×

ถอดบทเรียนโอซิลอำลาเยอรมนี เมื่อเชื้อชาติและการเมืองมีอิทธิพลซ้อนทับโลกฟุตบอล

24.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. read
  • เมซุต โอซิล กองกลางตัวรุกวัย 29 ปี ประกาศอำลาทีมชาติเยอรมนีหลังถูกวิจารณ์เรื่องภาพถ่ายคู่กับ เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี และฟอร์มการเล่นในศึกฟุตบอลโลก 2018
  • ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลของเยอรมนีและตุรกีเริ่มตึงเครียด เมื่อวันที่ 15 กรกฏาคม ปี 2016 จากการปฏิวัติที่ล้มเหลวของกลุ่มทหารกลุ่มหนึ่งในตุรกี ซึ่งทางตุรกีไม่พอใจที่เยอรมนีไม่ได้ออกมาแสดงท่าทีต่อต้านการปฏิวัติ  
  • ฝั่งรัฐบาลเยอรมนีได้ออกมาประนามรัฐบาลของเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน เกี่ยวกับการกวาดล้างและจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติที่ล้มเหลว รวมถึงตุรกียังได้จับกุมนักข่าวเยอรมนีถึง 2 คนด้วยข้อหาทางการเมือง
  • ฝรั่งเศสแม้จะประสบความสำเร็จด้วยการคว้าแชมป์โลกเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ก็กลายเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างการเรียกนักเตะสองสัญชาติว่าฝรั่งเศส หรือ ฝรั่งเศส-แอฟริกัน เมื่อ เทรเวอร์ โนอาห์ หนุ่มเชื้อสายแอฟริกาใต้ พิธีกรรายการ The Daily Show ออกมาแซวทีมชาติฝรั่งเศสว่า แอฟริกาคว้าแชมป์โลก

ทุกครั้งที่ฟุตบอลโลกจบลง จะมีการประกาศอำลาทีมชาติเกิดขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางร่างกายหรือถึงวัยที่ต้องวางมือจากการรับใช้ชาติ แต่เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 22 กรกฎาคม 2018 การประกาศอำลาทีมชาติของกองกลางตัวรุกวัย 29 ปี เมซุต โอซิล ครั้งนี้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งครั้งที่การเมืองเข้ามามีอิทธิพลเหนือกีฬา

 

 

การตัดสินใจอำลาทีมชาติครั้งนี้ของโอซิลเริ่มต้นจากกระแสตอบรับในวันที่โอซิลถ่ายภาพร่วมกับ เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี ก่อนฟุตบอลโลกจะเริ่มต้นขึ้น จนทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ เนื่องจากทางรัฐบาลเยอรมนีได้ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อตัวของแอร์โดอัน ที่กวาดล้างและควบคุมตัวทหารและประชาชนหลังจากความพยายามก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลของเขาเมื่อปี 2016

 

 

โอลิเวอร์ เบียร์โฮฟฟ์ ผู้จัดการทั่วไปของทีมชาติเยอรมนี ถึงกับออกมาเผยว่า โอซิลไม่ควรติดทีมชาติเยอรมนี หากเขาไม่ออกมาอธิบายถึงภาพถ่ายดังกล่าวที่เปรียบเสมือนการนำการเมืองเข้ามาสู่กีฬา จนสุดท้ายเมื่อทีมชาติเยอรมนีตกรอบแบ่งกลุ่ม แฟนบอลหลายฝ่ายจึงเริ่มนำประเด็นนี้มาโจมตีโอซิลมากขึ้น จนสุดท้ายโอซิลก็ได้ออกแถลงการณ์ถึงภาพถ่ายดังกล่าวและตัดสินใจอำลาทีมชาติเยอรมนี  

 

“สำหรับผมแล้ว ภาพถ่ายกับ เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ไม่เกี่ยวกับการเมืองหรือการเลือกตั้ง แต่เป็นสิ่งที่เกี่ยวกับการที่ผมเคารพหน่วยงานสูงสุดในประเทศของครอบครัวผม

 

“อาชีพของผมคือนักฟุตบอล ไม่ใช่นักการเมือง และการพบกันของเราไม่ใช่การสนับสนุนนโยบายใดๆ

