จากกรณีที่ทางการไทยกักตัว นายฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรน ที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย จนเกิดกระแสต่อต้านประเทศไทยในโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวางนั้น ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ออกแถลงการณ์บนเว็บไซต์ (อัปเดตเมื่อเวลา 10.28 น.) วันนี้ (6 ก.พ.) โดยระบุว่า กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาระหว่างบาห์เรนกับออสเตรเลียที่ต้องเจรจาหาทางออกกันเอง พร้อมกันนี้ยังได้ชี้แจงข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. ประเทศไทยไม่รู้จักนายฮาคีม ไม่มีอคติต่อตัวบุคคล และคงไม่ยุ่งเกี่ยวกับการมาไทยจนถูกคุมตัว หากไม่ใช่เพราะหน่วยงานอินเตอร์โพลของออสเตรเลียได้แจ้งเตือนเรื่องหมายแดงของนายฮาคีมแต่แรก ซึ่งไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอน คือให้จับเพื่อส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน นอกจากนี้ ไทยจะไม่ยุ่งเกี่ยว หากทางการบาห์เรนไม่ได้มีคำร้องขออย่างเป็นทางการจากรัฐบาล ให้จับกุมนายฮาคีม และส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน
2. ทางการออสเตรเลียใช้เวลาหลายวัน หลังจากที่นายฮาคีมเดินทางถึงไทยในการแจ้งการยกเลิกหมายแดง ซึ่งในขณะนั้น กระบวนการทางกฎหมายในไทยได้เริ่มขึ้นแล้ว และไม่สามารถย้อนกลับได้
3. ขณะนี้เรื่องได้เข้าสู่กระบวนการศาลแล้ว ในการเดินตามขั้นตอนของกฎหมาย ฝ่ายบริหารไม่สามารถแทรกแซงฝ่ายตุลาการได้ ซึ่งเป็นหลักสากล และเชื่อว่าออสเตรเลียก็ยึดถือหลักการนี้เช่นเดียวกัน
4. ขออย่าได้ด่วนสรุปว่าไทยจะส่งตัวนายฮาคีมให้กับบาห์เรน เรื่องนี้ศาลจะพิจารณาตามหลักฐานที่มีอยู่ ซึ่งมีพื้นฐานจากหมายจับ/หมายศาลของบาห์เรน เมื่อเขาหนีความผิดตามกฎหมายของประเทศบาห์เรนมา และบาห์เรนได้ขอให้คุมตัวเมื่อมาไทย พร้อมกับส่งเอกสารหลักฐานทางกฎหมายให้ฝ่ายไทย พนักงานอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าเกณฑ์ตามกฎหมายที่จะส่งฟ้องต่อศาลได้ จึงดำเนินการต่อไปแล้ว
5. ขณะเดียวกันศาลไทยพร้อมรับหลักฐานทุกชิ้นทุกชนิดที่เป็นข้อเท็จจริงและเป็นธรรมต่อนายฮาคีม ที่ทนายของนายฮาคีมจะนำส่งให้ศาลพิจารณา
6. ไม่มีส่วนใดของไทยที่จะได้ประโยชน์จากการควบคุมตัวนายฮาคีม แต่ในฐานะรัฐอธิปไตยที่มีพันธะทางกฎหมายและความถูกต้องต่อสังคมโลก ไทยพบว่า เพื่อนที่ดีของไทย 2 ประเทศ เกิดแย่งตัวบุคคลคือ นายฮาคีม ที่มาประเทศไทย ในภาวะดังกล่าว ไทยมีทางเดินอันชอบธรรมเพียงว่า (๑) ให้ความร่วมมือทางด้านกฎหมาย และ (๒) เสนอแนะให้เพื่อนที่ดีทั้งสองนี้ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกันด้วย ให้หันหน้าหารือกัน เพื่อหาทางออกในปัญหา ซึ่งเป็นของตนเองเสีย แทนการผลักดันหาทางออกทางอ้อมจากไทย ซึ่งเผอิญจับพลัดจับผลูมาอยู่ในภาพของประเด็นปัญหานี้
7. การขอให้ออสเตรเลียกับบาห์เรนคุยกัน หาทางออกร่วมกัน จึงเป็นท่าทีโดยชอบธรรมของไทย และไม่ว่าแนวทางออกร่วมกันดังกล่าวจะมาในรูปแบบใด ไทยก็ยินดีจะช่วยส่งเสริมให้เป็นจริงและบรรลุผลสัมฤทธิ์ที่เป็น Win-Win
8. ไทยหวังว่า ทั้งออสเตรเลียและบาห์เรนจะมีมิตรไมตรีที่ดีเพียงพอที่จะร่วมกันหาทางออกของเรื่องนี้ด้วยความจริงใจ หากผลลัพธ์เป็น Win-Win เชื่อได้แน่นอนว่า คนไทยและผู้คนในภาคส่วนต่างๆ ของโลกที่รับรู้เรื่องนี้ จะสรรเสริญทั้งออสเตรเลียและบาห์เรนอย่างแน่นอน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- กระทรวงการต่างประเทศ