เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (2 ก.ค.) รัฐบาลเม็กซิโกเริ่มต้นโครงการส่งตัวผู้อพยพจากภูมิภาคอเมริกากลางเดินทางกลับประเทศตามความสมัครใจ โดยสถาบันผู้อพยพแห่งชาติของเม็กซิโก (INM) ระบุว่า ผู้อพยพกลุ่มแรกที่สมัครใจกลับบ้านออกเดินทางด้วยรถบัสในช่วงเช้าของวันดังกล่าว จากเมืองซิวแดด ฮัวเรซ รัฐชีวาวา ทางตอนเหนือของเม็กซิโก
ในบรรดาผู้อพยพกลุ่มแรกทั้งหมด 69 คน มี 66 คนที่เลือกที่จะเดินทางกลับประเทศต้นทางของตน หลังจากยื่นเรื่องขอลี้ภัยในสหรัฐอเมริกา แต่โดนส่งตัวกลับมายังเม็กซิโกเพื่อรอการพิจารณาจากศาล ซึ่งส่วนใหญ่มาจากฮอนดูรัส กัวเตมาลา และเอลซัลวาดอร์
INM ยังเปิดเผยอีกว่า โครงการดังกล่าวจะขยายไปยังเมืองชายแดนต่างๆ เช่น ติฆัวนาและเม็กซิคาลิ ซึ่งเป็นสถานที่ที่สหรัฐฯ ส่งตัวผู้ขอลี้ภัยไปตามระเบียบการคุ้มครองผู้อพยพย้ายถิ่น (Migrant Protection Protocol) ซึ่งต้องการที่จะรับรองความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยที่เดินทางกลับบ้าน และเกิดขึ้นจากความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM)
ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโกระบุว่า “โครงการนี้ต้องการจะตอบสนองความต้องการของผู้อพยพที่อยากกลับไปยังประเทศบ้านเกิด โดยให้พวกเขามีอิสระในการตัดสินใจ” โดยสหรัฐฯ ได้ส่งตัวผู้อพยพจากภูมิภาคอเมริกากลางที่ยื่นขอสถานะลี้ภัยกลับมาแล้ว 16,714 ราย ผ่านระเบียบการคุ้มครองผู้อพยพย้ายถิ่น และเมืองซิวแดด ฮัวเรซ ซึ่งรองรับผู้อพยพที่ถูกส่งกลับไว้มากที่สุดขณะนี้มีผู้อพยพอยู่ประมาณ 7,706 ราย
จากการสำรวจพบว่า ร้อยละ 30 ของผู้อพยพที่ถูกส่งกลับมาเม็กซิโกมีความคิดอยากจะกลับประเทศบ้านเกิด ในระหว่างที่ต้องรอศาลพิจารณาเป็นเวลานาน การรอคอยที่ยาวนานนี้ยังกระตุ้นให้ผู้อพยพจำนวนไม่น้อยเลือกจะเสี่ยงชีวิตด้วยการพยายามข้ามแม่น้ำรีโอแกรนด์ ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติที่แบ่งระหว่างรัฐตาเมาลีปัสของเม็กซิโกและรัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง
ภาพ: Guillermo Arias / AFP / Getty Images
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- Xinhua