อย่างที่รู้กันว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจีนกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคสินค้าหรูรายใหญ่ของโลก แบรนด์ใหญ่เข้าไปจับจองพื้นที่ในใจชาวจีนมากมาย แต่ตลาดแบรนด์เนมมือสองของจีนกลับเพิ่งตั้งไข่และมีแววว่าจะเจริญเติบโตอย่างมหาศาลในอนาคต
ในประเทศผู้บริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยหลักๆ อย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น สินค้าฟุ่มเฟือยมือสองคิดเป็น 31% และ 28% ตามลำดับ ในขณะที่จีนมีเพียงแค่ 5% เท่านั้น โดยความต้องการกำลังเพิ่มสูงขึ้นจากเหล่า Gen Z ในเมืองใหญ่ที่คิดเป็น 65% ของผู้ใช้จ่ายในตลาดมือสองทั้งหมด ดันให้มูลค่ารวมของตลาดสูงถึง 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2025 จาก 8 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2020 ตามรายงานของ iResearch
ปรากฏการณ์ก้าวกระโดดเกิดขึ้นในปี 2022 เมื่อชาวจีนนำสินค้ามือสองไปขายเพิ่มขึ้น 40% เนื่องจากภาวะกดดันทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้เกิดการขยายตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยมือสองในท้องถิ่น อีกส่วนหนึ่งมาจากการโปรโมตของเหล่า KOL และความนิยมของมือสองในหมู่นักช้อปอายุน้อย จนมีผู้บริโภคแฟชั่นมือสองเพิ่มขึ้นทุกเดือน
ในปี 2020 แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสินค้ามือสอง เช่น Secoo, Hongbulin หรือ Plum และ POIZON กลายเป็นช่องทางให้นักลงทุนลงเงินหลายสิบล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ตลาดของมือสองในจีนก็ประสบปัญหาเดิมๆ ทั้งเรื่องการดำเนินงาน ค่าคอมมิชชันสูง การขนส่งล่าช้า และปัญหาการปลอมแปลง ซึ่งในโซเชียลมีเดียจีนอย่าง Xiaohongshu นั้นมีมากกว่า 20,000 โพสต์ที่วิพากษ์วิจารณ์แอปเหล่านี้ ข้อมูลจากปี 2019 ชี้ให้เห็นว่ามีสินค้าฟุ่มเฟือยเพียง 33.6% ในจีนที่ได้รับการตรวจสอบว่าเป็นของแท้
ข่าวใหญ่ในแวดวงสินค้าหรูมือสองเมื่อเร็วๆ นี้คือการควบรวมกิจการระหว่าง Zhuanzhuan และ Plum ที่อาจเปลี่ยนแปลงตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยมือสองของจีน โดยเพิ่มการตรวจสอบความถูกต้องและความต้องการสินค้าคุณภาพสูงในราคาย่อมเยา
ก่อนหน้านี้ Zhuanzhuan เป็นแพลตฟอร์มที่เน้นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มือสองเป็นหลัก ประกาศซื้อกิจการ Plum แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสินค้าหรูมือสองแบบผู้บริโภคถึงผู้บริโภค (C2C) โดยวางตำแหน่ง Plum กลายเป็นคู่แข่งแพลตฟอร์มระดับอินเตอร์อย่าง Vestiaire Collective และ The RealReal ซึ่งกำลังพยายามดึงดูดความสนใจลูกค้าในจีนแผ่นดินใหญ่
การเข้าซื้อ Plum ของ Zhuanzhuan เกิดขึ้นหลังจากลงทุนกว่า 100 ล้านดอลลาร์ในแพลตฟอร์มนี้เมื่อปี 2021 ซึ่งถือเป็นข้อตกลงที่มีมูลค่ามากที่สุดในตลาดสินค้าหรูมือสองของจีนจนถึงปัจจุบัน โดยจะผสมผสานความเชี่ยวชาญด้านการขายต่อสินค้าหรูของ Plum เข้ากับความแมสของ Zhuanzhuan
ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยมือสองของจีนยังมีความท้าทายด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้ซื้อ แม้แต่แพลตฟอร์มใหญ่ๆ อย่าง Vestiaire Collective ที่เติบโตในตลาดฮ่องกงแต่กลับประสบปัญหาในจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะผู้บริโภคในจีนชอบแบรนด์ระดับไฮเอนด์ที่มีสภาพเกือบสมบูรณ์แบบ ทำให้เป็นเรื่องยากของ Vestiaire Collective และ The RealReal ที่มักจะมีทั้งสินค้าคอลเล็กชันใหม่มือสองและของวินเทจผสมกัน อีกส่วนคือความดุเดือดของการแข่งขันเรื่องราคาที่ทำให้ผู้เล่นรายใหญ่ของโลกทำกำไรได้ไม่มากเท่าที่ควร
การควบรวมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์กระจายธุรกิจเพื่อชิงตลาดสินค้ามือสองมูลค่ากว่า 4.2 แสนล้านดอลลาร์ และรวบรวมตลาดที่กระจัดกระจายให้มีเจ้าตลาดเพียงหนึ่งเดียว โดยจะผสมผสานจุดแข็งด้านเทคโนโลยี โลจิสติกส์ และอีคอมเมิร์ซ แล้วเสริมด้วยกระบวนการตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับผู้ซื้อ
ก่อนหน้านี้กระเป๋าแบรนด์ระดับไฮเอนด์เป็นที่ต้องการในตลาดจีนในแง่การลงทุนเพราะราคามักเพิ่มขึ้นกว่าตอนซื้อมา แต่ข้อมูลล่าสุดจาก The RealReal ชี้ให้เห็นว่าความต้องการแบรนด์ดังอย่าง CHANEL, Gucci และ Louis Vuitton ในการขายต่อกำลังลดลง ขณะที่แบรนด์ราคาไม่แพงมากอย่าง Miu Miu และ Bottega Veneta กลับได้รับความนิยม สะท้อนให้เห็นผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่กำลังกระตุ้นให้ชนชั้นกลางระมัดระวังการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น
เป็นที่น่าจับตามองว่าด้วยการผสมผสานความเชี่ยวชาญของ Zhuanzhuan และ Plum ในครั้งนี้จะมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงตลาดสินค้าหรูมือสองในจีนได้อย่างไร จะสร้างสมดุลระหว่างมูลค่า ความไว้วางใจ และคุณภาพในตลาดได้หรือไม่ ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงมีอยู่
ภาพ: Westend61 / Getty Images
อ้างอิง:
- https://jingdaily.com/posts/merger-shakes-up-china-s-pre-owned-luxury-landscape
- https://jingdaily.com/posts/what-s-driving-china-s-unstoppable-secondhand-luxury-market