ในปัจจุบันการควบรวมกิจการ หรือ Mergers & Acquisitions (M&A) มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี และคาดว่าจะยังคงมีธุรกรรมควบรวมกิจการอย่างต่อเนื่องและหลากหลายในทุกภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในการดำเนินการควบรวมกิจการนั้น นอกจากจะต้องพิจารณาในด้านธุรกิจ ทางการเงิน และทางภาษีแล้ว ข้อพิจารณาทางด้านกฎหมายก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน
ในประเทศไทย การควบรวมกิจการแบ่งได้ทั้งหมดเป็น 3 รูปแบบหลักๆ คือ
1. การซื้อหุ้นของกิจการ
วิธีนี้คือการที่ผู้ซื้อเข้าไปซื้อหุ้นกิจการอีกแห่งหนึ่งทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งอาจทำได้โดยวิธีการใช้เงินซื้อ หรือใช้วิธีการแลกหุ้น (Share Swap) เช่น กรณีที่ผู้ซื้อเป็นบริษัท สามารถออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อแลกกับหุ้นเดิมที่ถือโดยผู้ถือหุ้นของกิจการก็ได้
2. การซื้อทรัพย์สินหรือซื้อกิจการ
วิธีนี้คือการที่ผู้ซื้อเข้าซื้อทรัพย์สินบางอย่าง หรือซื้อกิจการของบริษัทผู้ขาย เช่น ซื้อโรงงานหรือสายการผลิต รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้ซื้อหุ้นของกิจการ
3. การควบบริษัทตามกฎหมาย (Amalgamation)
วิธีนี้เป็นการควบรวมกิจการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 (Amalgamation) คือเป็นกรณีที่บริษัทตั้งแต่สองบริษัทขึ้นไปควบเข้ากัน เป็นผลให้บริษัทที่ควบเข้ากันนั้นหมดสภาพการเป็นนิติบุคคล และเกิดเป็นบริษัทใหม่ ซึ่งได้ไปทั้งสิทธิและบรรดาความรับผิดที่มีอยู่แก่บริษัทเดิม
แต่ละรูปแบบจะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางกฎหมาย ประเด็นทางภาษี หรือความต้องการทางธุรกิจ ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายต้องนำมาพิจารณาเพื่อตัดสินใจดำเนินการ และเมื่อพิจารณารูปแบบของการควบรวมกิจการแล้ว ที่ต้องพิจารณาต่อไปคือขั้นตอนการดำเนินการ โดยหลักกระบวนการที่สำคัญจะแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 – ช่วงการวางแผนและการวางโครงสร้างธุรกรรม (Structuring / Pre-deal Arrangement)
ในช่วงนี้ผู้ซื้อและผู้ขายจะวางแผนการ รวมถึงวางโครงสร้างสำหรับการเข้าทำธุรกรรม ซึ่งการซื้อขายอาจใช้วิธีเปิดประมูล (Bidding Process) หรือการเจรจาเป็นรายๆ (Bilateral Process) ในช่วงนี้เอกสารทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องอาจจะมีการทำสัญญารักษาความลับ หรือในบางกรณีอาจมีข้อกำหนดเรื่อง Exclusivity เช่น กำหนดให้ฝ่ายผู้ขายต้องให้สิทธิฝ่ายผู้ซื้อแต่เพียงผู้เดียวในการเข้าเจรจาทำธุรกรรม เป็นต้น
ระยะที่ 2 – ช่วงการตรวจสอบสถานะของกิจการ (Due Diligence)
ช่วงนี้จะเป็นการดำเนินการเพื่อประเมินความเสี่ยงทางด้านการลงทุนของผู้ซื้อ โดยผลที่ได้จากการตรวจสอบสถานะของกิจการ จะนำไปสู่การกำหนดราคาซื้อขาย การวางโครงสร้างธุรกรรมที่เหมาะสม และการกำหนดเงื่อนไขและข้อตกลงอื่นๆ ในสัญญาซื้อขาย ซึ่งสำหรับการตรวจสอบสถานะของกิจการในด้านการกฎหมาย (Legal Due Diligence) หลักๆ จะครอบคลุมเรื่องดังต่อไปนี้
- เอกสารที่เกี่ยวข้องกับองค์กรธุรกิจ หรือเอกสารสำคัญทางทะเบียนของบริษัท (Corporate Organization Matters)
- ทรัพย์สินของบริษัท (Assets)
- ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Properties)
- การดำเนินธุรกิจตามกฎหมาย (Regulatory Compliance)
- ลูกจ้าง (Labor)
- ประกันภัย (Insurance)
- สัญญาที่สำคัญ (Significant Contracts) และ
- คดีความ (Litigation)
ระยะที่ 3 – ช่วงการเจรจาและเข้าทำสัญญา (Transaction Documents)
ในช่วงนี้ผู้ซื้อและผู้ขายจะเข้าเจรจาเพื่อทำสัญญาที่เกี่ยวข้อง โดยสัญญาที่สำคัญสำหรับการควบรวมกิจการ คือ
