ทุกๆ วัน หลังผ่านช่วงเคอร์ฟิวในเวลา 04.00 น. กรรมกรอิสระ ช่างทั่วไป และแรงงานรับจ้างคนไทยและคนต่างด้าวจะทะยอยออกมารอคอยการจ้างงานริมตลาดกีบหมู ถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง เขตมีนบุรี ด้วยความหวังว่าพวกเขาและเธอจะสามารถนำเงินค่าจ้างที่ได้รับในแต่ละวันไปประทังชีวิต จ่ายค่าเช่าห้อง ค่าเทอมลูก
แต่หลังจากที่โควิด-19 เริ่มระบาดรุนแรงทั่วประเทศไทย ระบบเศรษฐกิจก็พลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย ส่งผลให้การจ้างงาน ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ล้วนแล้วแต่ได้รับบาดแผลเหวอะหวะ ล้มครืนกันไม่เป็นท่า ไม่ต่างจากแรงงานเหล่านี้ที่ส่วนใหญ่ไม่มีงานทำต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์แล้ว
แตง พรทิพย์ กรรมกรอิสระ วัย 51 ปี ที่พำนักในละแวกตลาดกีบหมู เปิดใจกับเราว่า เธอต้องลุกจากที่นอนตั้งแต่เวลา 05.00 น. เพื่อออกมารอคอยว่าวันนี้ เธอจะได้รับการจ้างงานหรือไม่ เนื่องจากเธอยังมีสมาชิกครอบครัวอีก 7 ชีวิตที่ต้องดูแล แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมานานเกือบ 3 ชั่วโมงแล้ว ดูเหมือนว่าวันนี้อาจจะเป็นอีกหนึ่งวันที่เธอต้องกลับบ้านมือเปล่า
“ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ลำบากมาก ลูกหลานก็ต้องมาอาศัยป้า แต่ป้าทำงานอยู่ที่นี่ก็ไม่ใช่ว่ามีรายได้ทุกวัน ถ้าไม่มีนายจ้างมาจ้างงานเรา เราก็ไม่ได้ไป บางเดือนก็ตกงานเป็นอาทิตย์ อาทิตย์กว่าๆ ก็มี อย่างตอนนี้ตกงานได้ 10 วันแล้ว ก็ยังไม่มีงานจ้างเข้ามาเลย มันไม่มีงาน ไม่มีเงิน ก็ต้องกู้ต้องยืมเขากินไปก่อน บางทีเราก็ต้องกู้รายวันกินไป ตอนนี้ก็ลำบาก”
เธอบอกกับผู้สื่อข่าว THE STANDARD ว่า ตัวเธอเองได้ลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท / 3 เดือน ในโครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ไว้แล้ว แต่ยังคงไร้วี่แววการได้รับความช่วยเหลือ โดยในกรณีของเธอนั้น ระบบแจ้งว่าอยู่ในระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูล
“ของป้าอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ ถ้าไม่ได้ก็ไม่มีที่พึ่งแล้วไง ตอนนี้ก็รอแต่เงินเยียวยาจากรัฐบาลที่จะช่วย บางวันป้าก็คิดอยากจะฆ่าตัวตายเหมือนกันนะ มันไม่มีที่ไป มันจนตรอกแล้วอะ รอเงินจากรัฐบาลที่จะมาช่วยเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 แต่มันไม่มีวี่แววเลย
“อยากจะกราบ ขอวอนรัฐบาล ทุกฝ่ายที่ช่วยเหลือคนยากคนจน ขอให้เขาได้ช่วยเหลือคนจนจริงๆ เถอะคะ ในกีบหมูไม่ใช่ว่าจะมีคนรวยมานั่งรองานหรอก ป้ามารอตั้งแต่ตี 4 จนถึง 10 โมงเช้าก็มี รอจนถึงเที่ยงก็มี ไม่ได้ไปทำงานเลย เดินกลับบ้านเหมือนคนอกหัก…ให้เขา (รัฐบาล) นั่งเครื่องบินลงมาดูเลยเนี่ย ประชาชนราษฎรลำบากไหม คนที่เขามาหางานที่กีบหมูต้องตื่นตั้งแต่เช้า ตี 4 ถ้าไม่ได้งานก็เดินกลับบ้านคอตก ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนซื้อข้าวให้ลูกให้หลานกิน”
ขณะที่ พิมจันทร์ อินอ่อน กรรมกรอิสระ วัย 41 ปี เล่าว่า ตัวเธอเองก็ลำบากไม่ต่างกัน โดยต้องกัดฟันใช้ชีวิตอย่างแร้นแค้น ไร้งานทำติดต่อกันมาเป็นวันที่ 5 แล้ว และถึงแม้จะอยากกลับไปพักใจที่ภูมิลำเนาบ้านเกิดในช่วงนี้แค่ไหน ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น
“ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เริ่มระบาด มันก็เงียบแบบนี้แหละ ก่อนจะเกิดโควิด-19 ยังพอมีงานให้ทำอยู่บ้าง แต่ถ้าโควิด-19 มันระบาดข้ามปี ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร คงต้องกลับบ้าน แต่กลับตอนนี้ก็ยังกลับไม่ได้ เขาบอกว่าไม่ให้กลับ ไปหมอชิตมา ก็ไม่ให้กลับ รถทัวร์เขาก็บอกว่ายังเดินทางไม่ได้ ก็เลยต้องอยู่กันอย่างนี้แหละค่ะ”
แม้เสียงบ่นระคนน้อยใจของทั้งแตนและพิมจันทร์ จะเป็นเพียงเสียงของคนตัวเล็กๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19 แต่ก็น่าจะสะท้อนให้เห็นถึง ‘ความลำบาก’ ที่คนไทยจำนวนไม่น้อยกำลังต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์