 

“ผมรู้สึกไม่เป็นที่ต้องการและคิดว่าความสำเร็จทั้งหมดที่ผมสะสมมาตั้งแต่ปี 2009 ได้ถูกลืมหมดแล้ว”

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีและตุรกี

หากจะมองจากมุมของผู้ที่ออกมาวิจารณ์โอซิล อาจต้องศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลของเยอรมนีและตุรกี ซึ่งเริ่มตึงเครียดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ปี 2016 กองทหารกลุ่มหนึ่งของตุรกีพยายามก่อการรัฐประหารเพื่อโค้นล้มรัฐบาลของ เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว

 

ซึ่งทางรัฐบาลของตุรกีกล่าวหาทางเยอรมนีที่ไม่ยอมออกมาแสดงออกถึงจุดยืนการต่อต้านรัฐประหารอย่างชัดเจน และไม่มีท่าทีต่อการลงโทษ เฟตุลเลาะห์ กูเลน ผู้ที่แอร์โดอันกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามรัฐประหารครั้งนั้น

 

นอกจากนี้ทางรัฐบาลเยอรมนียังได้ออกมาวิจารณ์การควบคุมตัวทหาร คณะผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยและครู ในการกวาดล้างหลังการปฏิวัติที่ล้มเหลวเมื่อปี 2016 รวมถึงยังมีการจับกุม Deniz Yucel ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์เยอรมนี Die Welt และ Mesale Tolu ผู้สื่อข่าวชาวเยอรมันในตุรกี เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2017 ในตุรกีโดยให้เหตุผลว่า พวกเขาให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้ายและเหตุผลทางการเมือง

 

ซึ่งจากระดับความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสองประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายฝ่ายเกิดความไม่พอใจที่โอซิลถ่ายภาพร่วมกับผู้นำประเทศตุรกีที่ถูกทางรัฐบาลเยอรมนีวิจารณ์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

ฝรั่งเศส-เยอรมนี สำเร็จหรือล้มเหลว เรื่องของเชื้อชาติยังคงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึง

 

Photo: Cartoonist Mahmoud Alrifai

 

แน่นอนความล้มเหลวทุกอย่าง ทุกคนจะมีวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็หาทางแก้ไข บ้างก็หาทางพัฒนา บ้างก็หาแพะรับบาป โดยอย่างสุดท้ายเป็นสิ่งเกิดขึ้นพร้อมกับอารมณ์รุนแรงมักจะนำพามาซึ่งการเหยียดเชื้อชาติในโลกของฟุตบอล เหมือนกับประโยคที่โอซิลได้กล่าวในคำแถลงการณ์

 

“ถ้าเราชนะผมคือคนเยอรมนี ถ้าเราแพ้ผมคือผู้อพยพ”   

 

ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดคำพูดแบบนี้ขึ้น โรเมลู ลูกากู ศูนย์หน้าทีมชาติเบลเยียมก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เช่นกันว่า

 

“วันที่ทุกอย่างไปได้สวย พวกเขาเรียกผมว่า โรเมลู ลูกากู ศูนย์หน้าทีมชาติเบลเยียม แต่ในวันที่สถานการณ์ไม่ดี พวกเขาเรียกผมว่า โรเมลู ลูกากู กองหน้าทีมชาติเบลเยียมเชื้อสายคองโก”

 

รวมถึง คาริม เบนเซมา ศูนย์หน้าทีมชาติฝรั่งเศสก็เคยตกเป็นเหยื่อของคำวิพากษ์วิจารณ์ที่คล้ายกัน

 

แต่ขณะเดียวกัน ท่ามกลางความสำเร็จของทีมชาติฝรั่งเศส เทรเวอร์ โนอาห์ หนุ่มเชื้อสายแอฟริกาใต้ พิธีกรรายการ The Daily Show ได้พูดแซวความสำเร็จของทีมชาติฝรั่งเศสในเทปชื่อ ‘Did Africa Just Win The World Cup? | The Daily Show With Trevor Noah’ ว่า แอฟริกาเพิ่งคว้าแชมป์โลก เนื่องจากทีมชาติฝรั่งเศสชุดแชมป์โลก 2018 เต็มไปด้วยนักเตะที่มีเชื้อสายแอฟริกา

 

 

เทปดังกล่าวส่งผลให้ Gerard Araud เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสหรัฐฯ ส่งจดหมายถึงรายการที่โจมตีมุกดังกล่าวว่าไม่เป็นความจริง

 

“เบื้องหลังของนักเตะเหล่านี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายในประเทศฝรั่งเศส

 

“ไม่เหมือนกับสหรัฐฯ ฝรั่งเศสไม่กล่าวถึงประชาชนของตัวเองจากฐานของเชื้อชาติ ศาสนา หรือต้นตระกูล

 

“การที่คุณบอกว่าพวกเขาเป็นแอฟริกาคือการปฏิเสธความเป็นฝรั่งเศสของพวกเขา

 

“รวมถึงยังเป็นการให้คุณค่ากับทัศนคติที่ว่า คนฝรั่งเศสต้องเป็นคนผิวขาวเท่านั้น”

 

 

ฝั่งเทรเวอร์เองก็ได้ออกมาตอบโต้ในทันทีว่า เขาไม่ได้ต้องการปฏิเสธความเป็นฝรั่งเศสของนักเตะเหล่านั้น เพียงแต่ต้องการเพิ่มความเป็นแอฟริกาเข้าไปด้วย

 

“วันที่ผมบอกว่าพวกเขาคือแอฟริกัน ผมไม่ได้หมายถึงว่าต้องการแยกพวกเขาออกจากความเป็นฝรั่งเศส

 

“ผมหมายถึงว่าควรจะรวมความเป็นแอฟริกันเข้าไปด้วย ผมเห็นพวกคุณเป็นพี่น้องชาวฝรั่งเศสที่มีเชื้อสายแอฟริกัน ทำไมพวกเขาจะเป็นทั้งสองอย่างไม่ได้?”

 

นอกจากนี้เทรเวอร์ยังได้กล่าวถึงความพยายามใช้เชื้อชาติเป็นเครื่องมือทางการเมืองของแอฟริกาว่า

 

“ผมมองดูนักการเมืองพูดถึงผู้อพยพชาวแอฟริกันว่าพวกเขาไม่มีงานทำ และอาจจะก่ออาชญากรรม หรือเมื่อพวกเขาประพฤติตัวไม่เหมาะสม พวกเขาถูกเรียกว่าผู้อพยพชาวแอฟริกัน แต่เมื่อลูกหลานของพวกเขาเติบโตขึ้นไปคว้าแชมป์โลกให้กับฝรั่งเศส เราควรจะเรียกพวกเขาว่าฝรั่งเศส

 

“ผมจะยกย่องพวกเขาในฐานะคนแอฟริกาต่อไป เพราะผมเชื่อว่าพวกเขาคือคนแอฟริกา พ่อแม่ของเขาคือแอฟริกา และพวกเขาสามารถเป็นได้ทั้งแอฟริกาและฝรั่งเศสในเวลาเดียวกัน

 

“และถ้าหากคนฝรั่งเศสบอกว่าพวกเขาไม่สามารถเป็นได้ทั้งสองอย่าง ผมคิดว่านั่นคือปัญหาของพวกเขา ไม่ใช่ปัญหาของผม”

 

 

สำหรับข้อถกเถียงดังกล่าวถือว่าทั้งสองฝ่ายนั้นได้มีการเรียกร้องในด้านของสิทธิในการเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคลภายในประเทศฝรั่งเศส ประเทศที่มีมติถอดคำว่า ‘เชื้อชาติ’ ออกจากกฎหมายรัฐธรรมมนูญด้วยเหตุผลที่ว่า แนวคิดเรื่องของเชื้อชาติไม่มีอยู่จริงในประเทศแห่งนี้

 

ในขณะเดียวกันเมื่อความสำเร็จของทีมชาติฝรั่งเศส ซึ่งกีฬาที่ จอร์จ ออร์เวลล์ ยกให้เป็น ‘สงครามที่แค่ไม่มีการยิงกัน’ (war minus the shooting) เนื่องจากกีฬามักถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จของประเทศ

 

 

เหมือนกับที่แฟนบอลชาวอียิปต์ภาคภูมิใจในตัวของ โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ นักเตะชื่อดังที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักกับอียิปต์มากขึ้นว่า เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้คนจากประเทศนี้ก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันในเวทีระดับโลกได้

 

การสร้างค่านิยมของประเทศจากกีฬามีมาให้เห็นตลอดจากความสำเร็จในอดีต ทั้งความสำเร็จในสนามและความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน กีฬามักถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องที่ทำให้เกิดสันติภาพและกระตุ้นให้เกิดความรักชาติมากขึ้น การลดความแบ่งแยกภายใต้ธงชาติผืนเดียวกัน

 

ระหว่างที่เยอรมนี ที่ตกรอบแบ่งกลุ่มเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1938 กำลังถกเถียงกันในเรื่องของการตัดสินใจของโอซิล ฝั่งฝรั่งเศสเองท่ามกลางการเฉลิมฉลอง เบนจามิน เมนดี ได้แก้ไขการทวีตข้อความของ SPORF ที่มีการนำเชื้อชาติของนักเตะทั้งหมด 23 คนในชุดแชมป์โลกของฝรั่งเศสมาโพสต์

 

 

เมนดีได้ตัดสินใจโพสต ์ข้อความใหม่ โดยแก้ไขให้ธงชาติทั้งหมดกลายเป็นฝรั่งเศส พร้อมกับข้อความว่า ‘แก้ไขแล้ว’

 

 

ทุกครั้งที่มีการถกเถียงในเรื่องของสิทธิต่างๆ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกฝ่ายจะเริ่มต้นมองเห็นปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ภายในแง่มุมใหม่ที่อาจจะถูกอีกฝ่ายสะท้อนให้เห็น

 

สำหรับโลกของฟุตบอลแล้ว หากจะถามว่าโอซิลตัดสินใจถูกแล้วไหมที่จะอำลาทีมชาติเนื่องจากเหตุผลที่เขาถูกกระทำจากสมาคมกีฬาฟุตบอล หลายฝ่ายได้ยอมรับว่า เป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว เพราะหากวันนี้เยอรมนีประสบความสำเร็จและป้องกันแชมป์โลกได้ เรื่องนี้คงไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง

 

 

แต่วันนี้ที่ทีมล้มเหลว การเลือกกล่าวโทษเพียงแค่นักเตะคนเดียวที่มีเชื้อชาติที่แตกต่างอาจเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมนัก โดยเฉพาะ อูลี เฮอเนสส์ ประธานสโมสรบาเยิร์น มิวนิก ที่ออกมาให้สัมภาษณ์โจมตี เมซุต โอซิล ว่าเล่นฟุตบอลได้ห่วยแตกมาตลอดหลายปี และนำเรื่องรูปถ่ายมาปิดซ่อนฟอร์มการเล่นของตัวเอง

 

 

ฟุตบอลเป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนชีวิตได้หลากหลายแง่มุม เราสามารถถอดแบบความสำเร็จของแต่ละทีมมาปรับใช้ได้กับการทำธุรกิจ สามารถนำเสน่ห์ของความสามัคคีที่เกิดขึ้นภายในสนามมาถอดแบบเรียนรู้การทำงานร่วมกัน ทั้งหมดคือตัวอย่างที่เห็นได้จากทีมชาติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นทีมที่มีอายุเฉลี่ยน้อยที่สุดในศึกฟุตบอลโลกครั้งนี้ ที่พวกเขากำลังปูทางสู่อนาคตที่สามารถอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้กีดกันกันด้วยเชื้อชาติ

 

แต่สิ่งที่สะท้อนจากบทเรียนของทีมชาติเยอรมนีในวันนี้คือ การกล่าวโทษ นักฟุตบอลเพียงคนเดียวต่อความล้มเหลวของทั้งทีมด้วยประเด็นทางการเมือง ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องไม่ว่าคุณจะนำตัวอย่างนี้ไปใช้กับเหตุการณ์ใดก็ตาม

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X