- สัญญาซื้อขาย เช่น สัญญาซื้อขายหุ้น (Share Purchase Agreement) หรือสัญญาซื้อขายทรัพย์สินหรือกิจการ (Asset or Business Purchase Agreement) เพื่อกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับการซื้อขาย รวมถึงเงื่อนไขก่อนการซื้อขายที่ต้องดำเนินการ (Conditions Precedent) ราคาซื้อขาย (Pricing) คำรับรองและคำยืนยันของคู่สัญญา (Representations and Warranties) และข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น (Shareholders’ Agreement) เช่น ในกรณีที่ผู้ขายขายหุ้นบางส่วน จึงอาจมีการทำสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นกับผู้ซื้อ เพื่อวางข้อกำหนดเกี่ยวกับการบริหารจัดการกิจการ หรือจัดการเกี่ยวกับหุ้นในกิจการ
- สัญญาอื่นๆ (Ancillary Agreement) เช่น สัญญาว่าจ้างผู้บริหาร สัญญาเช่าที่ดิน และสัญญาให้สิทธิการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา
ระยะที่ 4 – ช่วงการดำเนินการทำธุรกรรมซื้อขาย (Closing)
เมื่อผู้ซื้อและผู้ขายตกลงเข้าทำสัญญาซื้อขายแล้ว แต่ละฝ่ายจะมีหน้าที่ไปดำเนินการตามที่สัญญากำหนด และเมื่อเงื่อนไขต่างๆ ครบถ้วน ก็จะเข้าสู่กระบวนการซื้อขาย โดยในส่วนนี้ ฝ่ายผู้ซื้อจะมีหน้าที่ชำระเงิน และฝ่ายผู้ขายจะมีหน้าที่ส่งมอบหุ้น หรือทรัพย์สินตามที่กำหนด และหากมีการจดทะเบียนต่างๆ ฝ่ายที่มีหน้าที่ก็จะต้องไปดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การดำเนินการ Closing ควรมีการทำเช็กลิสต์ที่ครอบคลุมการดำเนินการที่เกี่ยวข้องตามข้อกำหนดต่างๆ ของสัญญา เพื่อให้การ Closing สามารถดำเนินไปได้อย่างไม่มีข้อติดขัด
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นทางกฎหมายอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึง ซึ่งอาจต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป เช่น หากในกรณีที่ผู้ซื้อ ผู้ขาย หรือตัวกิจการเอง เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะต้องมีการพิจารณากฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายหลักทรัพย์และกฎหมายบริษัทมหาชน หรือหากอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ เช่น เป็นธนาคารพาณิชย์ เป็นบริษัทประกัน หรือเป็นบริษัทหลักทรัพย์ กฎหมายและกฎเกณฑ์เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้นๆ ก็ต้องนำมาพิจารณาด้วยเช่นเดียวกัน
บทสรุป
ในการควบรวมกิจการ มีประเด็นทางกฎหมายที่จะต้องพิจารณามากมาย ซึ่งต้องคำนึงถึงตั้งแต่เริ่มต้นการทำธุรกรรมไปจนถึงการดำเนินการซื้อขาย ในบางครั้งอาจต้องคำนึงไปถึงข้อปฏิบัติหลังการซื้อขาย ดังนั้น ประเด็นเหล่านี้จึงควรต้องมีการพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน ร่วมกับประเด็นทางด้านการเงิน ทางภาษี และทางธุรกิจ และกำหนดไว้ในข้อสัญญา เพื่อให้การดำเนินการสามารถเป็นไปได้อย่างเรียบร้อยตามความประสงค์ของคู่สัญญา
เกี่ยวกับทีม Integrated Due Diligence ของเคพีเอ็มจี ประเทศไทย
ทีมงาน Integrated Due Diligence ของเคพีเอ็มจี ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญหลากสาขาวิชาชีพ ซึ่งให้บริการที่ตรงและครอบคลุมทุกความต้องการด้านการตรวจสอบสถานะของกิจการ (Due Diligence) ด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพของทีมที่มีทักษะอันหลากหลาย โดยมีการตรวจสอบสถานะทางการเงิน ภาษี และกฎหมาย เป็นหัวใจหลัก และยังมีทีมงานที่สามารถให้บริการสำหรับธุรกรรมของท่าน ทั้งที่เกี่ยวกับทางด้านความเสี่ยงและราคา ภายใต้ความเข้าใจในความสำคัญของการสร้างมูลค่าผ่านกลไกทั้งหมดที่ได้กล่าวมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 8 หุ้นเนื้อทอง เซียนหุ้น รุมตอม ร่วมลงทุนติดอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่
- อัปเดต 7 หุ้น พอร์ต เซียนฮง สถาพร งามเรืองพงศ์ มูลค่า 6.14 พันล้านบาท
- 10 หุ้น ขึ้น XD จ่ายเงินปันผลสูงสุดในรอบเดือน ก.ย. 65
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP