ่ หรือเป็นการเสียหน้าใครแต่อย่างใด
- กรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าผู้แทนของบริษัท Moderna ไม่สามารถเข้าถึงตัวแทนทางการทูตของไทยได้นั้น ขอชี้แจงว่าทั้งกระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตไทยที่กรุงวอชิงตัน ได้รับไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์จากผู้แทนบริษัทจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์แห่งหนึ่ง ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิดของ Moderna ในประเทศไทย โดยมีข้อความแจ้งว่าโรงงานผู้ผลิตหลักของ Moderna ในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งผลิตวัคซีนให้ประเทศนอกสหรัฐอเมริกา ติดขัดบางประการ จึงทำให้เกิดความขาดแคลนและความล่าช้าในการส่งมอบวัคซีนให้แก่ประเทศต่างๆ รวมถึงไทย จึงขอให้กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตฯ เจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ ให้เลื่อนการรับมอบวัคซีน Moderna 10 ล้านโดส ที่จะได้รับในไตรมาส 3 ของปีนี้ออกไปก่อน เพื่อให้ Moderna สามารถส่งมอบวัคซีนให้แก่ไทยได้ เนื่องจากสหรัฐฯ มีวัคซีนส่วนเกินจำนวนมาก
ทั้งนี้ ผู้แทนบริษัทฯ ดังกล่าว ไม่ได้แสดงเอกสารใดๆ แม้แต่สัญญาการสั่งซื้อวัคซีนของหน่วยราชการไทยที่อ้างถึง รวมถึงรายละเอียดความต้องการวัคซีน Moderna ของภาคเอกชนไทย จำนวนวัคซีน และกรอบเวลาการส่งมอบ ตลอดจนข้อมูลท่าทีและการดำเนินการของบริษัทฯ ในการผลักดันประเด็นที่ขอให้ไทยเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงช่องทางการติดต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ของบริษัทฯ และไม่เคยมีหนังสือแจ้งความจำนงกับกระทรวงการต่างประเทศอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้หยิบยกกับผู้แทนระดับสูงของฝ่ายสหรัฐฯ เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยและความต้องการวัคซีนอย่างเร่งด่วน และมีหนังสือขอรับการสนับสนุนจากทางการสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อขอเร่งการส่งมอบวัคซีนที่ไทยสั่งซื้อ ส่วนกรณีวัคซีนส่วนเกินของมลรัฐต่างๆ และสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้รับแจ้งว่ายังไม่มีมาตรการส่งวัคซีนส่วนเกินบริจาคหรือขายต่อให้ประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ดำเนินการอย่างเต็มความสามารถในการประสานกับผู้แทนของฝ่ายสหรัฐฯ รวมถึงการพูดคุยกับสมาชิกวุฒิสภา แทมมี ดักเวิร์ธ เพื่อขอรับการสนับสนุนการส่งมอบวัคซีนที่หน่วยราชการไทยได้สั่งซื้อโดยเร็ว และผลักดันการเข้าถึงวัคซีนที่สหรัฐฯ ไม่ได้ใช้ต่อไป
- ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการเกี่ยวกับการแสวงหาความร่วมมือด้านวัคซีนป้องกันโควิด และความร่วมมืออื่นๆ แล้ว ดังนี้
4.1 จีน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือกับมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนในหลายโอกาส โดยไทยได้รับบริจาควัคซีน Sinovac จำนวน 1 ล้านโดส นอกจากนี้ จีนยังอำนวยความสะดวกและติดตามการจัดหาวัคซีนของบริษัท Sinovac และบริษัท Sinopharm เพื่อประสานงานให้การจัดซื้อและการส่งมอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
4.2 สหรัฐอเมริกา กระทรวงการต่างประเทศผลักดันความร่วมมือเพื่อเข้าถึงวัคซีนของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนของสหรัฐฯ ได้แก่ Pfizer, Moderna, Johnson & Johnson และ Novavax อย่างต่อเนื่องในทุกระดับ ทั้งในรูปแบบของการจัดซื้อ การขอรับความช่วยเหลือ และการเจรจาข้อตกลงการแลกเปลี่ยนวัคซีนล่วงหน้า (Vaccine Swap) โดยไทยได้รับบริจาควัคซีน Pfizer จำนวนกว่า 1.5 ล้านโดส เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 และฝ่ายสหรัฐฯ มีแผนที่จะมอบให้เพิ่มเติมอีก 1 ล้านโดส
4.3 ญี่ปุ่น กระทรวงการต่างประเทศทาบทามการแลกเปลี่ยนวัคซีน (Vaccine Swap) กับญี่ปุ่น และรัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งมอบวัคซีน AstraZeneca จำนวนกว่า 1,050,000 โดส ให้แก่ไทยแล้ว และบริจาคเพิ่มให้อีก 300,000 โดส โดยส่งมอบในวันที่ 8 กันยายนนี้ นอกจากนี้ ยังให้ความช่วยเหลือด้านการเฝ้าระวัง การตรวจหาเชื้อ และส่งเสริมการวิจัยยารักษาโรค รวมถึงอุปกรณ์อีกกว่า 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีแผนส่งมอบเครื่องผลิตออกซิเจนให้ไทยอีก 775 เครื่อง มูลค่า 1.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย
4.4 สหราชอาณาจักร ประเทศไทยได้ขอรับการสนับสนุนวัคซีน AstraZeneca ซึ่งสหราชอาณาจักรได้ส่งมอบวัคซีนให้จำนวน 415,000 โดส ให้แก่ไทยแล้ว
4.5 ภูฏาน รัฐบาลภูฏานกับรัฐบาลไทยได้เห็นชอบการแลกเปลี่ยนวัคซีนล่วงหน้า (Vaccine Swap) จำนวน 150,000 โดส บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ไทยและภูฏานมีร่วมกันอย่างใกล้ชิด
4.6 เยอรมนี กระทรวงการต่างประเทศกำลังประสานการรับมอบ Monoclonal Antibody (Casirivimab/Imdevimab) ซึ่งเป็นยารักษาผู้ป่วยโควิดอาการหนัก จากกระทรวงสาธารณสุขประเทศเยอรมนี ของบริษัท Regeneron จำนวน 2,000 ยูนิต โดยเร็วที่สุด เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด
4.7 สวิตเซอร์แลนด์ กระทรวงการต่างประเทศได้รับมอบเครื่องช่วยหายใจ 102 เครื่อง และชุดตรวจ Rapid Antigen จำนวน 1.1 ล้านชุด เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังอยู่ระหว่างการเจรจาความร่วมมือเพื่อการสรรหาวัคซีนจากอินเดีย เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย เพื่อสนับสนุนระบบสาธารณสุขของไทยอย่างต่อเนื่อง
- หากกระทรวงการต่างประเทศกลัวเสียหน้าที่จะรับความช่วยเหลือจากมิตรประเทศต่างๆ ตามที่ได้แจกแจงข้างต้น ความร่วมมือกับมิตรประเทศต่างๆ ที่เทมาให้ไทย คงไม่สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้
ตรงกันข้าม เจ้าหน้าที่ทุกระดับของกระทรวงการต่างประเทศได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อพยายามทุกวิถีทางให้คนทุกกลุ่มในไทยเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิดที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากคิดด้วยเหตุผลก็จะเข้าใจได้เองว่าหากประเทศไทยไม่อยู่ในสายตาของมิตรประเทศเหล่านี้ จะเป็นไปได้อย่างไรที่รัฐบาลประเทศต่างๆ จะทุ่มเทให้ความช่วยเหลือเราอย่างทันควัน นั่นก็เพราะการดำเนินการทางการทูตของไทย ทำให้ไทยได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ ทำให้ต่างชาติเห็นว่าไทยเป็นมิตร จึงเป็นห่วงเป็นใยกันและประสงค์จะช่วยเหลือเรา เพราะเราเองก็มีประโยชน์ต่อเขาเฉกเช่นเดียวกัน
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กระทรวงการต่างประเทศดำเนินนโยบายการต่างประเทศโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ประชาชนชาวไทย และความโอบอ้อมเกื้อกูลต่อมิตรประเทศโดยสมดุลและมีประสิทธิภาพ จึงทำให้มิตรประเทศเล็งเห็นถึงความสำคัญของไทยในฐานะหุ้นส่วนที่มีศักยภาพและมีความห่วงใยต่อประชาชนชาวไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระทรวงการต่างประเทศประสบความสำเร็จในการแสวงหาความร่วมมือด้านวัคซีนกับประเทศต่างๆ ทำให้มีวัคซีนให้แก่ชาวไทยรวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทยเพิ่มขึ้นโดยรวมอย่างน้อยกว่า 3 ล้านโดส จากการดำเนินการดังกล่าว
- ขออย่าด้อยค่าการทำงานของคนบัวแก้วที่ทุ่มเททำงานตลอด 24 ชั่วโมงอยู่ทั่วโลก เพื่อช่วยเหลือคนไทยและช่วยประเทศเราแก้ปัญหาเร่งด่วนอันเป็นเป้าหมายสูงสุดในการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ การกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริงนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังเป็นการให้ข้อมูลเท็จแก่ประชาชนและสร้างความเสียหายต่อทั้งข้าราชการและประชาชน ทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดได้